พิสูจน์กระแสปรับ ครม. ความเป็นไป “ได้-ไม่ได้” “บิ๊กตู่” เปลี่ยนม้ากลางศึก? กับเสียงท้าทายจาก ปชป.

ควันหลงภายหลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นด้วยให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากประกาศคำสั่ง คสช.และหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44

ด้วยเสียง ส.ส. 244 ต่อ 5 งดออกเสียง 6 โดยมี 10 ส.ส.ฝ่ายค้าน แยกเป็นเพื่อไทย 3 อนาคตใหม่ 2 เศรษฐกิจใหม่ 4 และประชาชาติ 1 แหกมติวิปฝ่ายค้าน แสดงตนอยู่ร่วมเป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล ช่วยรอดพ้นเหตุการณ์สภาล่มครั้งที่ 3 ติดต่อกัน

ผลการลงมติดังกล่าวไม่เพียงก่อแรงกระเพื่อมให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน หากยังส่งผลสะเทือนไปยังภายในพรรคร่วมรัฐบาลเนื่องจากพบว่ามี ส.ส.ประชาธิปัตย์ 4 คน โหวตสวนทางกับรัฐบาล “เห็นด้วย” ให้ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ดังกล่าว

ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ยังมีอีก 2 คนคือ นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา และนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก ที่ร่วมเป็นองค์ประชุม แต่ไม่ออกเสียงลงมติ

สร้างความไม่พอใจให้กับแกนนำรัฐบาล เนื่องจากได้กำชับแกนนำประชาธิปัตย์ทั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคแล้วระหว่างประชุม ครม. และในงานมีตติ้งพรรคร่วมรัฐบาล

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งขู่ทั้งปลอบ “ถ้าผมอยู่ไม่ได้ พวกคุณก็อยู่ไม่ได้” ถ้าสภาล่มอีกเป็นหนสาม อย่างเบาก็ปรับ ครม. อย่างหนักคือยุบสภา

ในการประชุมสภาวันที่ 4 ธันวาคม ถึงฝ่ายรัฐบาลจะแก้มือได้สำเร็จ จากการช่วยเหลือของ 10 ส.ส.ฝ่ายค้านในการผ่านด่านองค์ประชุม

แต่การมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ 4+2 คน โหวตสวนรัฐบาลในการลงมติ บ่งชี้ว่าประชาธิปัตย์ไม่สามารถคุม ส.ส.ในสังกัดได้

หากปล่อยไว้โดยไม่มีมาตรการลงโทษใดๆ ชัดเจนทั้งในส่วนรัฐบาลและพรรค

อาจส่งผลเสียหายร้ายแรงในอนาคต

สิ่งน่าหวาดหวั่นคือ ในช่วงเวลาไม่ไกลจากนี้

สภาผู้แทนฯ มีวาระชี้เป็นชี้ตาย ต้องตัดสินกันด้วยจำนวนเสียงในสภา ไม่ว่าการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วาระ 2-3 หรือการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งฝ่ายค้านล็อกไว้แล้วช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งก็อีกไม่นาน

รายงานข่าวจากสื่อใหญ่เผยว่า นอกจากเหตุการณ์ในสภาวันที่ 4 ธันวาคม แกนนำรัฐบาลยังเห็นว่า ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์มักปล่อยให้ ส.ส.แสดงความเห็นโจมตีรัฐบาลบ่อยครั้ง การทำงานของรัฐมนตรีประชาธิปัตย์ก็ไม่เข้าขากับพรรคร่วมรัฐบาลทั้งในส่วนกระทรวงเศรษฐกิจ รวมถึงกรณีแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร

จึงเริ่มมีความเห็นพ้องกันในการปรับประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งออกจากรัฐบาลในช่วงต้นปี 2563 หรือภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน

โดยเชื่อว่าถ้าปรับประชาธิปัตย์ออก จะยังมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ไม่ต่ำกว่า 30 คน ซึ่งเป็นกลุ่มใกล้ชิดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย และผู้นำ กปปส. ยังอยู่ร่วมกับรัฐบาลต่อไป

ส่วนการแก้ปัญหาไม่ให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ด้วยเสียงที่หายไปราว 20 เสียง จะถูกทดแทนด้วย ส.ส.บางส่วนของพรรคเศรษฐกิจใหม่ อนาคตใหม่ ประชาชาติ และเพื่อชาติ รวมแล้วประมาณ 10 เสียง

ขณะเดียวกันได้มีการประสานระหว่างแกนนำพลังประชารัฐกับแกนนำเพื่อไทยที่คุ้นเคยกัน ทาบทามให้นำ ส.ส.จำนวนหนึ่งราว 20 เสียงที่ “ฝากเลี้ยง” ไว้ รวมกับบางส่วนที่ไม่กังวลกระแสต่อต้านในพื้นที่ ให้ย้ายมาร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม สูตรปรับ ครม.ดังกล่าว คนในประชาธิปัตย์เชื่อว่าเป็นแค่การปล่อยข่าวโยนหินถามทางเพื่อปรามประชาธิปัตย์ มากกว่าจะมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

เนื่องจากการเจรจาแบ่งครึ่งพรรคการเมืองเพื่อเอาเข้าร่วมหรือออกจากรัฐบาล ไม่ใช่แค่ผิดไปจากกรอบกติกา วัฒนธรรมประเพณีทางการเมืองที่ถือปฏิบัติกันมา ยังเป็นการผิดมารยาทการเมืองร้ายแรง

เป็นการใช้อำนาจและผลประโยชน์เข้าไปแทรกแซงทำลายพรรคนั้นให้แตกเป็นเสี่ยงๆ

นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านอันดับสองมี ส.ส.ในมือ 53 เสียง กล่าวในลักษณะท้าทายว่า

การปรับ ครม.ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หากจะปรับก็ขอให้แจ้งมาเพราะพรรคไม่มีปัญหา พร้อมยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นไม่มีปัญหา

“การปรับ ครม.ยังไม่เกิด หากมีส่วนใดเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ขอให้แจ้งมา พรรคไม่มีปัญหาใดๆ ส่วนตัวพร้อมตัดสินใจได้ทันทีเพราะมีหลักในการตัดสินใจอยู่แล้ว” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุ

ขณะเดียวกันพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย หากจะปรับ ครม.ด้วยสูตรดังกล่าว เพื่อเป็นการลงโทษประชาธิปัตย์ที่ปล่อยให้ ส.ส.แหกมติในสภา แล้วดึงเอา “งูเห่า” จากพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้ามาเสริมแทน

พร้อมเสนอว่า แกนนำรัฐบาลควรพูดคุยปรับความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้ ดีกว่าใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่า อีกทั้งการนำงูเห่ามาร่วมรัฐบาล ก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่าจะเป็นการช่วยเสริมความมั่นคงให้รัฐบาลได้จริง

“ผมไม่เชื่ออย่างนั้น สมมุติเอางูเห่ามาเลี้ยงในบ้าน อาจมีวันที่จะมาฉกเราก็ได้ ซึ่งไม่รู้วันไหน จะปล่อยแบบนั้นไม่ได้ จะทำอะไรต้องคิดระยะยาว หากจะแก้ปัญหาโดยไปดึงคนจากฝ่ายค้านมาอยู่ด้วย ถ้าคนเหล่านั้นถูกขับออกจากพรรคก็ได้ แต่ไม่ใช่อยู่พรรคเดิมแล้วดึงมาอยู่กับเรา จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าเขาจะย้ายมาแน่นอน

การเสริมความเข้มแข็งควรดูคนในบ้านให้ดี ไม่ใช่ไปดึงคนฝ่ายตรงข้ามมาอยู่ด้วย เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาได้จริง เมื่อเขามาได้ เขาก็ไปได้

การแก้ปัญหาระยะยาวคือสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจระหว่างกัน ต้องนิ่งให้มากที่สุด อย่าทำแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยระบุ

ล่าสุดกระแสข่าวการปรับ ครม.เริ่มเบาลง

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ยืนยันจะยังไม่ปรับ ครม.ในตอนนี้ โดยจะรอหลังจากมี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เรียบร้อยแล้ว ค่อยพิจารณาอีกที

โดยนำเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการต่างๆ ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร เป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจว่าจะปรับใครเข้า ใครออก รวมทั้งต้องคำนึงถึงสัดส่วนของแต่ละพรรคด้วย

“ยืนยันว่าไม่เคยพูดในเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี มีแต่สื่อที่นำไปขยายความ ดังนั้น เมื่อฉันไม่ได้พูดก็แสดงว่ามีคนปูด แล้วสื่อก็นำไปขยาย” นายกฯ กล่าว

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวยืนยันสถานะพรรคเศรษฐกิจใหม่ขณะนี้ว่ายังเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว และไม่มีความคืบหน้าในการปิดดีลเจรจาดึงมาร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด

สรุปภายใต้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ยังไม่กล้าผลีผลามปรับ ครม.

กระแสข่าวการเตรียมเขี่ยประชาธิปัตย์ออกครึ่งค่อนพรรคแล้วดึงเอางูเห่าจากฝ่ายค้านเข้าเสียบแทน เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำได้ยาก รัฐบาลอาจได้ไม่คุ้มเสีย ทำให้เสถียรภาพเดิมที่ง่อนแง่นอยู่แล้ว ง่อนแง่นมากขึ้น

ประกอบกับล่าสุด การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรคอนาคตใหม่” จากกรณีกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191 ล้านบาท

สถานการณ์พลิกเข้าข้างรัฐบาล มีแนวโน้มพรรคเสี้ยนหนามพ้นทางไปอีก 1

จึงไม่จำเป็นต้องเสี่ยงปรับ ครม. ดึงงูเห่ามาเสริมทัพ หาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวโดยใช่เหตุ