สมหมาย ปาริจฉัตต์ : การศึกษาเพื่อคนพิเศษ คำสอนสมเด็จย่า (4)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รับฟังเรื่องเล่าสภาพจริงของสถานศึกษาเพื่อคนพิการและขาดโอกาสจากผู้บริหารโรงเรียน 4 แห่งจบลง กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ต่างแยกย้ายกันไปรวมกลุ่มทำการบ้านตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายสำหรับวันรุ่งขึ้น เดินทางไปดูของจริง แบ่งออกเป็น 4 สายตามความถนัดและความสนใจ

สายเอ เป้าหมายแรก โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น ต่อด้วยโรงเรียนกาวิละอนุกูล สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและพิการซ้อน

ช่วงบ่ายไปต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ซึ่งเปิดเป็นศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลด้วย นำโดยนางสาวสุรภี โสรัจจกุล ครูใหญ่โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา กทม. นายนุชากร มาศฉมาดล ผู้แทนองค์กรท้องถิ่น รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และนายวิรยะ ฤๅชัยพานิชย์ นักการศึกษารุ่นใหม่ภาคพลเมือง

สายบี จุดแรก โรงเรียนศรีสังวาลย์ เชียงใหม่ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ภาคบ่ายต่อที่โรงเรียนสันทรายวิทยาคม สำหรับนักเรียนเรียนรวม นำโดยว่าที่ร้อยตรีไพศาล ประทุมชาติ อดีตผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผศ.กวิสรา รัตนกร อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายจงภพ ชูประทีป อดีตศึกษานิเทศก์ และผม

สายซี เริ่มที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 สำหรับเด็กพิการทุกประเภท ภาคบ่ายไปต่อที่โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน นำโดย รศ.เอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธาน กพฐ. นายพิศณุ ศรีพล ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี

สายดี ภาคเช้าไปที่โรงเรียนบ้านริมใต้ สำหรับนักเรียนเรียนรวม ต่อที่หน่วยบริการอำเภอแม่ริม สำหรับเด็กพิการทุกประเภท บ่ายไปที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่

สำหรับเด็กด้อยโอกาส นำโดย แพทย์หญิงเบญจพร ปัญญายง จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก ดร.ศรินธร วิทยะสิรินันท์ ครูผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาพิเศษ โรงเรียนเซนต์แอนดรูว์ส กทม. นางบุสบง พรหมจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และนายพิทักษ์ โสตถยาคม รองผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ.

 

ทุกสายเรามีข้อตกลงร่วมกันและกับทางโรงเรียนว่า

1. งดการจัดทำป้ายต้อนรับที่ทำให้สิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ หากจะทำเป็นภาพแสดงบนจอทีวี หรือ Projector น่าจะเพียงพอสำหรับพิธีการ

2. ไม่มีความจำเป็นที่สถานศึกษาแต่ละแห่งจะต้องจัดหาหรือเตรียมของที่ระลึกเพื่อมอบให้คณะผู้เยี่ยมชมศึกษาดูงาน หากสถานศึกษาใดมีผลงานนักเรียนเพื่อจำหน่าย ให้ทำเป็นนิทรรศการผลงานสินค้าของนักเรียนเพื่อการจำหน่าย เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมศึกษาดูงานได้มีโอกาสสนับสนุนผลงานนักเรียน

3. การจัดเตรียมอาหารกลางวันสำหรับคณะที่เยี่ยมชมศึกษาดูงานขอให้จัดแบบประหยัด หากงบประมาณของ สพฐ.มี ไม่ควรไปรบกวนงบประมาณของสถานศึกษา

และนัดหมายกันว่า เมื่อเสร็จภารกิจของแต่ละสายแล้ว สรุปรวบรวมประเด็นสิ่งที่ได้พบเห็น ได้ยิน เจออะไรดีหรือยังไม่ดี เก็บเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังในที่ประชุมสัญจรนัดพิเศษวันต่อมา

 

ครับ ทุกสาย พบเรื่องราวทั้งการจัดการศึกษา การดำเนินชีวิตของครู นักเรียน ที่น่าชื่นชม ยกย่องยินดี มีเรื่องเล่าเคล้าอารมณ์ น่าเศร้าสะเทือนใจ จากความมุมานะ ความสำเร็จของนักเรียนพิการหลากหลาย

ขณะเดียวกันได้สัมผัสความรู้สึกที่ดีๆ ความมีน้ำใจอันงดงามระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่ คู่บัดดี้อุ้มขึ้นรถเข็น ช่วยกันเข็น ช่วยกันยก จากชั้นล่างขึ้นชั้นบน จากชั้นบนลงชั้นล่าง เพื่อเข้าห้องเรียนร่วมกัน เป็นประสบการณ์ร่วมระหว่างนักเรียนปกติกับนักเรียนพิเศษและขาดโอกาส

ทักษะชีวิตจากการปฏิบัติจริงทำให้พวกเขาสั่งสมจิตใจเสียสละเพื่อผู้อื่นตั้งแต่ยังเยาว์วัย จะส่งผลต่อไปในภายภาคหน้า

นักการศึกษาทั้งสี่สายประสบพบเห็น มีมุมคิด รวมทั้งข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐในการพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อคนพิเศษอย่างไร รอฟังจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้วันต่อมา

 

ส่วนสายบีที่ผมเกาะท้ายไปด้วย เท่าที่เก็บเรื่องราวบางส่วนภายในเวลาจำกัดมาเล่าต่อ เผื่อว่าท่านที่สนใจการศึกษาสำหรับคนพิเศษ มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนด้วยตนเองในวันหน้า เกิดความคิดดีๆ แนวทางส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาของคนพิเศษกันต่อไป

ณ โรงเรียนศรีสังวาลย์ เข้าชมห้อง “สมเด็จย่า” ได้กราบพระรูป ได้อ่านคำสอนทรงประทานไว้

“คนดีของฉันรึ จะต้องเป็นคนที่ไม่พูดปด ไม่สอพลอ ไม่อิจฉาริษยา ไม่คดโกง และไม่มีความทะเยอทะยานอย่างบ้าๆ แต่พยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีในขอบเขตของศีลธรรม” (จากหนังสือ “ดั่งสายธาร ศรีนครินทร์แห่งแผ่นดิน”)

จากตัวเมืองเชียงใหม่ผ่านมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สู่อำเภอสันทราย ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก่อนดูการดำเนินงานทั่วบริเวณ นางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการ ครู นักเรียนหญิง-ชาย และพี่เลี้ยงเด็ก รอต้อนรับคณะผู้มาเยือนด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส

โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่จัดตั้งเมื่อ 26 สิงหาคม 2544 ภายใต้โครงการใต้ร่มพระบารมีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในศุภมงคลวาระเสด็จพระราชสมภพครบ 100 พรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม 2543

เป็นโรงเรียนการศึกษาพิเศษเฉพาะความพิการ ให้บริการนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ จัดการเรียนการสอนแบบสหศึกษา รับทั้งนักเรียนประจำและไป-กลับ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพสาขาเกษตรกรรมและคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และเรียนร่วมในสายสามัญและสายอาชีพ

“ปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนทั้งสิ้น 303 คน มาจาก 24 จังหวัดทั่วประเทศ ครูและบุคลากร จำนวน 90 คน ในจำนวนนี้เป็นพี่เลี้ยงเด็กพิการ 22 คน”

ผู้บริหาร ครู นักเรียน พี่เลี้ยง กว่า 400 ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างไร ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและความหมาย ต้องฟังผู้อำนวยการหญิงแกร่งเล่าต่อ