ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
ขอบคุณคำถามการประกวดนางงามจักรวาลที่ทำให้คนไทยทุกคนลองสมมุติตัวเองเป็น “ฟ้าใส” แล้วจินตนาการว่า ถ้ามีคนมาถามเราในคำถามเดียวกันกับฟ้าใส เราจะตอบว่าอย่างไร?
แล้วมันก็สนุกมาก เพราะมีคนลองตอบคำถามนี้ในแง่มุมต่างๆ
หน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ก็ลองตอบคำถามนี้จากแง่มุมของนักสิทธิมนุษยชนมาให้เราได้อ่านกัน กลายเป็นชั่วขณะแห่งการสนทนา ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันเรื่อง “ความเป็นส่วนตัว” หรือ privacy กับ “ความมั่นคง” หรือ security กันอย่างเข้มข้น
จริงๆ privacy กับ seciruty ก็เหมือนกับเรื่องเสรีภาพกับความมั่นคง ที่ฝ่ายรัฐจะอ้างว่า ถ้าอยากมีความมั่นคงปลอดภัย มันก็ต้องแลกมาด้วยการที่พลเมืองต้องยอมมีเสรีภาพน้อยลงเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เช่น หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 ในอเมริกา อเมริกันชนที่ปกติจะเทิดทูนเสรีภาพเหนือสิ่งอื่นใด แต่ในนามของการป้องกันการก่อการร้ายก็เริ่มคิดว่า เออ…เราจะยอมให้รัฐบาลมีกฎหมายที่สามารถสอดแนมข้อมูลส่วนบุคคลของเราได้มากขึ้นดีไหม
ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถล้วงข้อมูลในอินเตอร์เน็ต อ่านอีเมลของประชาชนได้ดีไหม?
พวกผู้ก่อการร้ายจะได้ถูกจับได้ก่อนจะลงมือทำอะไร อย่างนี้เป็นต้น
มีแม้กระทั่งความพยายามเสนอกฎหมายให้เพิ่มข้อมูลประชาชนในบัตร ID แล้วอนุญาตให้รัฐนำข้อมูลเหล่านั้นไปเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลรัฐบาลกลาง
แต่โชคดีที่ฝ่ายโปรเสรีภาพ และ “ความเป็นส่วนตัว” ของประชาชนต้านทานได้สำเร็จ
หรือบางทีก็อ้างว่า ประชาชนต้องให้ข้อมูลกับรัฐมากกว่านี้ ทำ BioMetric ID ดีไหม จะได้ป้องกันการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายของพวกต่างด้าวไง
นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่รัฐมักอ้างให้ประชาชนสละสิทธิส่วนบุคคล สละเสรีภาพ เพื่อแลกมากับสิ่งที่รัฐบอกว่าเป็นความปลอดภัย เป็นผลประโยชน์ของชาติ เป็นความมั่นคงของพวกเราทุกคนนะ
พูดให้หยาบกว่านั้นก็คือ เรื่อง privacy กับ security เป็นการชักเย่อกันทางอำนาจระหว่างความมั่นคงของรัฐบาลกับความมั่นคงของประชาชน
นั่นคือประชาชนจะพยายามให้รัฐมารู้เรื่องราวส่วนตัวของเราให้น้อยที่สุด
ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐดูแลคุณภาพชีวิต สวัสดิการ ความมั่นคง ปลอดภัยของเราให้ได้สูงสุด
พูดง่ายกว่านั้นคือ ประชาชนคิดว่า เราควรให้ข้อมูลกับรัฐเท่าที่จำเป็น minimal สุด แต่ประโยชน์ที่รัฐจะให้เราต้องมาเต็ม ต้อง Maximum
ในรัฐที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาธิปไตยลงหลักปักฐาน
ทั้งไม่ต้องพูดถึงประเทศที่รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐจะไม่สามารถเรียกร้องให้ประชาชนต้องยอมสละข้อมูลส่วนตัวเกินความจำเป็น
ในหลายกรณี ข้อมูลที่ประชาชนมอบให้รัฐบาลท้องถิ่น
ส่วนท้องถิ่นนั้นก็ไม่มีสิทธิเอาไปลิงก์กับฐานข้อมูลของรัฐบาลกลางด้วยซ้ำไป (เว้นแต่จะแอบทำโดยผิดกฎหมาย)
ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ง่ายๆ คือ นโยบายของแต่ละประเทศต่อการมีบัตรประจำตัวประชาชน เพราะในโลกนี้มีทั้งประเทศที่บังคับให้พลเมืองมีบัตรประชาชน
ประเทศที่มีบัตรประชาชน แต่ไม่บังคับ จะไม่มีก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ก็พาสปอร์ต ใบขับขี่ บัตรประกันสังคมใช้อะไรแทนไปก็ได้ กับประเทศที่ไม่มีบัตรประชาชนเลยโดยสิ้นเชิง เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เดนมาร์ก กรณีอังกฤษ มี pass scheme ที่เอาไว้ดูแค่ว่าอายุถึงจะซื้อเหล้าได้หรือยัง อะไรแบบนั้น
หรือญี่ปุ่นใช้บัตรประกันตนในการรักษาพยาบาล เป็นบัตรแสดงตน ซึ่งไม่มีรายละเอียดอะไรมากนอกจากชื่อ-นามสกุล ที่อยู่
ที่สำคัญคือไม่มีรูปถ่ายติดบัตร
นโยบายเรื่องบัตรประชาชนของแต่ละประเทศว่าจะมี มีแต่ไม่บังคับ หรือไม่มีโดยสิ้นเชิง นี้ก็เป็นผลมาจากการตกผลึกของสังคมนั้นๆ เกี่ยวกับเรื่อง privacy กับ security นี่แหละ
สังคมที่หวงและห่วง privacy มากก็จะไม่ค่อยยอมให้มีระบบบัตรประชาชนแบบบังคับ หรือถ้ามีก็ต้องไม่มีข้อมูลที่ไม่จำเป็น เช่น การนับถือศาสนา
อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมาก ให้ความสำคัญกับเรื่อง privacy มาก ก็อาจมีการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชนอย่างละเอียด แต่อยู่ในเงื่อนไขว่า ประชาชนของประเทศเหล่านั้นเชื่อว่าประเทศของตนมีกลไกการปกป้องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มแข็ง
การไว้ใจรัฐบาลตนเองอย่างยิ่งก็อาจเกิดจากการที่เขาไว้ใจตัวเอง คือเชื่อมั่นในฝีมือการเลือกผู้แทนฯ และรัฐบาลของตนเอง เชื่อมั่นในความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม หรือประเทศในอียูก็อาจจะเชื่อมั่นในกลไกของอียูที่จะไม่ยอมให้ประชาชนถูกละเมิดโดยรัฐ แม้รัฐจะมีข้อมูลส่วนตัวของประชาชนอยู่ในมือ
และเพื่อให้เห็นภาพว่ารัฐสามารถทำอะไรกับข้อมูลส่วนตัวของเราได้บ้าง และมันสัมพันธ์กับการสูญเสียอำนาจของเราในฐานะประชาชนอย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น การครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของรัฐยังนำมาซึ่งการหล่อเลี้ยงอำนาจของเผด็จการให้อยู่ยั้งยืนยงโดยประชาชนไม่สามารถต่อกรอะไรได้เลยอย่างไรบ้าง
จะขอยกตัวอย่างกรณี Fatherland card ของเวเนซุเอลา ที่ชวนให้จุกแกมอึ้ง
(ไม่ต้องพูดถึงระบบ social credit ของจีน ที่รัฐรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับประชาชนจนนำมาซึ่งระบบให้คะแนนพฤติกรรม ตัดคะแนนพฤติกรรมของประชาชน มีให้รางวัลคนทำดี ลงโทษคน “ไม่ดี” ที่มีตั้งแต่การห้ามขึ้นรถไฟ นั่งเครื่องบิน ลูกถูกแบนจากการเข้าโรงเรียนอันดับต้นของประเทศ กู้เงินไม่ได้ ฯลฯ)
บัตร Fatherland ของเวเนฯ นั้นเปิดตัวมาในสมัยรัฐบาลมาดูโร่ ทายาททางการเมืองของชาเวซ
เขาออกมาบอกให้ประชาชนพากันไปลงทะเบียนรับบัตรนี้และมันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Build the New Venezuela หรือ “สร้างเวเนซุเอลาใหม่”
และมีคนสมัครถึง 18 ล้านคน คือครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากร
บัตรนี้จะมีข้อมูลตั้งแต่ วัน เดือน ปี เกิด, ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัว พ่อ แม่ พี่ น้อง คู่สมรส, ข้อมูลการทำงาน เช่น เป็นพนักงานบริษัทไหน หรือเป็นข้าราชการ, รายได้, ทรัพย์สินที่ถือครอง, ประวัติทางการแพทย์, รับสวัสดิการหรือผลประโยชน์อะไรจากรัฐอยู่บ้าง, บัญชีโซเชียลมีเดียที่ใช้อยู่
ทำไมคนจึงสมัคร ทั้งๆ ที่ต้องแลกกับข้อมูลส่วนตัวเยอะมาก?
เหตุผลเข้าใจง่ายมาก นั่นก็คือ รัฐได้ออกนโยบายแจกเงินต่างๆ ผ่านบัตรนี้
ถ้าเราไม่มีบัตร เราไม่สมัคร เราก็ไม่ได้
เช่น สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การรับยา เงินเกษียณ อาหาร น้ำมัน ก๊าซหุงต้มต่างๆ – ในบริบทที่เศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้ออย่างรุนแรง หอบเงินไปเป็นล้านก็อาจได้ไข่ไก่ไม่กี่ฟอง แถมยังไม่มีให้ซื้อด้วยซ้ำไป
เมื่อเป็นอย่างนี้ เมื่อประชาชนต้องการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ก็ต้องมีบัตร Fatherland นี้เสียก่อน
แถมรัฐบาลมีการโอนเงินรางวัลให้ผู้ถือบัตรถ้าไปร่วมทำกิจกรรมอาสาช่วยเหลือรัฐบาล
ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น civic duties (นึกถึงการทำความดี หน้าที่พลเมืองดีแล้วได้คะแนนจากโรงเรียนหรือมหา”ลัยเลย)
หรือโอนเงินสองดอลลาร์ให้เป็นโบนัสวันแม่สำหรับผู้ถือบัตรที่มีลูก อันเงินนี้ก็น่าจะเอาไปซื้อไข่ได้สักหนึ่งแผง
คนที่ไม่ยอมสมัครบัตรนี้ เพราะรู้สึกว่ามันละลาบละล้วงข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป บางคนไปโรงพยาบาล หมอก็ไม่ยอมรักษา ไม่ยอมจ่ายยาให้โดยให้เหตุผลว่าคนที่ไม่ยอมสมัครบัตรนี้เป็นพวกไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐในการฟื้นฟูชาติบ้านเมือง
มากไปกว่านั้น ตั้งแต่ปี 2016 ด้วยข้ออ้างของรัฐบาลว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อดอยากหิวโหยอย่างวิกฤตในตอนนี้ รัฐบาลมีนโยบายแจกอาหาร
แต่การจะได้รับอาหารจากรัฐบาลนั้น ประชาชนที่ต้องการรับอาหารต้องมาลงทะเบียนในระบบของรัฐบาล
ซึ่งมีประชาชนร้อยละ 90 ลงทะเบียนรับ จากนั้นรัฐบาลได้จ้างบริษัทจากคิวบามาจัดการชุดข้อมูลเหล่านี้
และกลายเป็นอีกฐานข้อมูลที่รัฐบาลนำมาใช้กับโครงการบัตร Fatherland ในเวลาต่อมา
ที่น่าสะพรึงสุดคือ ในการเลือกตั้งปี 2018 หน่วยงานรัฐมาตั้งจุด scan บัตร Fatherland กันที่หน้าหน่วยเลือกตั้งเลย โดยอ้างว่าเป็นการ “ชิงรางวัล” คือ รัฐบาลอยากให้รางวัลคนมาเลือกตั้ง ก็แค่เอาบัตรไป scan แล้วจะมีการหาผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่จากรัฐบาลนะ ลุ้นๆๆ
แต่ปรากฏว่า นอกจากจะไม่มีรางวัลจากการชิงโชคจริงๆ แล้ว คนที่ไปโหวตเลือกมาดูโร่ ได้รับ sms ขอบคุณที่เลือกเขา
พูดง่ายๆ คือ รัฐบาลใช้บัตรนี้ในการเช็กว่า ใครโหวตให้รัฐบาลบ้าง และใครที่ไม่โหวต
ก็มีสิทธิไปอยู่ในบัญชีดำ อันไม่รู้ว่าจะเผชิญกับอะไร เพราะข้อมูลบัตรนี้ที่ลิงก์ไปทุกอย่าง ตั้งแต่การรักษาพยาบาล อาหาร เงินเกษียณ ก็ทำให้ประชาชนอกสั่นขวัญแขวนว่าจะถูกตัดสิทธิประโยชน์ด้วยเหตุว่าไม่สนับสนุนรัฐบาลหรือเปล่า
ถามว่าไม่เอาบัตรนี้ได้ไหม?
ไม่เพียงแต่คนที่ไม่ยอมสมัครบัตรนี้จะถูกเพ่งเล็ง ในภาวะอดอยากขาดแคลนของเวเนฯ ประชาชนไม่มีทางเลือกที่จะไม่มีบัตร เพราะการมีบัตรอย่างน้อยก็ได้รับปันส่วนอาหาร ปันส่วนน้ำกับน้ำมัน ยารักษาโรค
ขณะเดียวกัน การถือบัตรนี้ก็ทำให้บุคคลที่ต้องการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง หรืออย่างน้อยที่สุดอยากเปลี่ยนรัฐบาล ย่อมกลายเป็นศัตรูที่รัฐสามารถไล่ล่ากวาดล้างได้โดยง่าย
ด้วยการที่บัตรนี้เป็นสมาร์ตการ์ด ที่มีคลื่นวิทยุอันสามารถ track หาข้อมูล โลเกชั่นของผู้ถือบัตร
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประเทศอยู่ในเงื้อมมือของเผด็จการ เศรษฐกิจของประเทศล่มจม เผด็จการไม่สนใจอะไรนอกจากการอยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ สืบทอดอำนาจต่อไปเรื่อย พร้อมๆ กับการไม่เห็นหัวประชาชน ไม่มีความพยายามจะทำให้ประชาชนแข็งแรง กินดีอยู่ดี มีแต่อยากใช้อำนาจสร้างประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง
สิ่งที่เผด็จการทำคือ ใช้อาหารและเงินเล็กๆ น้อยๆ มาล่อประชาชนที่อดอยาก หิวโหย อ่อนแอ
แลกกับการที่พวกเขามอบข้อมูลส่วนตัวไปอยู่ในกำมือของรัฐจนหมดสิ้น
โดยที่รัฐอ้างว่า “บ้าน่า ใครจะเอาข้อมูลพวกนี้ไปทำอะไร รัฐหวังดีไง อยากช่วยเหลือประชาชน นี่มันยุคดิจิตอล สูเจ้าจงมีแอพพ์ มีบัตรสมาร์ตการ์ดที่เอาไว้ให้รัฐคอยเติมเงินให้เถอะ รัฐกำลังช่วยเหลือประชาชนอยู่”
ประชาชนไม่มีทางเลือก ถ้าไม่เอาห้าร้อยบาท พันบาทที่อยู่ตรงหน้าก็อาจจะอดตายก็ต้องเอา
สิ่งที่ตามมาคือ ต่อไปนี้รัฐก็สะกดรอยตามชีวิตได้ทุกอณู เมื่อรัฐคุมประชาชนได้ทุกลมหายใจ สอดแนมข้อมูล การเคลื่อนไหวไว้ได้หมด ไอ้ที่จะโค่นล้มเผด็การก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้
นี่คือตัวอย่างของการที่ประชาชนอย่างเราต้องรู้เท่าทันการชักเย่อระหว่าง privacy กับ security ว่าท้ายที่สุด สองคำนี้เป็นกลลวงของรัฐที่บอกว่า ประชาชนต้องเลือกนะ ระหว่างสองอย่างนี้จะเอาอะไร
แต่อันที่จริงแล้ว privacy กับ security มาด้วยกัน ถ้า privacy ของประชาชนได้รับการคุ้มครอง ประชาชนก็จะมี security เพราะคำว่าความมั่นคงนี้ มันควรหมายถึงความมั่นคงของประชาชน ไม่ใช่ของรัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลเผด็จการ
และให้รู้ไว้เถอะว่า มีแต่รัฐบาลเผด็จการเท่านั้นแหละที่เอาเรื่อง “ความมั่นคง” มาเรียกค่าไถ่ประชาชนแล้วสั่งให้เราจ่ายเป็น privacy ของเรา
เชิงอรรถ
Fatherland card ของเวเนซุเอลา มีไทม์ไลน์ดังนี้
ปี 2008 อดีตประธานาธิบดีชาเวซส่งคนไปจีนเพื่อศึกษาเรื่องระบบบัตรประชาชน
ปี 2009 Anthony Daquin ที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรมถูกเรียกค่าไถ่ หลังจากออกมาเคลื่อนไหวว่านโยบายบัตรประชาชนของรัฐบาลจะนำมาซึ่งการละเมิดข้อมูลส่วนตัวของประชาชน
ปี 2013 ชาเวซตาย มาดูโร่ทายาททางการเมืองของเขาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน
ปี 2014 ราคาน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลักของเวเนฯ ตกต่ำ เศรษฐกิจดิ่งลงเหว
ปี 2016 มาดูโร่เปิดตัวบัตรปิตุภูมิ หรือ Fatherland card (Canet de la Patria) และขอบคุณรัฐบาลจีนสำหรับความช่วยเหลือ
ปี 2017 รัฐบาลมาดูโร่จ้างบริษัท ZTE ซึ่งเป็นบริษัทจากจีนมาทำดาต้าเบสสำหรับบัตร Fatherland โดย ZTE ทำการปรับปรุงระบบ ฐานข้อมูลทั้งหมด โดยร่วมมือกับบริษัทเทเลคอมมูนิเคชั่นของรัฐ คือ Cantv
ปี 2018 มีการเลือกตั้งใหม่ มาดูโร่ใช้บัตร Fatherland ในการบันทึกว่า ผู้ถือบัตรนี้ไปเลือกตั้งใครบ้าง
ต่อมาเขาประกาศให้การเข้าถึงเงินบำนาญและการได้รับการอุดหนุนเชื้อเพลิงทำได้โดยผ่านบัตร Fatherland เท่านั้น
https://www.reuters.com/investigates/special-report/venezuela-zte/