ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | อาชญากรรม |
เผยแพร่ |
ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงเรื่องมาตรฐานทางกฎหมาย
สำหรับกรณีที่ส.ส.คนดังพรรคพลังประชารัฐ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่รับหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาลมาอย่างเต็มความสามารถ
กลายเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อพบว่ายื่นบัญชีต่อป.ป.ช.ว่าถือครองที่ดินในจ.ราชบุรีกว่า 1.7 พันไร่ ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นที่ภ.บ.ท.5 และส.ป.ก.
จนเกิดข้อสงสัยว่าการเป็นส.ส. เหตุใดมีคุณสมบัติถือครองของที่ดินเพื่อการเกษตร
เมื่อตรวจสอบก็โป๊ะแตกจนได้ เพราะรุกที่ป่าอยู่ 46 ไร่ ส่วนที่เหลือ 682 ไร่ ก็เป็นที่ส.ป.ก.ที่ไม่มีสิทธิ์ถือครอง
ตามมาด้วยข้อสงสัยการยื่นบัญชีทรัพย์สินที่อาจเข้าข่ายเป็นเท็จ
เสียงเรียกร้องให้ดำเนินคดีตามกฎหมายจึงเกิดขึ้น
แต่กลายเป็นว่านอกจากกรมป่าไม้ที่แจ้งความดำเนินคดีแล้ว ส.ป.ก.ก็ยืนยันว่าดำเนินคดีไม่ได้ ป.ป.ช.เองก็บอกว่าหากยื่นบัญชีทรัพย์สินผิด ก็สามารถยื่นใหม่
ตามมาด้วยคำการันตีจากวิษณุ เครืองาม ปรมาจารย์ด้านกฎหมายของรัฐบาลว่าคืนแล้วไม่ผิด
เหมือนกรณีเขายายเที่ยงของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
เล่นเอาชาวบ้านชัยภูมิที่ถูกดำเนินคดีรุกที่ดินตัวเอง ต้องมองกันตาปริบๆ
จี้สอบฟาร์มไก่ปารีณารุกป่า
จุดแรกเริ่มของคดีที่ดินอลเวง คงต้องย้อนไปช่วงปลายเดือนต.ค. 2562 ที่น.ส.ปารีณา ในฐานะส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ออกมาตรวจสอบที่ดินของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
โดยระบุว่ามีที่ดิน 500 ไร่ จากกว่า 3 พันไร่ในพื้นที่บ้านหนองน้ำใส ต.บางรางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่นางสมพร ซื้อต่อมาจากโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งเมื่อปี 2534 มีลักษณะเป็นนส.2 และภ.บ.ท.5 ซึ่งชาวบ้านต้องการให้เป็นพื้นที่ป่าชุมชน ขณะที่น.ส. ปารีณา เป็นตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือถึงร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ยึดที่ดินดังกล่าวคืน
ขณะที่นางสมพร ระบุผ่านที่ปรึกษากฎหมายว่าหากมีการสำรวจแนวเขตพบว่ามีส่วนไหนที่ล้ำเกินขึ้นมาก็พร้อมยกให้ชุมชน
แม้เรื่องที่ดินของน.ส.สมพรจะจบไป แต่เรื่องอื่นก็ยังไม่จบ
เมื่อการตรวจสอบถูกขยายผลไปยังพื้นที่อื่น โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เป็นผู้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบที่ดิน ภ.บ.ท.5 ในพื้นที่หมู่ 6 รางบัว จอมบึง จ.ราชบุรี กว่า 1,700 ไร่
ต่อด้วยนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) เข้าแจ้งความต่อตร.สภ.จอมบึง จ.ราชบุรี เพื่อให้ขอตรวจสอบฟาร์มไก่ ของน.ส.ปารีณา ในพื้นที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่ระบุว่ามีถึง 1.7 พันไร่
เพราะมีข้อมูลว่าฟาร์มไก่ดังกล่าวมีการขออนุญาตประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่มาตั้งแต่ปี 2547 และต่ออายุทุกๆ 3 ปี และแม้นายทวี ไกรคุปต์ พ่อน.ส.ปารีณา จะให้สัมภาษณ์ว่าครอบครองที่ดินแปลงนี้มาตั้งแต่ปี 2489 แต่จากข้อมูลพบว่าเป็นข้อมูลปี 2553-2556 ซึ่งเข้าข่ายการบุกรุกครอบครองเพื่อทำกิจการ ทำประโยชน์ในที่ป่าสงวนแห่งชาติ
นอกจากนี้ยังพบว่าการแจ้งเอกสารต่อป.ป.ช. ในการถือครองที่ดิน 1.7 พันไร่ คิดเป็นมูลค่า 2 แสนบาท ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้
การตรวจสอบจึงเริ่มต้นขึ้น
ป่าไม้แจ้งจับผิด 4 ข้อหา
หลังเป็นข่าวอื้อฉาว กรมป่าไม้ก็ลงพื้นที่ตรวจสอบฟาร์มไก่เขาสนฟาร์มของน.ส.ปารีณา ถึง 2 ครั้ง คือในวันที่ 24 พ.ย. และ 29 พ.ย. ก่อนที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ จะแถลงผลการตรวจสอบและมีมติแจ้งความดำเนินคดีต่อน.ส.ปารีณาในวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา
โดยระบุว่าจากการรังวัดพบที่ดินทั้งหมด 46 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี 41 ไร่ 1 งาน 59 ตารางวา และอยู่ในเขตป่า ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 จำนวน 4 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา
พร้อมให้เจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีที่บก.ปทส. ในความผิด 4 ข้อหา ประกอบด้วย 1.กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 ฐานก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า เข้ายึดถือและครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต
2.กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถางทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาต
3.กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ฐาน “เข้าไปยึดถือครอบครองก่อนสร้าง เผาป่า ทำด้วยประการใด ให้เป็นการทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินในที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
และ 4. พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 การกระทำหรือละเว้นกระทำด้วยประการใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหายไป
เป็น 4 ข้อหาหนักที่ต้องเผชิญต่อไป
วิษณุชี้เหมือนเขายายเที่ยง
สำหรับส.ป.ก. ที่รับผิดชอบที่ดินส่วนใหญ่ที่เป็นฟาร์มไก่ของน.ส.ปารีณา โดยนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการส.ป.ก. เปิดเผยว่า ตรวจสอบพบที่ดิน 682 ไร่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งถือเป็นการครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต น.ส.ปารีณา เป็นส.ส. และประธานบริษัท ไม่มีคุณสมบัติในการรับพื้นที่ของส.ป.ก. เพราะไม่ใช่เกษตรกรที่ต้องการที่ดินเพื่อทำกิน
ส.ป.ก.จึงจะเรียกคืนที่ดินดังกล่าวจำนวน 682 ไร่ โดยให้ส่งคืนภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นจะใช้อำนาจตามคำสั่งคสช. ยึดที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง แต่ตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินคดีกับน.ส.ปารีณา เพราะให้ความร่วมมือดี ซึ่งการตรวจสอบนี้เป็นการดำเนินการตามนโยบายของร.อ.ธรรมนัส รมช.เกษตรและสหกรณ์
ขณะที่ร.อ.ธรรมนัส ก็ย้ำว่าไม่สามารถเอาผิดน.ส.ปารีณาได้ เพราะครอบครองก่อนการปฏิรูปที่ดิน แต่ต้องยึดที่ดินกลับเป็นของรัฐ ส่วนน.ส.ปารีณาได้ทำหนังสือลงวันที่ 6 ธ.ค.ขอคืนพื้นที่ส.ป.ก.ทั้ง 29 แปลง
แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่าเหตุใดจึงไม่มีการดำเนินคดี
เป็นเหตุให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมายของรัฐบาล ออกมาชี้แจงพร้อมยกตัวอย่างเขายายเที่ยงของพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ ที่ขอคืนพื้นที่ไปก่อนหน้านี้ “ปัญหาอยู่ที่ว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินส.ป.ก.หรือไม่ ถ้าใช่ ก็เหมือนสมัยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ คืนไปแล้วก็จบ ที่ดินส.ป.ก.ตอนไปเอามาไม่ผิดเพราะถือครองไม่ได้ เมื่อถือครองไม่ได้ก็คืน
ตามกฎหมายระบุว่าเป็นที่ที่ถูกซื้อมาแล้ว ก็ต้องคืน ถือเป็นบทลงโทษของคนที่ซื้อมา โดยที่รัฐไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว และเป็นบทลงโทษที่ดีกว่าบทลงโทษทางอาญา ที่จะต้อง ถูกปรับ”
ส่วนเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จต่อป.ป.ช.นั้น นาย วรวิทย์ สุขบุญ เลขาฯป.ป.ช. ระบุว่าหากเป็นการสับสนยื่นบัญชีผิด ก็สามารถยื่นใหม่ได้เช่นกัน
เป็นมาตรฐานทางกฎหมายที่น่าสนใจ
เผยชาวบ้านโดนคดีอื้อ
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ที่อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ มีชาวบ้าน 14 ราย ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง เมื่อปี 2560 โดยชาวบ้านระบุว่าทำกินมาก่อนประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ซึ่งการประกาศดังกล่าวเข้ามาทำที่ทำกินของชาวบ้าน โดยมีหลักฐานเป็นการครอบครองพื้นที่ส.ป.ก. และการเสียภาษีภ.บ.ท.5 ให้กับรัฐ
โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกชาวบ้านทั้ง 14 ราย ไม่ต่ำกว่าคนละ 4 เดือน ปรับรายละ 4 หมื่นบาท ขณะที่ทั้งหมดยื่นอุทธรณ์
และเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดชัยภูมิ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของน.ส.นิตยา ม่วงกลาง เกษตรกรไร่มันสำปะหลัง 1 ใน 14 ชาวบ้านที่ถูกจำคุก นับเป็นรายแรกที่มีคำพิพากษาชั้นศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษ จำคุกและโทษปรับ เป็นเหตุให้ต้องประกันตัว และสู้ต่อในชั้นศาลฎีกา
โดยน.ส.นิตยาระบุว่า พวกตนถูกจับดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
เพราะคนที่ครอบครองที่ดินรัฐกว่า 1,700 ไร่ ไม่ผิด แต่ชาวบ้านที่มีที่ดินทำกินสืบทอดกันมาคนละไม่กี่ไร่ ถูกไล่จับดำเนินคดีหนักทั้งจำทั้งปรับ 2 มาตรฐานหรือไม่ อยากฝากวิงวอนถึงรัฐบาลขอให้ความเป็นธรรมด้วย
น่าคิดว่าใครกันจะตอบคำถามของชาวบ้านจนๆ