จิตต์สุภา ฉิน / เทคโนโลยีสำหรับทุกวงการ ใน AWS re : Invent 2019

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Amazon (ที่ไม่ใช่ร้านขายกาแฟในปั๊มน้ำมัน ปตท. แต่เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง amazon.com) เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีระดับ Big Four ของโลก เคียงข้างบริษัทที่เรารู้จักกันดีอย่าง Google, Apple และ Facebook

แม้ว่าในตอนก่อตั้งจะเริ่มขึ้นมาด้วยการเป็นเว็บไซต์ขายหนังสือ เพลง และวิดีโอ

แต่หลังจากนั้น อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของ Amazon ก็แผ่ขยายไปครอบคลุมทุกหมวดหมู่ของสินค้า และได้พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ขายอย่างเดียว แต่ Amazon ยังเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมทางเทคโนโลยีออกมามากมาย

การที่ Amazon มีเทคโนโลยีอันแข็งแกร่งที่สามารถรองรับการเป็นร้านค้าออนไลน์ขนาดใหญ่มหึมาได้นั้น ก็น่าจะทำให้ Amazon คิดว่านอกจากจะขายของอย่างเดียวแล้ว ทำไมถึงจะไม่นำเอาเทคโนโลยีที่ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของบริษัทออกมาให้บริการกับลูกค้าบ้างล่ะ

จึงก่อกำเนิดมาเป็น AWS หรือ Amazon Web Services

บริษัทที่ให้บริการด้านแพลตฟอร์มคลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่ช่วยให้บริษัทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับสตาร์ตอัพที่เพิ่งเริ่ม หรือบริษัทระดับใหญ่ที่ทำธุรกิจมานานแล้ว สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เอื้ออำนวยการปฏิบัติงานได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนทางด้านโครงสร้างและเทคโนโลยีเองใหม่ทั้งหมด

แต่ดำเนินงานอยู่บนแพลตฟอร์มของ AWS ได้เลย ก็ทำให้เติบโตได้รวดเร็วและต้นทุนไม่สูงเท่ากับเริ่มต้นสร้างเองตั้งแต่ศูนย์

 

ซู่ชิงเพิ่งจะมีโอกาสได้บินไปลาสเวกัส เพื่อไปร่วมงาน AWS re:Invent งานใหญ่ประจำปีของ AWS ที่รวมเอานักพัฒนา พาร์ตเนอร์ ลูกค้า จำนวนมากจากทั่วโลกมานั่งฟังข้อมูลอัพเดตที่น่าสนใจของ AWS ข้อมูลส่วนใหญ่ค่อนข้างลงรายละเอียดลึกทางด้านเทคนิค แต่ก็มีหลายอย่างที่พอจะทำให้ผู้บริโภคอย่างเราเห็นว่าเทคโนโลยีทั้งหลายที่ AWS อัพเดตมาน่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างไรบ้าง

เรื่องที่ AWS ประกาศล่าสุดก็คือการจับมือกันกับ NFL หรือลีกอเมริกันฟุตบอล เพื่อใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการแข่งขันกีฬา ทำให้นักกีฬาปลอดภัยมากขึ้น

หนึ่งในเครื่องมือที่จะนำมาใช้ เรียกว่า Digital Athelete หรือนักกีฬาดิจิตอล ซึ่งจะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์จำลองโมเดลผู้เล่น NFL ในสถานการณ์ที่หลากหลาย ประมวลผลข้อมูลจากเกมการแข่งขันต่างๆ ที่ผ่านมา ตำแหน่งของผู้เล่น และปัจจัยอื่นๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้ NFL เข้าใจรูปแบบการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาในสนามมากขึ้น และรู้ได้ว่าจะต้องรักษาอย่างไรให้ตรงจุด

และในอนาคตก็จะพัฒนาไปเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อคาดการณ์อาการบาดเจ็บได้ล่วงหน้าและป้องกันให้ไม่เกิดขึ้น

ส่วนการใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้เพื่อวิเคราะห์หาจุดแข็ง จุดอ่อน ในการลงสนามจริงและนำมาปรับกลยุทธ์การแข่งให้แข็งแกร่งที่สุดนั้นก็เป็นสิ่งที่สององค์กรนี้จับมือทำด้วยกันมาตั้งแต่สองปีก่อนแล้ว

นอกจากการใช้เทคโนโลยีอันทรงพลังของ AWS ในการช่วยนักกีฬาแล้ว วงการดนตรีเองก็จะถูกดิสรัปต์เช่นเดียวกัน

 

เครื่องมืออย่าง AWS Deepcomposer หรือการใช้ AI มาช่วยแต่งเพลงให้มนุษย์ ในที่สุดนั้นก็น่าจะเปลี่ยนแปลงวงการดนตรีในแบบที่เรารู้จักไปไม่มากก็น้อย เพียงแค่เราแต่งและบรรเลงเมโลดี้ลงไปบนคีย์บอร์ด AI ก็จะช่วยแต่งโน้ตที่เหลือของเครื่องดนตรีอื่นๆ ให้มาบรรเลงประสานกันได้ในหลากหลายสไตล์ ทั้งร็อก ป๊อป แจ๊ซ และคลาสสิค

แปลว่าต่อไปนี้การแต่งเพลงจะง่ายยิ่งกว่าเดิม ใช้พลังน้อยกว่าเดิม และใช้คนน้อยกว่าเดิม ซู่ชิงคิดว่าในตอนแรกมันอาจจะไม่สลับซับซ้อนพอที่จะเป็นท่วงทำนองที่ขับเคลื่อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังอะไรได้ขนาดนั้น แต่ดนตรีง่ายๆ อย่างเช่น ดนตรีประกอบโฆษณา จิงเกิล หรือดนตรีสั้นๆ มันก็น่าจะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

และทำให้ภารกิจการแต่งเพลงเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายยิ่งกว่าเก่า

 

นอกจากวงการกีฬาและดนตรีแล้ว วงการแพทย์เองก็ได้รับการพูดถึงในงานนี้ด้วยค่ะ

AWS มีเทคโนโลยีที่สามารถใช้เพื่อถอดคำพูดให้เป็นตัวอักษรได้อยู่แล้ว แต่ Amazon Transcribe Medical ที่เปิดตัวในงานครั้งนี้ ออกแบบมาให้สำหรับหมอโดยเฉพาะ

ตามปกติแล้วหมอจะต้องบันทึกเสียงที่สนทนากับคนไข้ บันทึกเสียงการวินิจฉัยคนไข้ในแต่ละวัน และส่งต่อให้ผู้ช่วยหรือบริษัทที่รับทำนำไปถอดเทปออกมาเป็นตัวอักษรเพื่อให้สะดวกในการจัดเก็บและค้นหาได้ในภายหลัง แต่การที่จะทำตามขั้นตอนนี้ก็ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลา และดีไม่ดีอาจจะถอดออกมาผิด เนื่องจากการใช้คำศัพท์ในวงการแพทย์ที่ผู้ถอดเทปอาจจะไม่ได้คุ้นเคยหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์

Amazon Transcribe Medical เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเปลี่ยนคำพูดให้เป็นตัวอักษรได้ตามเวลาจริง ความเก่งของมันก็คือ หมอที่ใช้งานสามารถพูดได้ด้วยถ้อยคำที่เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องคอยระบุว่าตรงไหนจะต้องเป็นจุด ตรงไหนต้องเป็นคอมม่า สามารถใช้ศัพท์ทางการแพทย์ได้เต็มที่

ทำให้หมอไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องเอกสาร มีเวลาไปดูแลคนไข้ได้มากขึ้น หรือไปพักผ่อนได้มากขึ้น ใช้งานก็ง่ายเพราะใช้ไมโครโฟนของอุปกรณ์อะไรก็ได้ที่มีอยู่แล้ว และส่งขึ้นไปให้ AWS จัดการเรื่องประมวลผลให้ก็พอ

 

สําหรับวงการค้าขายและการเงินก็มีตัวช่วยอย่าง Amazon Fraud Detector ที่จะทำหน้าที่คอยตรวจตราการทำธุรกรรมต่างๆ บนเว็บไซต์ของลูกค้า และบอกได้ว่าธุรกรรมอันไหนดูถูกต้องเหมาะสม อันไหนดูแปร่งๆ มีพิรุธ มีโอกาสที่น่าจะเป็นการหลอกลวง ก็จะรีบแจ้งให้เจ้าของเว็บไซต์ตรวจสอบ

หรือ Contact Lens for Amazon Connect ที่ออกแบบมาให้คอลเซ็นเตอร์ใช้ ทำหน้าที่คล้ายๆ กันกับ Transcribe Medical ตรงที่มันสามารถถอดสคริปต์บทสนทนาระหว่างคอลเซ็นเตอร์กับลูกค้าที่โทร.เข้ามาได้ตามเวลาจริง แต่ไม่ใช่แค่ถอดสคริปต์เฉยๆ เพราะมันจะช่วยวิเคราะห์ด้วยว่าการโทร.เข้ามาแต่ละครั้งเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีช่วงเวลาเงียบบ่อยแค่ไหน พูดซ้อนกันตรงไหนบ้าง อารมณ์แต่ละฝ่ายน่าจะเป็นอย่างไร และช่วยวิเคราะห์ผลลัพธ์ออกมาให้

หลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับ AI ในงานนี้ เกิดขึ้นได้ด้วย Amazon Sagemaker ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ AWS เป็นแพลตฟอร์มแมชชีนเลิร์นนิ่งบนคลาวด์ที่ช่วยให้บริษัทใดก็ตามที่ต้องการพัฒนา AI มาใช้ สามารถทำได้ง่ายๆ เพราะยกหน้าที่การประมวลผลหนักๆ ให้ AWS เอาไปทำหมดแล้ว

จบจากงานนี้ก็ได้เรียนรู้หลายอย่างเลยค่ะ ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ไม่ว่าจะเป็นวงการไหน ธุรกิจไหน อุตสาหกรรมไหนก็ตาม ก็สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อมาปรับเปลี่ยนให้กระบวนการบางอย่างที่เคยยุ่งยากสามารถทำได้ง่ายขึ้น

จึงจำเป็นมากที่เราจะต้องหันมองรอบๆ ตัวในแวดวงที่เราอยู่แล้วตั้งคำถามอยู่อย่างสม่ำเสมอว่ามีเครื่องมือไหนที่จะช่วยให้การทำงานของเราดีขึ้น ทำให้เรานำหน้าคู่แข่ง ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังและมารู้ตัวอีกทีก็เมื่อสายเกินไปค่ะ