จับกระแส Talk of the Town ใน “งูเห่าประชาชาติ” ที่ชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

แบมะพระเอก หรือ อนุมัติ ซูสารอ “งูเห่าประชาชาติ” สิ่งที่สื่อและคนชายแดนใต้เรียก

ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยถามหลายคนว่าทำไมชาวบ้านชายแดนใต้ถึงเรียก “กำนันมะ” หรือนายอนุมัติ ซูสารอ ว่า “มะพระเอก”

จับใจความคำตอบได้ว่า เพราะแกลงเลือกตั้งแล้วชนะทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในระดับใด ราวกับพระเอกที่ต้องชนะตอนจบทุกครั้ง

และอีกกระแสหนึ่งท่านเป็นคนหล่อหน้าตาเหมือนพระเอกดาราหนัง

ความเป็นจริงข่าวลือว่า อนุมัติ ซูสารอ จะมีใจหรือฝ่ายรัฐบาลกำลังเจาะยางฝ่ายค้านนั้น ผู้เขียนได้ยินในเดือนที่แล้วตอนไปประชุมนานาชาติเรื่องเกี่ยวกับสันติภาพที่กรุงเทพมหานคร แต่หลังจากทราบทางสื่อว่าท่านคือ 1/10 งูเห่า จากพรรคฝ่ายค้านที่ลงคะแนนเทไปให้ฝั่งรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่ยืนยันในข่าวลือดังกล่าวว่า ไม่ผิด

พลันที่ปรากฏเป็นข่าวนี้ ผู้เขียนเดินทางเชิงลึกลงพื้นที่ที่ปะนาเระ จังหวัดปัตตานี สอบถามเชิงลึกพฤติกรรมท่านอดีต ก็ร้องอ๋อทันทีว่า วงการบ้านการเมืองตลอดอายุท่านเกือบ 70 ปีไม่ธรรมดา และการตัดสินใจของท่านครั้งนี้จึงไม่แปลก

ลำดับต่อไปลองมาดูว่า ท่านให้สัมภาษณ์กับคนในพรรคหรือพันธมิตรพรรคท่านว่าอย่างไร

TheReporters ได้ลงบทสัมภาษณ์ท่านเต็มๆ ว่า “อนุมัติ ซูสารอ” ยันไม่ใช่งูเห่า แต่ขอทำตามใจ ไม่เห็นด้วยการวอล์กเอาต์ จึงร่วมแสดงตนให้ครบองค์ประชุม แต่งดออกเสียง เพื่อให้งานสภาเดินหน้า

กล่าวคือ “นายอนุมัติ ซูสารอ” ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ หนึ่งใน 10 เสียงของพรรคฝ่ายค้านที่ร่วมแสดงตนในการลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการใช้อำนาจ คสช. และเป็น ส.ส. 1 คนของพรรคประชาชาติที่สวนมติพรรคและมติวิปฝ่ายค้าน

นายอนุมัติเปิดเผยกับ TheReporters เหตุผลที่ร่วมแสดงตนให้ครบองค์ประชุม เพราะไม่เห็นด้วยกับมติวิปฝ่ายค้านที่ให้วอล์กเอาต์ไม่ร่วมลงมติในครั้งที่ 3 ซึ่งส่วนตัวแก่แล้ว อยากเห็นงานสภาผู้แทนราษฎรเดินหน้าให้ได้ ตอนนี้ก็อายุ 70 กว่าปีแล้ว คงเป็น ส.ส.ได้เพียงสมัยนี้ สมัยหน้าคงไม่ได้ลงแล้ว จึงตัดสินใจทำตามใจตัวเอง ยืนยันได้ว่าไม่มีใครบังคับ และไม่ใช่งูเห่า

“ผมก็แค่แสดงตน และได้งดออกเสียง ต่างกับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่เป็นรัฐบาล ทำไม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่โหวตเห็นด้วย ไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นงูเห่า ทำไมผมถึงถูกหาว่าเป็นงูเห่า ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เลย”

นายอนุมัติเห็นว่าไม่เป็นธรรมเลยที่ถูกเรียกว่างูเห่า แต่เมื่อทำผิดมติพรรคไปแล้ว ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารพรรคประชาชาติว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็พร้อมปฏิบัติตามมติพรรค ถ้าพรรคให้อยู่ ก็จะอยู่กับพรรคประชาชาติ แต่ถ้าไม่ให้อยู่ ก็ขึ้นอยู่กับพรรค

นายอนุมัติยอมรับว่า การตัดสินใจของเขา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ น่าจะพอรู้ เพราะก่อนการลงมติเรื่องนี้ เขาไม่ได้เข้าพรรคเลย เรื่องนี้จึงให้เป็นการพิจารณาของพรรค พร้อมยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า

“มะพระเอก” ก็คงไม่ได้เป็นพระเอกอีกต่อไปในสายตาของคนจำนวนมาก นั่นเป็นราคาที่เขาต้องจ่าย แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการลงโทษทางสังคมหรือการถูกวิพากษ์วิจารณ์จะมีมากแค่ไหน แต่สิ่งนี้ก็จะยังคงเกิดขึ้นซ้ำอีก หากผู้เกี่ยวข้องยังยอมให้การเมือง การเลือกตั้งผูกอยู่กับระบบอิทธิพลและระบบอุปถัมภ์ต่อไปอย่างที่เป็นอยู่เป็นที่ชัดเจนว่าพรรคประชาชาติ (รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ที่มีงูเห่า) เองก็ทำอะไรไม่ได้มากนักกับ ส.ส.ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า สิ่งนี้ควรนำไปสู่การทบทวนไปถึงยุทธศาสตร์ที่พรรคประชาชาติใช้ในการตัดสินใจคัดเลือกผู้สมัครที่ผ่านมา ที่ความชัดเจนในจุดยืนและอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยของผู้สมัครมีความสำคัญน้อยกว่าการขอเพียงให้พรรคชนะการเลือกตั้ง แม้คะแนนนั้นจะมาจากระบบอุปถัมภ์และอิทธิพลที่หยั่งรากลึกของผู้สมัครคนนั้นๆ ก็ตาม

ทนายแวยูแฮ (กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 นราธิวาส พรรคประชาชาติ มีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “สุดท้ายผมขอยืนยันว่า การออกเสียงในระบบรัฐสภาถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญก็จริง แต่การรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์และนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน ถือเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด”

ในส่วนคนพื้นที่ที่เชียร์พรรคประชาชาติก็กำลังฟังผู้บริหารพรรคจะเอาอย่างไรกับท่าน ส.ส.รายนี้ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติก็ได้แสดงความคิดเห็นโดยจะนำเรื่องนี้พิจารณาในพรรค แต่ฟังแล้ว คงทำอะไรไม่ได้และคงปล่อยให้สังคมตัดสินตัวของเขาเอง

โดยท่านกล่าวว่า การออกเสียงถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญก็จริง แต่ต้องรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์และนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน

ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ 1 คน ได้รวมฝ่ายรัฐบาลเพิ่มองค์ประชุมเพื่อล้มการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 นั้น

ทั้งที่ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ฝ่ายค้านชนะการลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ด้วยคะแนนเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. 234 คน ไม่เห็นด้วย 230 คน แต่ต่อมาพรรคร่วมรัฐบาลขอนับคะแนนใหม่ แต่องค์ประชุมฝ่ายรัฐบาลไม่ครบองค์

ประเด็นดังกล่าว พรรคประชาชาติมีความเห็นว่า มติที่ออกเสียงลงคะแนนไปแล้วไม่มีข้อสงสัยหรือกระทำมิชอบแต่อย่างใด และประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ประกาศผลมีความสมบูรณ์ จึงเป็นมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชอบแล้ว ดังนั้น การประชุมสภาในวันหลังถัดจากนั้นที่มีสมาชิกบางคนเพิ่มจากที่เคยประชุมครั้งก่อนจึงไม่ถือว่าเป็นการนับคะแนนใหม่ แต่เป็นการประชุมเพื่อลงมติใหม่ซึ่งไม่น่าทำได้เพราะไม่ชอบด้วยข้อบังคับ

พรรคประชาชาติมีนโยบายด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีภารกิจที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน รวมถึงประกาศและคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ด้วย เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ การเอาเปรียบกดขี่ การกระทำทุจริต และความขัดแย้งในสังคมต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช้วิธีการแก้ไขโดยใช้กำลังหรืออำนาจเผด็จการที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย หรือกระทำการใดๆ ให้ประชาชนหวาดกลัวและจำยอม

กรณีที่สมาชิกดำเนินการต่างไปจากมติและนโยบายพรรค ขอเรียนว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 124 ได้บัญญัติ “สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดๆ มิได้”

กรณีที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันให้การคุ้มครองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มากเกิน จนตัดอำนาจการตรวจสอบและถ่วงดุลจากประชาชนและพรรคการเมือง ในกรณีสมาชิกผู้ไม่รักษาอุดมการณ์ และไม่ทำตามนโยบายที่ให้ประชาชน ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนด้อยไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เป็นเรื่องที่ควรจะนำไปเสวนาศึกษาให้กว้างขวางต่อไป และประเด็นที่เกิดขึ้นครั้งนี้ท่านหัวหน้าพรรคให้นำเป็นวาระประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อร่วมกันพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงในการประชุมประจำสัปดาห์ครั้งต่อไปด้วยแล้ว

ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตต่อกรณีปัญหาการลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการใช้อำนาจของ คสช. ในครั้งนี้ ทำไมถึงมีความพยายามให้นับคะแนนใหม่ หากเทียบกับกรณีที่ฝ่ายค้านโดยพรรคประชาชาติและพรรคอนาคตใหม่ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาโครงการ EEC รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งรัฐบาลชนะด้วยมติ 231 ต่อ 223 พรรคฝ่ายค้านก็ไม่ได้นำมาเป็นประเด็นในการขอนับคะแนนใหม่อย่างที่รัฐบาลทำในครั้งนี้ จึงน่าคิดว่า ทำไมรัฐบาลถึงไม่ยอมให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา ม.44 และในวันที่ 3 ธันวาคม ก่อนหน้า 1 วัน พล.อ.ประยุทธ์นายกรัฐมนตรีมีการจัดเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเล็กๆ มีการประกาศชัดเจนในเรื่องนี้ ทำให้สงสัยได้ว่า คำสั่ง คสช.ที่ผ่านมานั้น มีการแอบแฝงผลประโยชน์ใดหรือไม่ นี่จึงเป็นสิ่งที่ควรต้องตรวจสอบ

นี่คือส่วนหนึ่งกระแสหลังอนุมัติ ซูสารอ โหวตสวนมติพรรค และคงเป็น Talk of the Town ใน “งูเห่าประชาชาติ” ท่านนี้ยาวอีกหลายวัน ซึ่งเป็นผลของฤทธิ์รัฐธรรมนูญ 2560 มรดก คสช.