สุจิตต์ วงษ์เทศ / พ่อขุนผาเมือง / ไม่ได้ไปครองกัมพูชา

พ่อขุนผาเมืองไม่ได้เป็นกษัตริย์เมืองนครธม คือกรุงศรียโศธรปุระ หรือเมืองพระนครหลวง ในกัมพูชา [ประตูเมืองนครธม ลายเส้นของหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Monde Illustr?, 1874 จากหนังสือ The Ancient Khmer Empire by Lawrence Palmer Briggs, White Lotus Press, 1999]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

พ่อขุนผาเมือง

ไม่ได้ไปครองกัมพูชา

 

พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ในประวัติศาสตร์กำเนิดรัฐสุโขทัย ไม่ครองกรุงสุโขทัย ภายหลังพระองค์ยึดคืนเมืองสุโขทัยจากขอมสบาดโขลญลำพง [เชื้อสายรัฐละโว้] แต่ยกให้พ่อขุนบางกลางหาวขึ้นครองในนามของพระองค์ว่า “ศรีอินทราทิตย์”

พ่อขุนผาเมืองหายไปไหน? เรื่องนี้ผู้รู้เสนอไว้หลายแนว แต่ที่สำคัญมี 2 แนว ได้แก่

[1.] พ่อขุนผาเมืองไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา และ

[2.] พ่อขุนผาเมืองไปเป็นกษัตริย์นครธมในกัมพูชา โดยอ้างหลักฐานต่างๆ รวมทั้งบันทึกของโจวต้ากวาน [ราชทูตจีน]

 

ราชทูตจีน ชื่อ โจวต้ากวาน

 

โจวต้ากวาน เป็นราชทูตจีน ไปถึงนครธม พ.ศ.1839 เพื่อเกลี้ยกล่อมกษัตริย์กัมพูชาครั้งนั้นให้ยอมสวามิภักดิ์ต่อจีนราชวงศ์หงวน

ปีรุ่งขึ้น พ.ศ.1840 ราชทูตจีนเดินทางกลับ จากนั้นโจวต้ากวานได้เขียนหนังสือให้ชื่อว่า “บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ” [ต่อมาแปลเป็นภาษาไทยโดย เฉลิม ยงบุญเกิด พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกด้วยทุนส่วนตัว เมื่อ พ.ศ.2510]

มีเนื้อความสำคัญโดยสรุปว่าเมื่อโจวต้ากวานไปถึงเมืองนครธม ขณะนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ [1.] เคยเป็นผู้บัญชาการทหารของพระเจ้าแผ่นดินองค์เก่า [2.] เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าแผ่นดินองค์เก่า แต่ต่อมาราชบุตรเขยยึดอำนาจจากโอรสรัชทายาทของ “พ่อตา” ดังนั้น ราชบุตรเขยจึงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ เพราะราชธิดาลักพระขรรค์ทองคำ [ขรรค์ชัยศรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ] ไปให้พระสวามี

ข้อความที่โจวต้ากวานบันทึกไว้ มีดังนี้

“ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า—-พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นี้ เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าแผ่นดินองค์เก่า เดิมมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหาร พระเจ้าแผ่นดินองค์พ่อตาทรงมีพระสิเน่หาในพระราชธิดา พระราชธิดาจึงได้ทรงลักเอาพระขรรค์ทองคำไปให้พระสวามี เป็นเหตุให้พระโอรสาธิราชทรงสืบสันติวงศ์ต่อไปไม่ได้—-”

เฉลิม ยงบุญเกิด ทำเชิงอรรถอธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วยดังนี้

[1.] พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ศ.เซเดส์ ว่าเป็นพระเจ้าศรีนทรวรรมัน [2.] พระเจ้าแผ่นดินองค์เก่า คือ พระเจ้าชัยวรรมันที่ 8 [3.] พระขรรค์ทองคำ เข้าใจว่าเป็นพระแสงขรรค์ชัยศรี

 

ท่านจันทร์

 

พ่อขุนผาเมืองไปเป็นกษัตริย์นครธมในกัมพูชา พระนาม “ศรีนทรวรรมัน” มีผู้รู้เคยเสนอไว้นานหลายปีแล้ว โดยอ้างอิงหลักฐานจากจารึกวัดศรีชุม และเอกสารจีนของโจวต้ากวาน

“ท่านจันทร์” ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี [พ. ณ ประมวญมารค] นิพนธ์บทความภาษาอังกฤษพิมพ์ในมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐ แล้วทรงทำฉบับย่อชื่อ In Search of the Lost King Poh Khun Pha Muang ลงพิมพ์ใน Bangkok Post ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2526

ต่อมาได้รับอนุญาตแปลเป็นภาษาไทยชื่อ สืบรอยตามหาพ่อขุนผาเมือง แล้วพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน [ปีที่ 4 ฉบับที่ 11] พ.ศ.2526

หลังจากนั้นอีกหลายปีได้พิมพ์ซ้ำในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน [ปีที่ 21 ฉบับที่ 6] ครั้งนี้ผมเขียน “หมายเหตุบรรณาธิการ” บอกความเป็นมาของบทความไว้ด้วยว่า

พ่อขุนผาเมืองไปเป็นกษัตริย์กัมพูชา เคยมีผู้เสนอไว้ เมื่อ พ.ศ.2486 คือ ราเมศ จันทร มาชุมดาร์ [ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของอินเดีย] แต่อยู่ในวงจำกัดของนักวิชาการนานาชาติ จึงไม่เป็นที่รู้ทั่วไปในไทย

 

เหตุการณ์หลังชัยวรรมันที่ 7

 

โจวต้ากวานเดินทางถึงนครธม พ.ศ.1839 ขณะนั้นนครธมมีกษัตริย์องค์ใหม่ พระนาม “ศรีนทรวรรมัน” เป็นลูกเขยของกษัตริย์องค์ก่อน คือ “ชัยวรรมันที่ 8”

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นภายหลังแผ่นดินพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7

ช่วงเวลานั้นในไทยมีเหตุการณ์พญามังราย สถาปนาเมืองเชียงใหม่, ส่วนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นช่วงเวลาก่อนมีกรุงศรีอยุธยาซึ่งจะสถาปนา พ.ศ.1893

 

ฟังเขามาเล่า

 

ความขัดแย้งในราชสำนักนครธม ที่ว่ากษัตริย์องค์ใหม่แย่งอำนาจจากโอรสของกษัตริย์องค์เก่า ล้วนฟังคำบอกเล่ามาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งโจวต้ากวานบอกในบันทึกว่า “ข้าพเจ้าได้ฟังว่า—-” แสดงว่าไม่รู้ไม่เห็นจริงจากประสบการณ์ตรงของตน

สิ่งที่โจวต้ากวานได้ฟังมาจะเชื่อถือได้มากน้อยขนาดไหนก็ไม่รู้? ต้องตรวจสอบถี่ถ้วน

นอกจากนั้น กษัตริย์กัมพูชาองค์ก่อน [หรือองค์ไหนๆ] มิได้มี “ลูกเขย” องค์เดียว แต่มีไม่น้อยซึ่งน่าจะมากเป็นสิบองค์หรือหลายสิบองค์ก็ได้ จึงระบุยากว่าเป็น “ลูกเขย” องค์ไหน? พ่อขุนผาเมือง หรือใคร? ฯลฯ

 

ผาเมือง ไม่ครองกัมพูชา

 

พระเจ้าศรีนทรวรรมัน กษัตริย์เมืองศรียโศธรปุระ [นครธม] ไม่ใช่พ่อขุนผาเมือง เพราะช่วงวัยของพระเจ้าศรีนทรวรรมันเป็น “รุ่นลูก” [ของพ่อขุนผาเมือง] ซึ่งร่วมสมัยพ่อขุนรามคำแหง [กรุงสุโขทัย] และเป็นเชื้อสายเครือญาติกับ “เศรษฐปุระ” หรือเมืองจำปาสักโบราณ ลุ่มน้ำโขง ในลาวใต้

เป็นงานค้นคว้าของ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ในบทความเรื่อง “พระเจ้าศรีนทรวรมัน” ไม่ใช่ “พ่อขุนผาเมือง” ในศิลาจารึกเขมรโบราณของพระเจ้าศรีนทรวรมัน [พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559 หน้า 208-225]