บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /จากยุคควบรวม (ซื้อ) ยกพรรค ถึงยุค ‘เพาะฟาร์มงูเห่า’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

จากยุคควบรวม (ซื้อ) ยกพรรค

ถึงยุค ‘เพาะฟาร์มงูเห่า’

 

ในแวดวงการเมืองไทยนาทีนี้ไม่มีคำไหนยอดฮิตมากไปกว่า “งูเห่า-ฟาร์มงูเห่า” หลังจากมีการลงมติในสภาว่าบรรดาสมาชิกจะเห็นชอบการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 (ที่เรียกว่า กมธ.เช็กบิล คสช.) ที่พรรคอนาคตใหม่เป็นผู้เสนอ หรือไม่

อย่างที่ทราบกัน การโหวตเพื่อตั้ง กมธ.เช็กบิล คสช.ดังกล่าว ในวันแรกรัฐบาลเป็นฝ่ายแพ้เนื่องจากมีงูเห่าจากประชาธิปัตย์ 6 คนไปเป็นแนวร่วมฝ่ายค้านด้วยการยกมือสนับสนุนการตั้ง กมธ. ขัดกับมติวิปรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้ตั้ง ทางฝ่ายรัฐบาลจึงขอให้มีการนับคะแนนใหม่ แต่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยจึงวอล์กเอาต์ สภาจึงล่ม เดินต่อไม่ได้ ญัตติจึงค้างเติ่ง

ต่อมาวันที่สองก็ล่มอีก เพราะไม่ครบองค์ประชุม เนื่องจากฝ่ายค้านตีรวน ทำให้เกิดการลุ้นว่าสภาจะล่มเป็นครั้งที่ 3 จนสะเทือนเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่

 

แต่หลังจากรัฐบาลใช้กำลังภายในกินหูฉลามร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลและกลับมาเปิดประชุมเพื่อลงมติใหม่เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งปรากฏว่ารัฐบาลสามารถเอาชนะได้

ชนิดที่ว่าเกิดเสียงฮือฮากันมาก เพราะว่า

  1. บางคนในพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคประชาธิปัตย์) ยังทำตัวเป็นงูเห่าฉกกัดรัฐบาล ด้วยการยกมือสวนเช่นเดิม
  2. บางคนในพรรคฝ่ายค้านทำตัวเป็นงูเห่าสวนมติพรรคของตัวเองด้วยการช่วยเหลือรัฐบาล

งูเห่าฝ่ายค้าน 11 คนที่ช่วยให้รัฐบาลรอดในครั้งนี้ ปฏิบัติการด้วยการ “มาแสดงตน” เพื่อให้ครบองค์ประชุมและสามารถเปิดการลงมติได้ แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 3 คน พรรคอนาคตใหม่ 3 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน และพรรคประชาชาติ 1 คน ทำให้มีองค์ประชุม 261 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่ง

ส่วนใหญ่แล้วงูเห่าฝ่ายค้านในครั้งนี้ใช้วิธี “งดออกเสียง” เท่ากับว่าจุดประสงค์ส่วนใหญ่ของ “งูเห่า” ฝ่ายค้านที่เข้าร่วมประชุมก็เพื่อทำให้องค์ประชุมครบ ในขณะที่ฝ่ายค้านที่เหลือทั้งหมดใช้วิธีไม่เข้าร่วมประชุมเลย (หวังให้องค์ประชุมไม่ครบ)

เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ไม่ยากที่ฝ่ายรัฐบาลจะชนะด้วยคะแนน 244 ต่อ 5 ทำแท้งการตั้ง กมธ.ได้สำเร็จ

 

ผลโหวตวันแรกที่รัฐบาลเป็นฝ่ายแพ้และขอให้มีการนับคะแนนใหม่ เกิดความตึงเครียดในซีกรัฐบาลเพราะประชาธิปัตย์ทำตัวเป็นงูเห่า

แต่ครั้งที่ 3 นี้ภาวะระส่ำระสายเกิดกับพรรคฝ่ายค้านมากที่สุด มีเสียงโวยวายอย่างหนักว่า มีการซื้อตัวฝ่ายค้านในระดับ 8 หลัก (10 ล้านบาทขึ้นไป) กล่าวหาว่าฝ่ายรัฐบาลใช้อำนาจทุกอย่างที่มีเพื่อดูดฝ่ายค้าน

ส่วนคุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยนั้นดูเหมือนจะมีอารมณ์เจ็บแค้นแบบสะสม เพราะเธอกล่าวหารัฐบาลในหลายครั้งหลายโอกาสว่าใช้หลายวิธีเพื่อดูดฝ่ายค้าน ทั้งการใช้คดีความมากดดันหรือล่อใจ มีการใช้พลังเงิน มีการเพาะฟาร์มงูเห่าไว้คอยช่วยเหลือรัฐบาล เป็นต้น

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานชัดเจน และรัฐบาลก็ปฏิเสธ

ส่วนเรื่องการใช้คดีความมาต่อรองหรือล่อใจนั้น ยังไม่แน่ชัดว่าจริงหรือไม่ เพราะอย่างกรณีของไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ อดีตแนวร่วม นปช.และเคยสังกัดพรรคเพื่อไทย เพิ่งถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ฐานล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา ต้องพ้นสภาพ ส.ส.

 

อันที่จริงการโวยวายของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเรื่องดึง-ดูด ส.ส.จากพรรคอื่น เท่ากับการนำหนังม้วนเก่าที่คนไทยเกือบลืมไปแล้วกลับมาฉายซ้ำ ทำให้ความทรงจำของสาธารณชนสดใหม่ขึ้นมาอีกครั้งเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในยุคของพรรคไทยรักไทยที่มีคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้า

คราวนั้นคุณทักษิณมีการควบรวมพรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามาอยู่ในชายคา ประกอบด้วยพรรคเสรีธรรม พรรคความหวังใหม่ และพรรคชาติพัฒนา ทำให้พรรคไทยรักไทยมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น

ส่งผลให้การเลือกตั้งสมัยที่ 2 ไทยรักไทยชนะถล่มทลายด้วยเสียงข้างมากจนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นักวิชาการเรียกสภาพการเมืองในยุคคุณทักษิณว่าเดินหน้าสู่ระบอบอำนาจนิยม เพราะการเป็นรัฐบาลพรรคเดียวด้วยจำนวนเก้าอี้ที่มากกว่าฝ่ายค้านอย่างขาดลอยทำให้มั่นใจว่าจะรอดพ้นจากการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้วยเหตุนั้นคุณทักษิณจึงถูกมองว่าต้องการทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลของระบบรัฐสภา ตัดมือตัดเท้าฝ่ายค้านไม่ให้สามารถยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาลได้เลย

วิธีการของคุณทักษิณในการสร้างความแข็งแกร่งทางการเมืองด้วยการให้พรรคอื่นยุบมารวมกับไทยรักไทยดังกล่าว ถ้าเป็นภาษาธุรกิจจะเรียกว่า M&A หรือการควบรวมและซื้อกิจการ เพื่อทำให้กิจการของตนเองขยายใหญ่โดยทางลัดและสร้างความได้เปรียบมากขึ้น

ไม่มีใครรู้ว่า การที่ 3 พรรคดังกล่าวยอมยุบมารวมนั้น เป็นการมาด้วยความเต็มใจหรือถูกบีบบังคับ หรือว่าคุณทักษิณใช้เงินซื้อมา

แต่เรื่องหนึ่งที่พูดกันแพร่สะพัดมากก็คือคุณทักษิณใช้เรื่องคดีความมาแบล็กเมล์หรือกดดันให้บางพรรคยอมมาอยู่ใต้ชายคาไทยรักไทย

นอกจากนั้น มีการพูดหนาหูว่าคุณทักษิณแจกซอง ส.ส.ในพรรคทุกคนเป็นประจำทุกเดือน (นอกเหนือจากเงินเดือน ส.ส.ที่รับจากภาษีประชาชน) เพื่อให้อยู่ดีมีสุข จะได้หมดปัญหางูเห่าหรือตีรวน

ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวนหนึ่งก็ได้รับการดูแลจากคุณทักษิณเช่นกัน

 

นั่นเป็นยุคคุณทักษิณตั้งแต่ปี 2544-2549 ซึ่งเปรียบไปแล้วปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก็คงไม่ต่างจากสิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังกล่าวหารัฐบาลปัจจุบันนำโดยพรรคพลังประชารัฐ

ในยุคคุณทักษิณนั้น ข้ออ้างสำคัญที่ต้องการให้รัฐบาลมีเสียงมากก็คือเพื่อให้รัฐบาลมั่นคง สามารถบริหารประเทศได้ต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่ง ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่เมื่อมีอำนาจมากล้น การใช้อำนาจก็เบี่ยงเบนไปจนผลลัพธ์เป็นอย่างที่เห็น

ส่วนยุครัฐบาลปัจจุบัน เหตุผลที่ต้องการความมั่นคงทางการเมือง ส่วนหนึ่งก็อ้างเรื่องความต่อเนื่องการบริหารประเทศ เพราะการเมืองที่ไม่สงบมากว่า 10 ปี ทำให้ไทยชะงักงันการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการเอื้อต่อเศรษฐกิจและการลงทุน เช่น โครงข่ายการขนส่งคมนาคม

จะดีจะเลว จะเผด็จการหรืออำนาจนิยม แต่ต้องยอมรับว่าโครงการขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้าในเมืองและเชื่อมระหว่างเมืองรุดหน้าไปเร็วที่สุดในยุครัฐบาลปัจจุบัน

ส่วนผลลัพธ์ของผู้นำรัฐบาลนี้จะลงเอยอย่างไร จะแตกต่างจากคุณทักษิณหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป