คุยกับทูต ‘ฮูดะ อาลี ชารีฟ’ มัลดีฟส์ : “ครอสโรดส์” การลงทุนของไทย ความร่วมมือทางวัฒนธรรม

มัลดีฟส์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาทูน่าที่สำคัญของโลก แม้ภาคการเกษตรและภาคการผลิตมีบทบาทน้อย อันเกิดจากข้อจำกัดด้านพื้นที่เพาะปลูกและการขาดแคลนแรงงานในประเทศ เพราะมีประชากรเพียง 4 แสนคน แต่มีนักท่องเที่ยวถึง 5 ล้านคนต่อปี

รายได้หลักของมัลดีฟส์จึงเป็นการท่องเที่ยว รองมาเป็นการประมง

ซึ่งทำให้มัลดีฟส์สามารถพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นสู่ระดับประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income) ได้อย่างรวดเร็ว

อัครราชทูตสาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย นางฮูดะ อาลี ชารีฟ (Huda Ali Shareef) กล่าวถึงความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับมัลดีฟส์ว่า

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในคู่ค้าหลักของมัลดีฟส์ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า เรานำเข้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 93.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 เป็น 123.9 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 การส่งออกของเราเพิ่มขึ้นจาก 36.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 65.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญจากมัลดีฟส์มายังประเทศไทยคือ ปลาทูน่าแช่เย็นและแช่แข็ง ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปลากระป๋องของไทย”

ทูตฮูดะชี้แจง

“การลงทุนของไทยในมัลดีฟส์ด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศของเรา เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการ “ครอสโรดส์” (Crossroads) โดยบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (Singha Estate) เป็นรีสอร์ตไทยแห่งที่หกและเป็นการลงทุนในรีสอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในมัลดีฟส์”

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศมัลดีฟส์มียอดตัวเลขนักท่องเที่ยวภายในครึ่งปีแรกแตะหนึ่งล้านคนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 แสดงถึงการเติบโตด้านการท่องเที่ยวของประเทศเกาะแห่งนี้ ซึ่งการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโครงการ “ครอสโรดส์” เพื่อการพักผ่อนและไลฟ์สไตล์ครบวงจรขนาดใหญ่ที่สุดแห่งแรกในมัลดีฟส์ จะเป็นตัวช่วยสร้างจุดยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักเดินทางกลุ่มใหม่ๆ ทั้งในและนอกประเทศ

โครงการนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการบรรจบกันของวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกที่จุดตัดบนเส้นทางสายไหมทางทะเล

มีศูนย์วัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่วิถีชีวิตและงานหัตถกรรมของชนชาวเกาะ รวมทั้งโครงการและกิจกรรมริเริ่มต่างๆ ตามหลักปฏิบัติสากลเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและการคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศทางทะเลที่ทรงคุณค่าของมัลดีฟส์

ตลอดจนการสร้างงานและสร้างโอกาสเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น

ตั้งอยู่ ณ บริเวณเอ็มบูดู ลากูน ห่างจากสนามบินนานาชาติมาเลและเมืองหลวงเพียง 15 นาทีเมื่อเดินทางด้วยสปีดโบ๊ต

“ปัจจุบันเครือโรงแรมไทยในมัลดีฟส์ เช่น ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล มี 2 แห่ง ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มี 6 แห่ง ส่วนเซ็นทรัล ฮอสพิทาลิตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ซีเอชไอ) มี 2 แห่ง และออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป มี 1 แห่ง คือ อมารี ฮาวอดด้า มัลดีฟส์”

“การลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยช่วยดึงดูดให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยและแรงงานไทยจำนวนมากเดินทางสู่มัลดีฟส์เพื่อการทำงานในอุตสาหกรรมด้านการบริการเป็นส่วนใหญ่”

“ยิ่งไปกว่านั้น ความต้องการทางการศึกษาที่มีคุณภาพกำลังเติบโตในมัลดีฟส์ ดังนั้น ชาวมัลดีฟส์จำนวนมากจึงนิยมเดินทางไปต่างประเทศเพื่อการศึกษา บางคนเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการศึกษา และที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศไทยก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น เราขอขอบคุณรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยที่ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาของรัฐบาลไทยแก่ชาวมัลดีฟส์อย่างต่อเนื่อง”

“ดิฉันเชื่อว่ามีหลากหลายวิธีที่จะเพิ่มจำนวนชาวมัลดีฟส์ให้มาศึกษาต่อในประเทศไทย เช่น การสร้างความรับรู้ให้เกิดขึ้นในมัลดีฟส์เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาระดับสูงของสถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศไทย และสถาบันการศึกษาจากประเทศไทยร่วมในงาน Education Fair ในมัลดีฟส์ จะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันการศึกษาดังกล่าว”

“ทางด้านวัฒนธรรม เริ่มจากการยกระดับทางการทูตด้วยการเปิดสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการที่กรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคมและปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นักออกแบบแฟชั่นและนักการทูตจากมัลดีฟส์ก็ได้มีส่วนในการจัดงานมหกรรมผ้าไหม-ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ 9 ประจำปี 2019 ที่กรุงเทพฯ”

“เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

“ด้านความร่วมมือในระดับภูมิภาค มัลดีฟส์เป็นสมาชิกของสมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาค (SAARC) แต่ประเทศของเราไม่ได้เป็นสมาชิกหรือผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน อย่างไรก็ตาม เรามีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับกลุ่มประเทศอาเซียน มัลดีฟส์ร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาเซียนในประเด็นที่มีความกังวลร่วมกัน เช่น สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

สภาวะโลกร้อนมีผลโดยตรงต่อมัลดีฟส์ รัฐบาลมัลดีฟส์จึงให้ความสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ

ในด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยและมัลดีฟส์

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวไทยไปเยือนมัลดีฟส์เพิ่มขึ้นจาก 3,952 คนเป็น 32,436 คน โดยมีแนวโน้มจะทวีมากขึ้นต่อไปในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งการเปิดตัวของ “ครอสโรดส์ มัลดีฟส์” (Crossroads Maldives) ซึ่งเป็นการลงทุนของไทย รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น จะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปยังมัลดีฟส์มากขึ้น”

“เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่า โครงการ “ครอสโรดส์” และคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์นั้นได้ถูกนำมาเผยแพร่ทางโทรทัศน์ในประเทศไทยเป็นประจำเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นการช่วยโฆษณามัลดีฟส์ในประเทศไทยและดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยให้ไปสู่มัลดีฟส์มากขึ้น”

“สถานทูตของเราที่กรุงเทพฯ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานความร่วมมือด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์มัลดีฟส์ (MMPRC) ตลอดจนพันธมิตรชาวไทย ร่วมกันทำงานเพื่อส่งเสริมมัลดีฟส์ในประเทศไทย กิจกรรมหนึ่งที่เรากำหนดไว้คือ การจัดนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับมัลดีฟส์ที่สยามพารากอน ต้นปี 2020”

ทูตฮูดะเล่าถึงความร่วมมือกันและกัน