จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 20-26 ธันวาคม 2562

จดหมาย

0 เขียนเปลี่ยนชีวิต

 

มหกรรม Write for Rights 2019

แคมเปญสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ของแอมเนสตี้

ปีนี้มาในธีม “นักปกป้องสิทธิเยาวชน : Act For Rights, Fight For Youth”

ชวนคนไทยเข้าร่วมกิจกรรม

เพื่อส่งกำลังใจให้เยาวชนที่ติดอยู่ในวงจรของความอยุติธรรมทั่วโลก

โดยปีที่ผ่านมาได้สร้างสถิติใหม่ของกิจกรรมนี้ มี 5,562,795 ข้อความในรูปแบบต่างๆ

ถูกเขียนโดยผู้คนมากกว่า 200 ประเทศและดินแดนต่างๆ

เพื่อร่วมรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมและช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ

 

ในเดือนธันวาคมของทุกปี

ผู้คนหลายแสนคนทั่วโลกร่วมกันเขียนจดหมายมากมายเพื่อผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

จดหมายหลายฉบับถูกส่งถึงผู้ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง

ขณะที่จดหมายอีกจำนวนมากก็ถูกส่งไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องนั้นๆ

โดยในปีนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

เลือกเน้นรณรงค์มหกรรม Write for Rights 2019 ช่วยเหลือสามกรณี

ได้แก่

 

นาซู อับดุลลาซิซ เยาวชนชาวไนจีเรียผู้ถูกยิงขณะปกป้องบ้าน

เขาชอบเล่นฟุตบอลและปั่นจักรยาน กิจกรรมยามว่างของคนหนุ่มสาวในไนจีเรีย

แต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติขึ้นกับเขา

เพราะระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2559 และเมษายน 2560

นาซู อับดุลลาซิซ และชุมชนของเขาในกรุงเลกอสที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มานานกว่าร้อยปี

ถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนของตนเองโดยไม่มีการแจ้งเตือน

กลุ่มผู้ชายมาถึงพร้อมปืนในมือและรถไถ

พวกเขาได้ทำลายบ้านเรือนจนราบเป็นหน้ากลอง

ทำให้ชาวบ้าน 30,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย

ทุกวันนี้ นาซู อับดุลลาซิซ และเพื่อนๆ ต่างเรียกร้องที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี

 

ยาสมัน อารยานี นักแสดงสาวชาวอิหร่านผู้มอบดอกไม้แห่งเสรีภาพ

เธอเป็นนักแสดงที่ชื่นชอบการปีนเขา

เธอได้ตั้งคำถามต่อกฎหมายบังคับให้สวมผ้าคลุมศีรษะของอิหร่าน

โดยเธอได้แจกดอกไม้สีขาวให้กับผู้โดยสารหญิงที่นั่งอยู่ในขบวนรถไฟ

จากนั้นวิดีโอที่แสดงภาพการกระทำอันกล้าหาญและท้าทายของเธอ ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในเดือนมีนาคม 2562

ส่งผลให้ทางการอิหร่านจับกุมเธอทันที

ต่อมาศาลตัดสินจำคุกยาสมันสูงถึง 16 ปี

ทั้งหมดเป็นเพียงเพราะความเชื่อของเธอที่ว่าผู้หญิงควรมีเสรีภาพในการเลือกสิ่งที่ตนเองอยากสวมใส่

 

ยีลียาซีเจียง เรเฮมัน คุณพ่อชาวอุยกูร์ผู้ถูกพรากจากครอบครัว

เขาและไมรีนีชา อับดูไอนี นักศึกษาชาวอุยกูร์ภรรยาของเขากำลังจะมีลูกคนที่สอง

แต่ยีลียาซีเจียงกลับหายตัวไประหว่างที่ทั้งคู่กำลังศึกษาต่อที่อียิปต์ในเดือนกรกฎาคม 2560

ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลจับกุมชาวอุยกูร์ประมาณ 200 คน

โดยส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองมุสลิมจากแคว้นซินเจียงของจีนและได้บังคับส่งกลับพวกเขาไปที่จีน

ไมรีนีชาเชื่อว่าปัจจุบันสามีของเธอเป็นหนึ่งในชาวมุสลิมกว่าหนึ่งล้านคนที่ถูกจองจำในค่ายลับในประเทศจีน

และเธอกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อตามหาสามี

 

จากการทำงานมากว่า 58 ปีที่ผ่านมาของแอมเนสตี้

พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเขียนเปลี่ยนชีวิตคนได้จริงๆ

การเขียนจดหมาย ส่งอีเมล

การโพสต์ข้อความแสดงความเห็นออนไลน์ ทั้งทางทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก

รวมทั้งการส่งไปรษณียบัตร โปสการ์ดให้กำลังใจ รวมแล้วปีละหลายล้านข้อความ

ไม่เพียงนำไปสู่การปลดปล่อยนักโทษทางความคิดเท่านั้น

หากยังมีผลทางด้านจิตใจอย่างมากต่อผู้ได้รับกำลังใจเหล่านี้

และมีผลทางจิตใจอย่างมากต่อบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขาด้วย

สนใจร่วมลงชื่อกิจกรรม Write for Rights 2019

ได้ที่ https://www.amnesty.or.th/get-involved/take-action/w4r19/

ปิยนุช โคตรสาร

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

ดูเหมือนไกลตัว

มากด้วยกลิ่นนม เนย

แต่สักวันหนึ่ง

การเขียนเปลี่ยนชีวิต

อาจย้อนกลับมีประโยชน์กับ “คนไทย” ที่ถูกละเมิด

บ้างก็ได้