ธงทอง จันทรางศุ | สติ๊กเกอร์หลัง “รถ”

ธงทอง จันทรางศุ

เคยสังเกตกันบ้างไหมครับว่ารถยนต์ที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนในบ้านเรามีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ผิดแผกแตกต่างจากรถยนต์ประเทศอื่น

นั่นคือความนิยมที่จะมีสติ๊กเกอร์ติดอยู่กระจกด้านหลังของรถ หรือบางทีก็ติดลงบนตัวถังของรถเลยทีเดียว

วิธีปฏิบัติอย่างนี้บ้านอื่นเมืองอื่นผมไม่ค่อยได้พบเห็นนะครับ

ถ้าจะจัดกลุ่มจำแนกพวกกันแล้ว ผมอาจกล่าวว่าสติ๊กเกอร์เหล่านี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองสามหมวด

หมวดแรกเป็นกลุ่มเรื่องความเชื่อ ความเคารพศรัทธาเลื่อมใส

เช่น ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ภายหลังเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาบพิตร เมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2559 เราจะเห็นสติ๊กเกอร์ที่เขียนว่า “ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป” บ่อยครั้งตามท้องถนน

นอกจากนั้น ที่ผมพบเห็นบ่อยครั้งและเป็นประเด็นทางศาสนาก็มีสติ๊กเกอร์เจ้าคุณพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ อวยชัยให้พรต่างๆ

และที่หนาตาที่สุดก็ได้แก่สติ๊กเกอร์ที่ไม่มีข้อความอะไรมากไปกว่าชื่อ “วัดท่าไม้” เป็นตัวหนังสือสีขาวเรียบๆ บางทีเป็นแบบตัวหนังสือสีเหลืองบ้างเหมือนกัน

ผมเข้าใจเอาเองว่าผู้ที่ติดสติ๊กเกอร์วัดท่าไม้เช่นนี้อย่างน้อยคงเคยไปทำบุญที่วัดนี้มาแล้วบ้าง

ส่วนการติดสติ๊กเกอร์นั้น เจ้าของรถจะติดเองหรือทางวัดเมตตาอนุเคราะห์ติดให้ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

นึกเดาต่อไปว่า ถ้าทางวัดเป็นคนมาติดให้ เจ้าของรถก็คงเกรงใจอะไรสักอย่าง เลยไม่กล้าลอกออก

ผมจึงได้เห็นสติ๊กเกอร์วัดท่าไม้วิ่งเกลื่อนเมืองอยู่จนทุกวันนี้

สติ๊กเกอร์ที่เกี่ยวกับความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่เห็นบ่อยไม่น้อยคือสติ๊กเกอร์ที่บอกว่ารถคันนี้สีโน้นสีนี้ซึ่งไม่ตรงกับสีของรถจริงๆ

เช่น คนที่ใช้รถสีดำ แต่กลับติดสติ๊กเกอร์ไว้ที่ท้ายรถว่า รถคันนี้สีชมพู

เคยสอบถามว่าทำไมถึงต้องติดสติ๊กเกอร์แบบนี้ ก็ได้ความว่าเจ้าของรถไปดูหมอที่ไหนมาสักแห่งหนึ่ง แล้วหมอดูแนะนำว่าให้ใช้รถสีชมพูแล้วจะเป็นสวัสดิมงคล มีโชคมีชัย แต่ในชีวิตจริงนั้นเจ้าตัวใช้รถสีดำ ครั้นจะเปลี่ยนสีรถทั้งคันโดยการพ่นสีใหม่ก็เป็นการสิ้นเปลืองมาก จึงแก้เคล็ดโดยไปซื้อสติ๊กเกอร์มีข้อความอย่างที่ว่ามาติดไว้ท้ายรถ

เทวดาหรือเทพเจ้าแห่งโชคเคราะห์ก็เชื่อเอาง่ายๆ ว่ารถคันนี้สีชมพูแล้ว

ง่ายเป็นบ้า

แต่เอาเถิด เจ้าตัวเขาบอกว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ รถก็ไม่ใช่รถเรา เงินซื้อสติ๊กเกอร์ก็ของเขา นิ่งเสีย แล้วจะปลอดภัยนะครับ

สติ๊กเกอร์กลุ่มที่สองเป็นสติ๊กเกอร์ไปในทางเฮฮาฮ้าไฮ้ ข้อความหรือรูปภาพเป็นไปในทางสนุกสนานรื่นเริง

เช่น เขียนว่า “อย่าโบกเลยจ่า พกมาแค่ 200”

อันนี้คงตั้งใจบอกคุณตำรวจที่ยืนอยู่ข้างทางโดยเฉพาะ หรือบางทีก็เขียนล่อแหลมต่อความเข้าใจ เช่น บอกว่า “อยากสบายนั่งรถทัวร์ อยากเสียตัวนั่งรถพี่”

แหม! เขียนเสียอย่างนี้ คนแย่งกันขึ้นรถไม่ต้องต่อคิวกันยืดยาวหรือ

สติ๊กเกอร์กลุ่มสุดท้ายที่ผมจำแนกแยกแยะเอาเองคือสติ๊กเกอร์ที่บอกสังกัดหรือบอกสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของรถกับสถาบัน หน่วยงานหรือโรงเรียนต่างๆ

หรือบางทีก็ไปไกลจนกระทั่งบอกถิ่นฐานบ้านเกิดของเจ้าของรถ

เช่น สติ๊กเกอร์ที่ติดท้ายรถว่า “พวกแปดริ้ว” อันมีความหมายว่าเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา

สติ๊กเกอร์ที่บอกชื่อมหาวิทยาลัย เขียนเป็นชื่อเต็มบ้าง ชื่อย่อบ้าง เขียนด้วยตัวหนังสือภาษาไทยบ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง

สติ๊กเกอร์ที่บอกชื่อรุ่นหรือบอกคำขวัญประจำโรงเรียน เช่น สติ๊กเกอร์ที่เขียนแต่เพียงว่า “คณะเรา” ถ้าเราไม่ใช่ศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์หรือมีพี่น้องอยู่โรงเรียนที่ว่า ก็แทบจะไม่เข้าใจเลยว่าเขาหมายถึงโรงเรียนไหนกันแน่

กล่าวเฉพาะสติ๊กเกอร์กลุ่มสุดท้ายหรือกลุ่มที่สามนี้ ผมเห็นว่ามีความหมายสำคัญที่บอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสังคมไทยของเรา

สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากสติ๊กเกอร์เหล่านี้คือการอยู่ในเมืองไทยต้องมีสังกัด มีพรรคพวกจึงจะปลอดภัยและได้รับความสะดวกสบาย

การได้เรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีรุ่นพี่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงราชการและภาคเอกชน ย่อมเป็นความภาคภูมิใจของรุ่นน้องที่ได้เดินตามรอยรุ่นพี่

การอยู่ในสถาบันการศึกษาใดก็ตามในรุ่นเดียวกัน ปีเดียวกัน เป็นหลักประกันว่าเราไม่ได้อยู่หัวเดียวกระเทียมลีบ

เมื่อเรามีโอกาสเช่นว่านั้นแล้วเราก็ไม่ควรเก็บความภูมิใจเอาไว้เงียบๆ คนเดียว แต่อย่างน้อยควรประกาศไว้ที่ท้ายรถของเราโดยใช้สติ๊กเกอร์เหล่านี้เป็นเครื่องมือสื่อสาร

ในเมืองไทยของเรา ถ้าไม่ปฏิเสธความจริงก็ต้องยอมรับว่า สังคมแบบอุปถัมภ์ยังมีบทบาทมากในชีวิตคนไทย ไม่เช่นนั้นคนเขาจะขวนขวายไปเรียนหลักสูตรโน้นหลักสูตรนี้ที่มีตัวย่อสารพัด ให้ได้ผูกสัมพันธ์โยงใยกันเป็นใยแมงมุมไปตลอดทั้งประเทศหรือ

ผมเคยได้ยินคุณพ่อคุณแม่บางท่านที่ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็ก เมื่อลูกกลับมาเมืองไทยแล้วก็ต้องพยายามให้ลูกได้ไปเรียนหรือไปเข้าหลักสูตรอะไรทำนองนี้เพื่อจะได้นับญาติมีเพื่อนมีฝูงกับใครเขาบ้าง

ลำพังเพื่อนฝรั่งที่อยู่เมืองนอกช่วยอะไรไม่ได้หรอกครับที่เมืองไทย

แต่ความจริงที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็มีอีกด้านหนึ่งของเหรียญเหมือนกัน ใช่ครับ ผมกำลังหมายถึงคนที่ไม่มีเส้นสาย ไม่รู้จะนับรุ่นกับสถาบันไหนที่มีชื่อเสียง ไม่เคยไปงานเลี้ยงรุ่น เพราะรุ่นเดียวกันก็ไม่มีสตางค์เสมอกันหมด คนจำนวนนี้แหละที่เป็นคนหมู่มากของประเทศ

ในขณะเดียวกันกับคนที่ติดสติ๊กเกอร์นับญาติแบบที่ว่ามาข้างต้นเป็นประชากรข้างน้อย แต่ทรงอิทธิพลมากเหลือเกิน

ที่ผมพูดมาเป็นคุ้งเป็นแควอย่างนี้ คงมีท่านผู้อ่านหลายท่านเหมือนกันชี้นิ้วมาที่ผมแล้วบอกว่า ผมก็เป็นหนึ่งในประชากรฝ่ายข้างน้อยนั้น

จำเลยรับสารภาพหน้าชื่นตาบานว่าใช่ครับ เพียงแต่จำเลยอยากจะถามใครก็ได้ให้ช่วยบอกทีเถิดว่า เราจะต้องติดสติ๊กเกอร์แบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่

หรือใจคอเราจะเป็นอย่างนี้กันไปตลอด ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอีกแล้ว

ผมจะได้ลงทุนตั้งร้านขายสติ๊กเกอร์ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป

ดีไหมครับ