ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | โล่เงิน |
เผยแพร่ |
เอ๋ ปารีณา ยาก “Let It Be” รุกฟัน “ส.ส.-ส.ว.-ขรก.” ฮุบ ส.ป.ก. ตร.ป่าไม้เปิดปฏิบัติการนำที่คืน
สัปดาห์สุดหฤโหดของ “เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ หลังถูกกรมป่าไม้เข้าแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้ดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติ กรณีตั้งฟาร์มไก่ “เขาสนฟาร์ม” ที่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ขนาดมหึมา 1,700 ไร่เศษ
ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ได้เข้ารังวัดที่ดินแล้ว ตรวจพบการรุกล้ำป่าสงวนฯ ที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำภาชี 30 ไร่ และพื้นที่ในแนวเขตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้อีก 16 ไร่ รวมเนื้อที่ 46 ไร่
ทั้งยังมีผืนดินบางส่วนของฟาร์มที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมร่วม 682 ไร่
ยังไม่จบแค่นั้น นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ 13 ส.ส.จากพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านรวม 6 พรรค ประกอบด้วย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และพรรครวมพลังประชาชาติไทย
หลังพบว่ามีผู้ถือครองที่ดินประเภท ภ.บ.ท.5 และที่ดิน ส.ป.ก. กันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ ส.ส.เหล่านี้ต่างขาดคุณสมบัติสิทธิครอบครองที่ดิน เพราะมีเอกสาร ภ.บ.ท.5 หรือภาษีบำรุงท้องที่ (ภาษีดอกหญ้า) เท่านั้น
ส่วนเอกสารเกี่ยวกับที่ดินที่กลุ่มคนเหล่านี้นำมาอ้างสิทธิครอบครองนั้นเป็นเพียงเอกสาร ภ.บ.ท.5 อีกนั่นแหละ
นายศรีสุวรรณบอกว่า ปัจจุบันมีคำสั่งกรมการปกครองปี 2551 ที่สั่งให้ยกเลิกการเก็บภาษี ภ.บ.ท.5 ไปแล้ว เพราะพื้นที่ส่วนมากเป็นป่าสงวนฯ จึงเป็นปัญหาการแจ้งเสียภาษีที่แจ้งกันเองโดยไม่รังวัด ซึ่ง ส.ส.บางรายครอบครองนับพันไร่
ส่วนที่ดิน ส.ป.ก.มีกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะมีสิทธิยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินปฏิรูปต้องมีอาชีพเป็นเกษตรกรเป็นหลัก และมีหลักเกณฑ์ว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งคือ
1.มีฐานะยากจน คือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อคนต่อปี
2. ผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม
และ 3.เป็นบุตรของเกษตรกรที่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักเท่านั้น
ก่อนนี้ ชาวบ้านหมู่ 9 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี หนึ่งในเจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำเข้าร้องทุกข์ตำรวจป่าไม้ พร้อมเปิดเผยว่า พ่อได้ยกที่ดินให้ตัวเองและน้องสาวกว่า 50 ไร่ให้เป็นผู้ครอบครองเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ปรากฏว่าถูกนายทวี ไกรคุปต์ อดีต รมช.คมนาคม พ่อ น.ส.ปารีณา อ้างเป็นที่ดินตนเอง พร้อมบุกรุกล้อมรั้วปลูกต้นมะพร้าวไปกว่า 30 ไร่ โดยพ่อตนได้ใช้ที่ดินผืนนี้ทำมาหากินมากว่า 50 ปี
ทั้งนี้ ได้นำเอกสารหลักฐาน ภ.บ.ท.5 เสียภาษีตั้งแต่ปี 2517-2557 และเอกสารการตรวจสอบของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 จ.ราชบุรี ซึ่งยืนยันครอบครองที่ดินตามโครงการสำรวจถือครองเพื่อการจัดการที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ และเอกสารกรมป่าไม้ที่มีลายเซ็นเจ้าหน้าที่กำกับ เคยแจ้งความไว้ที่ สภ.สวนผึ้ง
และได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้า แม้เจ้าหน้าที่ได้ประสานให้นายทวีเข้ามาไกล่เกลี่ยแต่ไม่ยอมมา
เกี่ยวกับปัญหานี้ ในฐานะตำรวจป่าไม้ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ ผบก.ปทส. เปิดเผยว่า ได้ทำเรื่องส่งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขออนุมัติการสอบสวนแต่เพียงฝ่ายเดียว พร้อมเดินหน้าสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน และอื่นๆ
โดยดำเนินการควบคู่ไปกับกรณีที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ไปแจ้งความกับตำรวจ สภ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ให้ดำเนินคดีกับนายทวี และ น.ส.ปารีณา ฐานบุกรุกป่า
คดีนี้ในส่วนของ บก.ปทส.ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ให้ดำเนินคดีกับ น.ส.ปารีณาและผู้ที่เกี่ยวข้องตามความผิดมูลฐานของกฎหมายที่ดิน, พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ รวม 3 ข้อหา ขณะเดียวกันก็ยังต้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่ในส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินนี้ว่ามีพฤติกรรมปล่อยปละละเลย หรือมีส่วนรู้เห็นให้มีผู้ลักลอบเข้าไปใช้ผืนดินนั้นอย่างผิดกฎหมายหรือไม่
โดยตำรวจจะร่วมมือกับทุกหน่วยงานเร่งนำที่ดินกลับคืนมาอย่างถูกต้องให้เร็วที่สุด ส่วนที่ดินข้อพิพาทนั้นอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของ กก.5 บก.ปทส.แต่อาจพิจารณาตั้งเป็นคณะทำงานร่วมในภายหลังได้
ขณะที่โทษสูงสุดของความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนฯ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ กำหนดไว้ตั้งแต่จำคุก 4-20 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-2,000,000 บาท
ปัญหานี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตร สังกัดพรรคเดียวกับ น.ส.ปารีณา ไปที่ฟาร์มไก่เขาสนฟาร์ม เพื่อรับมอบที่ดิน ส.ป.ก.คืนจาก ส.ส.หญิงราชบุรี พร้อมได้บอกว่า น.ส.ปารีณาได้ทำหนังสือแจ้งว่าขอส่งที่ดินคืนให้กับ ส.ป.ก.แล้ว จึงต้องทำตามกฎหมาย
ยืนยันว่าไม่ได้ละเว้นไม่ปฏิบัติ หรือไม่บังคับใช้กฎหมายกับใครคนใดคนหนึ่ง
แต่หากว่าไม่ยอมคืน จึงจะใช้มาตรา 44 บังคับใช้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคมเป็นต้นไป น.ส.ปารีณาจะไม่มีสิทธิ์เข้ามาทำอะไรในพื้นที่บริเวณนี้ได้อีก แต่จะให้เวลาขนย้ายสัตว์และสิ่งของภายใน 7 วัน จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบเข้าตรวจสอบ
“สำหรับที่ดิน ส.ป.ก.กว่า 682 ไร่ที่ น.ส.ปารีณาอ้างว่าได้รับมอบต่อมาจากนายทวีเมื่อช่วงประมาณปี 2548-2549 และได้ทำหนังสือขอเข้าโครงการปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. แต่เจ้าหน้าที่พบว่า น.ส.ปารีณาไม่ใช่เกษตรกร ไม่มีคุณสมบัติ ดังนั้น ส.ป.ก.จึงทำหนังสือแจ้งให้ น.ส.ปารีณาคืนที่ดินให้ ส.ป.ก.ภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับหนังสือที่แจ้ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการที่ดินชุมชนต่อไปตามนโยบายของ คสช.เพื่อนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย”
ส่วนการยึดคืนที่ดิน ทาง ส.ป.ก.จะพิจารณาการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย ที่กำหนดแนวทางการตรวจสอบและยึดคืนที่ดิน ให้เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ดำเนินการปิดประกาศในที่ดินที่ตรวจสอบ และให้ผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวยื่นคําร้องแสดงสิทธิในที่ดินต่อสํานักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดใน 15 วัน นับแต่วันปิดประกาศ
เพื่อให้ ส.ป.ก.ตรวจสอบหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเสร็จภายใน 30 วัน
หากผู้ครอบครองที่ดินไม่มายื่นแสดงสิทธิในที่ดิน ทาง ส.ป.ก.จะสั่งให้ผู้ครอบครองที่ดิน รื้อถอนทําลายสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ภายใน 30 วัน หรือสั่งให้ออกจากที่ดินนั้นตามเวลาที่กําหนด และงดเว้นกระทําการใดๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจรังวัดที่ดิน ก่อนเร่งนำมาจัดให้แก่เกษตรกรต่อไป
ขณะที่สิ่งปลูกสร้างใดที่ไม่เป็นอุปสรรคกับการปฏิรูปที่ดิน ตกเป็นของ ส.ป.ก.เพื่อใช้ปฏิรูปที่ดินการเกษตร
ท้ายที่สุด ประเด็นเรื่อง “บุกรุกป่า” ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยมีตัวอย่าง ยกข่าวดังเมื่อปี 2561 ที่เกิดกระแสต่อต้าน “หมู่บ้านป่าแหว่ง” หรือโครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ พื้นที่กว่า 147 ไร่ ที่กลายเป็นเรื่องตำหนิหน่วยงานราชการไทย ที่ทั้งเสียงบประมาณ เสียเวลา และเสียหน้า
ทิ้งคำถามว่า ผลสรุปของฟาร์มไก่เขาสนฟาร์มครั้งนี้ จะลงเอยอย่างไรต่อไป