เกษียร เตชะพีระ | ดุษฎีนิพนธ์ที่เหมือน “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ที่มีเชิงอรรถ (3)

เกษียร เตชะพีระ

ดุษฎีนิพนธ์ที่เหมือน “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ที่มีเชิงอรรถ (3)

ด้วยแนวคิดใหม่ๆ ที่คุณอาสาคิดประดิษฐ์ขึ้นและประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ในดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ.2495-2535” (ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2462) ทำให้เขาสามารถวิเคราะห์เข้าใจสัมพันธภาพและปฏิสัมพันธ์ของบุคคล กลุ่มฝ่ายและสถาบันต่างๆ ในเครือข่ายในหลวงสมัยรัชกาลที่ 9 ได้อย่างยืดหยุ่นอ่อนไหวพลิกแพลงแนบเนื่องกับความเป็นจริงอันสลับซับซ้อนและมีพลวัต

ทำให้เห็นได้ว่า บุคคล กลุ่มฝ่ายและสถาบันต่างๆ ในเครือข่าย ต่างก็มีโครงการทางการเมือง (political projects) เฉพาะของตนเองในแง่เป้าประสงค์ อำนาจตำแหน่ง ผลประโยชน์ ฯลฯ ที่มุ่งหวัง

การมาเชื่อมประสานและร่วมมือกันในเครือข่ายจึงเป็นไปอย่างอิสระโดยสัมพัทธ์ (relative autonomy) เท่าที่โครงการทางการเมืองของตนสอดคล้องไปกันได้กับโครงการทางการเมืองหลักของเครือข่ายและโครงการทางการเมืองของฝ่ายอื่นๆ ในสถานการณ์หนึ่งๆ มิได้เป็นการสังกัดขึ้นต่ออย่างแน่นอนตายตัว

อีกทั้งแบบแผนสัมพันธภาพทางอำนาจในเครือข่ายก็ใช่ว่าจะสถาปนาตรึงตราไว้ได้คงที่ถาวร หากผันแปรสลับสับเปลี่ยนกันได้ แล้วแต่ดุลอำนาจที่เป็นจริงของแต่ละฝ่ายในภาวการณ์หนึ่งๆ ว่าบุคคล กลุ่มฝ่ายและสถาบันใดจะขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ (senior partnership)

และใครจะตกเป็นรองในเครือข่าย

โดยที่แบบวิถีการดำเนินความสัมพันธ์และการธำรงรักษาอำนาจของชนชั้นนำไทยโดยรวมขึ้นอยู่กับและผันแปรไปตามสิ่งที่คุณอาสาเรียกว่า ฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำไทย (Thai elite consensus) ที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว (พ.ศ.2495-2535) ซึ่งประกอบไปด้วย :

– ความเห็นพ้องในจุดยืนที่พึงอยู่ตรงข้ามกับโลกคอมมิวนิสต์

– สมาทานยอมรับแนวคิดการพัฒนาของโลกเสรีตะวันตก

– การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา และ

– การแบ่งสันและไม่ควบรวมอำนาจของผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต่อปริมณฑลทางอำนาจของผู้อื่น/กลุ่มอื่น หากว่ามีการแบ่งสรรกันลงตัวในระดับหนึ่งแล้ว (อ้างจากสไลด์นำเสนอของคุณอาสา 15 พฤศจิกายน 2562)

โดยเฉพาะข้อสุดท้ายซึ่งอาจพูดง่ายๆ ได้ว่าคือธรรมเนียม “แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ เขตใครเขตมัน ไม่เหมารวมกินรวบผูกขาดคนเดียว” เป็นข้อต้องห้าม (taboo) ที่ถือสากันในหมู่ชนชั้นนำไทย หากใครฝ่ายใดไปละเมิดเข้า ก็มักถูกชนชั้นนำกลุ่มฝ่ายอื่นๆ รวมกันคัดค้านต่อต้าน จนสิ้นอำนาจไปในที่สุด นับตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พันเอกณรงค์ มาจนถึงนายกฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

จนมาถึงสมัยนายกฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งวางตัวและดำเนินงานการเมืองอยู่ในกรอบฉันทมติข้อนี้ ไม่ล่วงล้ำก้ำเกิน จึงทำให้สามารถผสานชนชั้นนำฝ่ายต่างๆ ทั้งภาคทหาร ข้าราชการ เทคโนแครต ธุรกิจ ฯลฯ เข้าด้วยกันได้และครองอำนาจได้ค่อนข้างยาวนาน (พ.ศ.2523-2531)

(ดูภาพสไลด์ประกอบของคุณอาสา 15 พฤศจิกายน 2562)

แน่นอน ข้อที่ควรคำนึงถึงในทัศนมิติทางประวัติศาสตร์ (historical perspective) ก็คือฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำไทยคงไม่หยุดนิ่งแน่นอนตายตัวไปตลอด หากวิวัฒน์คลี่คลายขยายตัวไปได้ตามสภาพการณ์ทางสังคมการเมืองแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในและนอกประเทศ

ดังที่เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มหันเหออกห่างจากพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น และเอนเอียงเข้าหาสาธารณรัฐประชาชนจีนยิ่งขึ้นตามลำดับ (Kasian Tejapira, “The Sino-Thais” right turn towards China”, Critical Asian Studies, 49:4 (2017), 606-618, https://www.researchgate.net/publication/320214918_The_Sino-Thais”_right_turn_towards_China)

หรือเหตุการณ์ยิ่งใหญ่อย่างการลุกฮือของมวลชนที่นำไปสู่การโค่นเผด็จการทหารเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 อันเป็นสัญญาณที่สังคมไทยหลุดพ้นจากการเมืองที่ผูกขาดโดยชนชั้นนำล้วนๆ (elite politics) เข้าสู่การเมืองที่มวลชนเข้าร่วมด้วย (mass politics) แล้วนั้น (ดู เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน, บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม, 2559, สนพ.มติชน)

เป็นไปได้หรือที่มันจะไม่ส่งผลสะเทือนให้ชนชั้นนำต้องปรับแต่งแก้ไขเพิ่มเติมฉันทามติในหมู่พวกเขาไปบ้าง อย่างน้อยก็เพื่อจัดการรับมือขบวนการมวลชนซึ่งบุกทะลวงเข้าสู่แวดวงเวทีการเมืองที่พวกเขาผูกขาดมาแต่เดิมโดยไม่ได้รับเชิญ?

ดังที่ผมจำได้เลาๆ ว่าอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ และ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้วิเคราะห์สืบต่อในประเด็นเกี่ยวเนื่องกัน (ในดุษฎีนิพนธ์เรื่อง Prajak Kongkirati, “Bosses, Bullets and Ballots : Electoral Violence and Democracy in Thailand, 1975-2011”, unpublished Ph.D. thesis, Department of Political and Social Change, School of International, Political and Strategic Studies, The Australian National University, 2013, p. 102) ซึ่งพอประมวลสรุปได้ว่าวิธีการที่ชนชั้นนำไทยใช้จัดการรับมือการเมืองของมวลชนในช่วง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และสงครามประชาชนในชนบทต่อมาก็คือ :

“เอามวลชนจัดตั้งออกจากท้องถนน ผลักดันพวกเขาเข้าสู่คูหาเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎรในฐานะปัจเจกอะตอมไร้สังกัด แล้วประกันไม่ให้มีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายสังคมนิยมหรือพรรคลัทธิถอนรากถอนโคนในสภา”

(ข้อคิดข้างต้นของผมนี้ค่อนข้างสอดรับกับข้อวิเคราะห์ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน “ลัทธิถอนรากถอนโคนแบบไทย,” 10 กรกฎาคม 2562, https://www.matichonweekly.com/column/article_209131)

และหากคิดล่วงเลยพ้นปี พ.ศ.2535 อันเป็นขอบเขตของดุษฎีนิพนธ์ออกไป ก็อาจเห็นได้ว่าฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทยได้เพิ่มข้อที่ว่า “ชนชั้นนำไทยทยอยเกิดเพิ่มขึ้นและแบ่งสันปันส่วนเขตอำนาจและผลประโยชน์อยู่ร่วมกันได้หลายๆ กลุ่มตามสภาพเศรษฐกิจสังคมที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไป โดยทุกกลุ่มยอมตนอยู่ใต้พระบรมราชูปถัมภ์” (elite pluralism under royal patronage)

อันเป็นฉันทามติที่ถูกท้าทายล่วงล้ำโดยระบอบทักษิณ