เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : ขายของกินบนเฟซบุ๊ก

ได้แรงบันดาลใจจากข้อเขียนในมติชนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาของ “ปิ่นโตเถาเล็ก” คุณอิงค์ บุตรชายที่ดำเนินรอยตามคุณพ่อ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ แนะนำขนมอร่อยโฮมเมดของเพื่อนของเพื่อนของภรรยา ขนมอร่อยที่ว่าคือเค้กมะตูม ที่เพื่อนๆ ในแวดวงผู้เขียนกำลังเครซี่กัน

ไม่ได้การ จำจะต้องอ่านว่าใครทำและสั่งซื้อกันยังไง

ตามธรรมดา คุณอิงค์ก็จะแนะนำพวกร้านอาหารที่ตั้งอยู่เป็นร้านๆ คราวนี้มาแปลกแนะนำขนมที่ไม่มีร้าน แต่ขายกันทางเฟซบุ๊ก คุณอิงค์เขียนไว้ว่า ขนมอร่อยๆ กำลังดาหน้ากันมาเปิดทั่วไทย แต่สูงสุดย่อมคืนสู่สามัญ คนเราโหยหาความอบอุ่นในบ้าน ย้อนกลับไปสมัยยังเยาว์วัยที่ทำขนมกินกันในบ้าน

จึงมีผู้รักการทำอาหารและมีฝีมือทำของคาวหวานกันที่บ้านและให้สั่งได้ทางออนไลน์แล้วไปรับที่บ้านคนขาย หรือจะนัดรับกันที่ไหนก็แล้วแต่

ผู้เขียนกำลังเขียนเรื่องนี้พร้อมกับเคี้ยวขนมปังฝีมือน้องสาว รัศมี เผ่าเหลืองทอง ผู้มากฝีมือในเรื่องขนมปัง เธอบรรจงใส่ของสุขภาพคือ buckwheat oats flaxseed Chiaseed wheat germ และน้ำมันมะกอก แล้วนวดจนเนียน ทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพ

เดี๋ยวนี้ก็เลยเสียนิสัย แทบไม่ยอมซื้อขนมปังนอกบ้านกิน

ตามประสาคนทำงานด้านการสื่อสารก็อยากให้เธอขายออนไลน์บ้าง แต่ก็ยังไม่เห็นขยับ

 

ข้อเขียนของคุณอิงค์ “ปิ่นโตเถาเล็ก” บ่งบอกถึงทิศทางสังคมหลายด้าน

เรื่องแรก คือเรื่องการกินการอยู่ กระแสการกินของโฮมเมดกำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีความไว้ใจว่าสะอาด รสชาติเยี่ยม (คนที่ทำยังไม่อร่อย ก็ยังไม่กล้าทำขาย) และเรารู้ว่าของโฮมเมดมักจะจัดเต็มด้วยวัตถุดิบชั้นดี มีอะไรพิเศษกว่าที่วางขายแบบแมส

เราเองก็สั่งตับบด เค้กมะตูม เค้กพรูน ปั้นขลิบไส้ปลา สั่งตรงจากเพื่อนบ้าง จากการแนะนำปากต่อปากบ้าง

ที่บอกว่าของโฮมเมดมีอะไรพิเศษกว่าของที่ขายกันแบบแมสๆ ก็เช่นแยมค่ะ หลายปีมาแล้วก่อนที่กระแสโฮมเมดออนไลน์จะดัง น้องคนหนึ่งใช้แบรนด์ว่า Gutsy เธออยู่เชียงใหม่ เธอจะคอยดูผลไม้ที่ออกตามฤดูกาลจากโครงการหลวง และคิดสร้างสรรค์นำผลไม้มากกว่า 1 ชนิดมากวนรวมกัน

เห็นไหมคะว่าถ้าเราจะไปซื้อตามห้างก็จะไม่มีแบบนี้ บรรดาแฟนๆ ของเธอก็จะสนุกสนานกับการสั่งแยมตามชอบของตัว

ทิศทางสังคมอีกเรื่องคือ เมื่อก่อนนี้การสื่อสารทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือจอทีวีคือกระแสหลัก แต่มาตอนนี้ออนไลน์กลายเป็นกระแสหลัก “ปิ่นโตเถาเล็ก” ได้นำขนมที่ขายทางออนไลน์มาบอกต่อทางหน้าหนังสือพิมพ์

แปลว่าดังจากออนไลน์แล้วเอามาบอกต่อทางออฟไลน์

เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดออนไลน์กลายเป็นเรื่องราวที่เข้าถึงผู้คนได้มากกว่าบนสื่อสิ่งพิมพ์ คนอ่านหนังสือพิมพ์มารู้เอาทีหลัง

 

วิถีชีวิตของผู้คนทุกวันนี้เปลี่ยนไปเป็นอันมาก ไม่ว่าคนรวยคนจนเมื่อมามีวิถีทำงานกินเงินเดือนกัน ก็ไม่มีเวลาจะทำอาหารอีกแล้ว ถ้าไม่หิ้วอาหารถุงกลับบ้าน ก็สั่งกันทางออนไลน์

การสั่งซื้อกันทางเฟซบุ๊กคือการสื่อสารระหว่างผู้ทำอาหารกับผู้กินอาหารโดยตรง เป็นการสื่อสารที่ใกล้ชิด บ่อยทีเดียวเรารู้ว่าผู้ทำเป็นใคร เขาอาจเป็นเพื่อนของเพื่อน เป็นลูกสาวเพื่อน เป็นคนมีชื่อเสียงที่มาทำอาหาร บ่อยครั้งที่เราสั่งซื้อเพราะเราอยากสร้างไมตรีจิตกับคนขายด้วย

นอกจากเฟซบุ๊กก็ลองกูเกิลเข้าไปดูสิ มีบริการเดลิเวอรี่มากมายเป็นหมื่นๆ รายในประเทศไทย ความรู้สึกอบอุ่นแม้ขาดหายไป แต่ก็ได้ความสะดวกและความหลากหลายมาแทน คุณภาพ ความสะอาด ก็ต้องประเมินจากประสบการณ์เป็นรายๆ ไป

ก็ในเมื่ออาหารเป็นสิ่งที่ต้องกินทุกวัน วันละหลายมื้อ และรสนิยม ความคุ้นเคยของคนก็มีหลายหลาก คนทำอาหารขายก็ไม่มีวันหมดอาชีพแน่นอน

เพื่อนฝูงที่แต่งงานกับฝรั่ง ก็มักจะสั่งอาหารนานาชาติจากเดลิเวอรี่ กูเกิลเข้าไปเลือกได้ตั้งแต่ Food by Phone, Food Panda, Passion Delivery, Happy Fresh, Door to Door เยอะแยะมากมาย ราคาก็แพงกว่าแบบไทยๆ เราที่สั่งจากเฟซบุ๊กของคนรู้จัก หรือคนที่ตอนแรกไม่รู้จัก แต่สั่งกันจนคุ้นเคยกัน

การทำเว็บเดลิเวอรี่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าสื่อสารทางเฟซบุ๊ก อาหารจากเว็บเดลิเวอรี่ก็ต้องแพงกว่าแน่นอน แต่ก็นั่นแหละ แลกกับการได้กินทุกอย่างที่อยากกิน

ธุรกิจเดลิเวอรี่ทำให้ธุรกิจหีบห่อขยายตัวตามไปด้วย กล่องพลาสติกขายดีเป็นเทน้ำเทท่า มองในแง่สิ่งแวดล้อมก็น่ากังวลทีเดียว

ทำไงได้ โลกมีแต่คืบไปข้างหน้า วิถีชีวิตยุคใหม่ก็ดำเนินไปเช่นนี้แล