จรัญ มะลูลีม : ตลาดเสรีความรู้ในอินเดีย

จรัญ มะลูลีม

ความหลากหลายของหนังสือจำนวนมากที่มากองรวมกัน เพื่อให้ผู้คนมาเลือกซื้อตามสถานีรถไฟในกรุงนิวเดลีที่คนขายนั่งและนอนทับหนังสืออยู่ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่าแม้สื่อกระจกจะมีอิทธิพลกับผู้คนในปัจจุบันของอินเดียอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก แต่สื่อกระดาษก็ยังครองใจคนอินเดียอยู่มาก

จึงไม่น่าแปลกใจว่าอินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่มีสื่อเสรีและสื่อสิ่งพิมพ์นานาชนิด ที่มีความหลากหลาย มีสิ่งพิมพ์ที่ตีพิมพ์ในภาษาฮินดี อุรดู อังกฤษ และมีตลาดหนังสือใหญ่ที่สุดของโลกเป็นอันดับสองรองจากประเทศจีน

โดยมีหนังสือพิมพ์ 99 ล้านฉบับขายทุกวัน

จากรายงานของสมาคมหนังสือพิมพ์โลก (World Association of Newspapers) พบว่า อินเดียมีหน่วยงานชั้นนำด้านการพิมพ์อยู่ในประเทศอย่างเช่น Press Trust of India หรือ PT และ United News of India หรือ UNI

ในปี 2005 รัฐบาลได้เปิดเสรีด้านอุตสาหกรรมการพิมพ์ขึ้นในประเทศ ด้วยการอนุญาตให้คนต่างชาติเป็นผู้ตีพิมพ์ด้วยตัวเองที่อินเดียได้

นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นประเทศที่มีการผลิตภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ความต้องการที่จะมีจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีก็มีอยู่สูงเช่นกัน

 

การที่อินเดียได้รับฉายาว่าเป็น “ประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก” (The World”s Iargest democracy) และเป็นประเทศที่มีสื่อเสรีและเป็นพหุสังคมนี้เป็นที่ได้รับความชื่นชมมาช้านาน

ในเรื่องเหล่านี้อินเดียยังเหนือกว่าประเทศที่ประชาธิปไตยหยั่งรากมายาวนาน จนเรียกได้ว่า “มีประชาธิปไตยเต็มตัว” อย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษอีกด้วย

ดังที่เคยได้กล่าวมาบ้างแล้วว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายในทุกๆ ด้าน มีระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มีพรรคการเมืองมากกว่า 2,000 พรรค เครื่องหมายของพรรคการเมือง แต่ละพรรคมีลักษณะหลากหลาย

จะเห็นได้ว่าในอินเดีย พรรคคอมมิวนิสต์ (สามัคคีมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ เหมาอิสต์ และพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย) สามารถอยู่ร่วมกับพรรคอื่นๆ ของอินเดียได้อย่างสันติ

และนำพาประเทศไปสู่ความสงบสุข

 

ปัจจุบันอินเดียหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดแทนเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมภายใต้การขับเคลื่อนของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และภายใต้ นารา ซิมฮา ราว อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นความเติบโตของอินเดียมาก่อน

เมื่อมองในด้านพื้นที่ อินเดียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก รองจากรัสเซีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา จีน บราซิล และออสเตรเลีย

ในด้านประชากร อินเดียมีจำนวนประชากรเป็นอันดับ 2 รองจากจีน หากเพียงแต่วัดกำลังอำนาจจากปัจจัยด้านพื้นที่เพียงอย่างเดียว ก็พอจะทำให้อินเดียมีสถานะเป็นมหาอำนาจที่ดึงดูดให้ประเทศต่างๆ มุ่งมาทำการค้าและการลงทุนได้เป็นอย่างดี

ด้วยประชากรที่มากกว่า 1.2 พันล้านคน และมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก ความเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนานับเป็นหนึ่งในความสำเร็จของอินเดียในเวลานี้ เป็นเวลากว่า 65 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราช อินเดียได้มีการปฏิวัติการเกษตร ซึ่งเปลี่ยนจากประเทศที่ต้องขึ้นอยู่กับการส่งออกแค่ธัญพืชมาเป็นประเทศที่มีพลังในการส่งออกการเกษตรของโลกและกลายมาเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารชั้นนำอยู่ในเวลานี้

ปัจจุบันประชาชนอินเดียมีอายุยืนขึ้นกว่าเดิมเป็นสองเท่า

อัตราผู้รู้หนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า มีการพัฒนาสภาวะด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และชนชั้นกลางก็เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน อินเดียได้รับการยอมรับว่าเป็นที่รวมของบริษัทเภสัชกรรม บริษัทเหล็กกล้าและเป็นแหล่งของข้อมูลและเทคโนโลยีอวกาศ

นอกจากนี้ เสียงของอินเดียยังเป็นเสียงที่ได้รับการรับฟังในเวทีระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากขนาดของประเทศที่มีขนาดใหญ่และเศรษฐกิจการเมืองที่มีศักยภาพ

 

อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งเมื่อพูดถึงอินเดีย อินเดียจะถูกเรียกขานว่ายักษ์หลับ (Sleeping giant)

แต่วันนี้อินเดียเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

ตามรายงานของ World Competitive Yearbook อินเดียกระโดดจากอันดับที่ 43 มาอยู่อันดับที่ 27

ความเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียที่มีประชากรคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 6 ของโลกนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก

ได้รับการยกย่องว่ามีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนนับล้านพ้นจากความยากจน

ในเรื่องความสามารถทางเศรษฐกิจนั้นอินเดียอยู่ในลำดับที่ 19 ของโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จของอินเดียนั้นส่วนหนึ่งมาจากพลังทางปัญญา (Brain Power) การมีบริษัทที่ติดอยู่ในระดับโลก ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทคโนโลยี

นักวิชาการบางคนมองว่าอินเดียจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ที่ยิ่งใหญ่ (New Great Power) ทั้งนี้ อินเดียมีประชากรเป็นปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิตที่ดี ซึ่งสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ โดยอินเดียมีปัจจัยในด้านนี้อย่างเหลือเฟือ อินเดียมีประชากรมากจนกระทั่งมีการพูดกันว่าอินเดียสามารถทำสงครามได้หลายครั้งโดยไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรที่มีอยู่แต่อย่างใด

วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2562 เวลา 09.00 น. ท่านทูตชุตินทร คงศักดิ์ พร้อมภริยา ม.ล.ปิยวรรณ คงศักดิ์ คุณกฤชณรงค์ เสรีสวัสดิ์ เลขาฯ เอก และคุณ Kunal Palta เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสถานทูตไทยและผมเดินทางสู่เมืองอลิการ์ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนเรื่องการศึกษาและการกลับไปประกอบอาชีพในประเทศไทย

สำหรับผมการเดินทางเยือนมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ รัฐอุตตรประเทศอย่างเป็นทางการครั้งนี้นั้นเป็นครั้งที่สอง

ครั้งแรกผมเดินทางไปกับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการ ASEAN และท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตที่เดินทางเยือนมหาวิทยาลัยแห่งนี้หลายครั้ง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คือในเดือนพฤษภาคม ปี 2555 ท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา) พร้อมด้วยข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตได้เดินทางเยี่ยมมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ และได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับโอกาสของนักศึกษาไทยมุสลิมที่ต้องการเดินทางมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้

จากนั้นปลายเดือนสิงหาคม ปี 2555 กลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทย-อินเดีย นำโดยนายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีตสมาชิกวุฒิสภา นายประสงศักดิ์ บุญเดช สมาชิกวุฒิสภา และภริยา ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ พร้อมด้วย ร.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ และนางผุสดี ตามไทย อดีตสมาสชิกภาผู้แทนราษฎรก็ได้เดินทางมาเยือนมหาวิทยาลัยอลิการ์

เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่นักศึกษาไทยเช่นกัน

 

ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วเช่นกัน มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาไทยไปเรียนมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ และมีอดีตนักศึกษาไทย ทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้และมีบทบาทอยู่ในสังคมไทยหลายท่านด้วยกัน

เช่น ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม อดีตวุฒิสภา เลขาธิการคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยและอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ไรน่าน อรุณรังสี นักเขียน นักแปล อดีต ส.ว.สรรหา และอดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.กิติมา อมรทัต สถาปนิก นักแปลและนักเขียน อดีตอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประภัทร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทย เป็นต้น

ส่วนศิษย์เก่ารุ่นหลังๆ ก็ได้แก่ ดร.อณัส อมาตยกุล อดีตอาจารย์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตที่ปรึกษาฝ่ายชะรีอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ผศ.ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ดร.บัณฑิต อารอมัน ดร.อับดุลรอหมาน มุเก็ม และ ดร.อารีฟีน ยามา ซึ่งเป็นนักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ผศ.ดร.มาโนช อารีย์ ดร.รุสตั้ม หวันสู คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

และอาจารย์มหาวิทยาลัยในเกือบทุกภูมิภาคของไทยอีกไม่น้อยกว่า 20 คน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยฟาฏอนี