วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /จาก ปว.17 มาเป็น ปร.42

พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

จาก ปว.17 มาเป็น ปร.42

งานเขียนบันทึกที่รวบรวมเรียบเรียงเหตุการณ์เรื่อง “กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์” ของมานิจ สุขสมจิตร ตีพิมพ์ในหนังสือ คำอธิบายพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พุทธศักราช 2550 ที่ขออนุญาตผ่านงานเขียนเรื่องนี้นำมาเผยแพร่ต่อ สร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ได้ทราบวิถีการต่อสู้ของนักหนังสือพิมพ์ในอดีตกับรัฐบาลเรื่องสิทธิเสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์และประชาชนที่มีต่อเนื่องมายาวนาน

หลังเกิดขบวนการต่อสู้เรียกร้องของนักหนังสือพิมพ์ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2495 ทำให้สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ตั้ง “คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์” ขึ้น

คณะกรรมการชุดนี้มีหม่อมเจ้าประสบสุข สุขสวัสดิ์ ทรงเป็นประธาน นายอุทธรณ์ พลกุล เป็นเลขานุการ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคนร่วมเป็นกรรมการ เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ พระยาศราภัยพิพัฒน์ นายมาลัย ชูพินิจ และนายหลุย คีรีวัฒน์

คณะกรรมการชุดนี้ประชุมกับทำบันทึกถึงรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.1495 และส่งสำเนาถึงองคมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภท 1 และประเภท 2

สรุปมีใจความว่า

 

1.ขอให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายดังกล่าวให้อำนาจเจ้าพนักงานการพิมพ์ที่จะเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์เป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากภาวะสงคราม โดยอ้างเหตุผลว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ให้อำนาจห้ามนำเข้าสิ่งพิมพ์โดยไม่จำเป็นต้องแสดงเหตุผล เป็นการลิดรอนสิทธิในการศึกษาหาความรู้อย่างเสรีของประชาชน

ให้อำนาจในการระงับการขาย แจกจ่ายสิ่งพิมพ์ และยึดสิ่งพิมพ์ แม่พิมพ์ หากเจ้าพนักงานการพิมพ์เห็นว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” ทำให้หนังสือนวนิยายและวิชาการบางกลุ่มที่เพียงแต่รวบรวมเรื่องที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือรายคาบก็ถูกห้ามขายและยึดไว้ และให้อำนาจปิดโรงพิมพ์ได้

  1. ขอให้ยกเลิกระบบเซ็นเซอร์
  2. การตรวจข่าวตัดข่าวของรัฐบาล เป็นการกระทำโดยอำเภอใจเกินอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

บันทึกฉบับนี้ยังกล่าวว่ารัฐบาลสามารถควบคุมการใช้สิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนได้โดยอาศัยประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยไม่จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายอื่นใดเป็นกรณีพิเศษอีก

นอกจากนี้ ยังได้แนบตัวอย่างของการตัดข่าวของเจ้าหน้าที่โดยปราศจากหลักเกณฑ์และเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตส่งให้รัฐบาลด้วย

ผลปรากฏว่ารัฐบาลมิได้ตอบข้อเรียกร้องดังกล่าวเลย

 

สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจึงได้ตั้งกรรมการในคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ขึ้นอีก 3 คน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2495 คือ

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร นายอารีย์ ลีวีระ และ ร.ท.สัมพันธ์ ขันธชวนะ และมีแต่จะขยายการต่อสู้ต่อไป โดยมีแนวทางว่าให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำไปอภิปรายในสภา นำเรื่องขึ้นฟ้องศาล ตีพิมพ์คำเรียกร้องสั้นๆ ลงในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนทั้งประเทศคัดค้านการกระทำของรัฐบาล โดยขอให้ลงนามเรียกร้องแล้วนำเสนอเป็นข่าวทุกวัน หากยังไม่สำเร็จก็ให้เรียกร้องต่อสหประชาชาติและสมาคมหนังสือพิมพ์ข่าวโลก รวมทั้งให้ประท้วงโดยงดลงข่าวหรือแถลงการณ์ของรัฐบาสในหน้าหนังสือพิมพ์โดยสิ้นเชิง

รัฐบาลยังคงยืนยันว่ายังมีความจำเป็นที่จะคงไว้ซึ่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 และแม้ว่าเวลาต่อมา ส.ส.ชาญยุทธ ไชยคำมิ่ง (กาฬสินธุ์) และ ส.ส.แคล้ว นรปติ (ขอนแก่น) จะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484

แต่ร่างนี้ก็ตกไปด้วยคะแนนเสียง 86 ต่อ 10

 

นักหนังสือพิมพ์ผู้รักอิสระและสิทธิเสรีภาพยังคงต่อสู้เรียกร้องเรื่อยมา แม้จะไม่สำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่าและถูกตรวจจับเป็นระลอกๆ

จนถึงวันที่ 16 กันยายน 2500 เป็นวันที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปครองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม สิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ถูกเหยียบย่ำทำลายหนักขึ้นไปอีก มีการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ มีการจับกุมนักหนังสือพิมพ์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 มาใช้ควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติการพิมพ์ ห้ามออกหนังสือพิมพ์ใหม่โดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามลงข่าวที่อาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งข่าวที่อาจทำให้เสื่อมความนิยม หรือบั่นทอนความเชื่อถือในรัฐบาล

หนังสือพิมพ์ต้องตกอยู่ในยุคมืด ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเพราะเกรงจะถูกปิดหรือถูกทุบแท่นพิมพ์ดังหนังสือพิมพ์ “อิสระ” ถูกกระทำโดยชายฉกรรจ์ตัดผมเกรียนแต่งกายคล้ายทหาร ทุบแท่นพิมพ์พังยับเยิน หาตัวคนทำผิดไม่ได้

“ค่าหัว” หนังสือพิมพ์ที่ราคาตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 1 ล้านห้าแสนบาท สำหรับคนที่มี “หัว” ไว้ขายแก่ผู้ต้องการออกหนังสือพิมพ์ เนื่องจากประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 ห้ามการออกหนังสือพิมพ์ใหม่ไว้

 

คําสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 ลงนามโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายเรื่อยมากระทั่งถึงรัฐบาลศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ห้วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ยังคงอยู่เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารเรื่อยมา แม้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนผู้นำจากศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยมีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ผู้ซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งจากสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้เป็น “คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์” ให้มีหน้าที่เรียกร้องให้เลิก พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484) เป็นนายกรัฐมนตรี

จนถึงสมัยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี (ได้รับเลือกตั้งเมื่อ 4 เมษายน 2509) ซึ่งเป็นอยู่ไม่นานนัก ก็ถูกรัฐมนตรีกลาโหมของตนเอง คือ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ให้ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 (ปร.42) มาใช้บังคับควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484