เพราะผู้มีอำนาจต้องการดิ้นรนให้พ้นการตรวจสอบ ?

“สิ้นศรัทธา” คือยอมจำนน

คําประกาศของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่เรียกกันย่อๆ ว่า “คสช.” ที่เป็นเหตุผลจะต้องอยู่ต่อ โดยทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจไว้ ถึงขนาดต้องวาง “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ให้สามารถจัดการประเทศได้ต่อเนื่องคือ “สร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน”

เป้าหมาย “ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” ย่อมดูสวยหรู และชวนเคลิ้ม

“ประชาธิปไตย” ในความหมายสากลที่ว่า “อำนาจของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

ความยั่งยืนของประชาธิปไตยในความหมายสากลนี้ จะเกิดขึ้นได้ต้องเน้นที่การทำให้ประชาชนเกิดความศรัทธาในกลไกที่ยึดโยงกับอำนาจประชาชน

ในความหมายของ “กลไกที่ยึดโยงกับอำนาจประชาชน” หากมองผ่านโครงสร้างการเมืองไทยในปัจจุบันขณะ โดยส่องไปที่ 3 อำนาจอธิปไตยตามหลักการของการ “คานอำนาจ” คือ “บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ”

จะพบว่ามีเพียงอำนาจอธิปไตยเดียวที่มีร่องรอยของการ “โยงกับอำนาจประชาชน” นั่นคือ “นิติบัญญัติ”

ทว่ายังเป็นร่องรอยในบางส่วนเท่านั้น เพราะ “รัฐสภา” อันเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัตินั้น มีเพียง “สภาผู้แทนราษฎร” เท่านั้นที่ประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในฐานะผู้ที่ใช้สิทธิเลือก ส.ส.เข้ามา สำหรับ “วุฒิสภา” ที่เป็นอีกส่วนประกอบหนึ่งในความเป็นรัฐสภานั้นไม่เกี่ยวกับประชาชน เพราะล้วนมาจากการแต่งตั้งของคนกลุ่มเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น แม้กระทั่ง “สภาผู้แทนราษฎร” การทำหน้าที่ยังอยู่ในข้อจำกัดมากมาย ด้วยกติกาไม่ว่าจะเป็น “รัฐธรรมนูญ” และ “กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งใช้อำนาจเขียนกำหนดขึ้นมาเพื่อบังคับควบคุมไว้

มีความพยายามที่จะให้เชื่อว่าที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะเป็นวิธีที่จะ “สร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้”

เป็นเหตุผลที่ว่า “การบังคับควบคุมไว้ จะทำให้การจัดการเป็นไปอย่างเรียบร้อยได้ง่ายกว่าปล่อยให้พัฒนาไปตามยถากรรม”

นั่นเป็นเหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้าง

สำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง มีการสร้างความปั่นป่วน ไร้กติกามารยาท การทำหน้าที่ของ ส.ส.ถูกทำให้เต็มไปด้วยพฤติกรรมที่ชวนคลื่นเหียนอาเจียนในความรู้สึกของประชาชน

เกิด “งูเห่า” ตามข่าวลือเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนในระดับสภาใหญ่

การใช้ “ส.ส.” ไปเล่นเกมป่วนในกรรมาธิการ

ซึ่งล้วนแต่ถูกครหาว่าเป็นเพราะผู้มีอำนาจต้องการดิ้นรนให้พ้นการตรวจสอบ

ความน่าคลื่นเหียนอาเจียนในพฤติกรรมของ ส.ส.เป็นการทำลายศรัทธาในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะส่งต่อความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้สวนทางกับ “การสร้างประชาธิปไทยที่ยั่งยืน” ซึ่งหากจะทำให้เกิดขึ้น ต้องสร้างให้ประชาชนศรัทธาในกลไกที่ยึดโยงกับอำนาจของตัวเอง

ผลของเกมให้ประชาชนสิ้นศรัทธาต่อ “ผู้แทนอำนาจของตัวเอง” นี้สะท้อนมาในผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “ปัญหาในกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร”

ประชาชนร้อยละ 51.71 ตอบว่า “น่าเบื่อ ควรหยุดทะเลาะกัน และหันมาทำงานให้ประชาชนได้แล้ว” เมื่อถูกถามว่า มีความคิดอย่างไรกับความขัดแย้งในกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร

เป็นปฏิบัติการที่ก่อภาพลักษณ์อันเลวร้ายให้กับกลไกอันโยงกับอำนาจประชาชนเพียงหนึ่งเดียวอย่างได้ผล

“ประชาธิปไตย” ที่ถูกกระทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายกับกลไกที่ตัวเองเลือกเข้ามาเช่นนี้ อย่าว่าแต่จะ “ยั่งยืน” กระทั่งดำรงอยู่ยังยากเย็น

และนั่นหมายถึง “อำนาจที่ไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชน” จะได้รับความชอบธรรมมากขึ้น

การส่องไปให้ลึกว่า “อำนาจที่ถูกสร้างมาด้วยกลไกผูกขาด” เช่นนี้ เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มไหน โดยมีคนกลุ่มไหนรับชะตากรรมของความเป็นเหยื่อ ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมองเห็น