วงศ์เมืองพิมาย (ไทย) กับวงศ์เมืองพระนคร (กัมพูชา) ความสัมพันธ์ทางการเมืองในจารึกวัดจงกอ อ. ด่านขุนทด จ. นครราชสีมา

วงศ์เมืองพิมาย (ไทย) กับวงศ์เมืองพระนคร (กัมพูชา)

ความสัมพันธ์ทางการเมืองในจารึกวัดจงกอ

อ. ด่านขุนทด จ. นครราชสีมา

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

จารึกที่วัดจงกอ ตำบลบ้านเก่า อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ตามประวัติระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2548 นายสุรศักดิ์ ศรีสำอาง ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 ได้ทำเรื่องแจ้งเข้าในสำนักหอสมุดแห่งชาติว่าพบจารึกหลักใหม่ที่วัดจงกอ ต่อมา นางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์และนางสาวเอมอร เชาวน์สวน ได้ทำการอ่านและตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร ปีที่ 49 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2549)

จากข้อมูลประวัติการค้นพบระบุว่าจารึกหลักนี้พบอยู่ในบริเวณวัดแห่งนี้นานแล้วและปัจจุบันยังปักอยู่ที่ฐานชุกชีบริเวณขวามือของพระพุทธรูปในพระอุโบสถ

จารึกมี 2 ด้าน เนื้อหาโดยสรุปกล่าวว่า พ.ศ. 1551 พระเจ้าชัยวีรวรรมันทรงออกโองการให้ขุนนางทั้งหลายไปปักที่ดินกัลปนาแก่พระกมรเตงวิมาย ทั้งนี้เพื่อให้พระกุศลแก่พระองค์

ความสำคัญของศิลาจารึกหลักนี้ เมื่อพระเจ้าชัยวรรมันที่ 5 สิ้นพระชนม์ (ครองราชย์สมบัติ พ.ศ. 1511–1545) เกิดมีการชิงราชบัลลังก์ในเมืองพระนคร ระหว่างพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมันที่ 1 พระเจ้าชัยวีรวรรมันและพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 เมื่อแรกพระเจ้าชัยวีรวรรมันสามารถขึ้นครองบัลลังก์ที่เมืองพระนครได้ จอร์ช เซแดส และ ลอเรนซ์ ปาลเมอร์ บริคส์ ได้เสนอว่า พระเจ้าชัยวีรวรรมันเสวยราชสมบัติจนถึงต้น พ.ศ. 1549 ต่อมาในปลาย พ.ศ. 1549 พระเจ้าสูรยวรรัมนที่ 1 จึงสามารถขึ้นครองบัลลังก์ที่เมืองพระนครได้สำเร็จ ส่วนพระชัยวีรวรรมันก็ได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

แต่จากข้อความในจารึกวัดจงกอนี้ทำให้ไขปริศนาเกี่ยวกับประวัติเขมรโบราณช่วงดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้

1. เมื่อพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 เสวยราชสมบัติที่เมืองพระนครแล้ว พระเจ้าชัยวีรวรรมันได้เสด็จขึ้นประทับอยู่ที่บริเวณต้นแม่น้ำมูล ดังนั้นจึงตีความน่าจะเป็นไปได้ว่า ฐานอำนาจเดิมของพระองค์อยู่ที่ต้นแม่น้ำมูล

2. การที่พระองค์ทรงกัลป์ปานาที่ดินอุทิศถวายพระกมรเตงอัญวิมาย แสดงว่าพระองค์ทรงมีความผูกพันกับพระกมรเตงอัญวิมาย จึงทำให้คิดได้ว่าศูนย์กลาง
อำนาจของพระองค์อยู่ที่เมืองพิมาย และที่สำคัญคือจารึกหลักนี้เป็นจารึกที่เก่าที่สุด
ที่กล่าวถึงพิมาย

3. พระนามของพระเจ้าชัยวีรวรรมันที่ปรากฏในจารึกคือ ธุลีพระบาทกมรเตงกำตวนอัญศรีชยวีรวรมันเทวะ ซึ่งคำว่า “กำตวน” นอกจากจะปรากฏในพระนามขององค์แล้ว ยังปรากฏในพระนามของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ด้วย ซึ่ง จอร์ช เซแดส เสนอว่ากำตวนมาจากคำว่า โตน ที่แปลว่าย่า , ยาย การที่พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 ปรากฏคำว่า กำตวน เพราะอ้างสิทธิธรรมในราชบังลังก์ทางข้างบรรพสตรี ดังนั้นการที่พระเจ้าชัยวีรวรรมันปรากฏคำว่า “กำตวน” ในพระนาม ก็น่าตีความพระองค์ อ้างสิทธิธรรมข้างบรรพสตรีเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงสามารถตีความได้ต่อว่า เชื้อวงศ์ข้างเมืองพิมายได้ดองญาติกับเชื้อวงศ์ในเมืองพระนคร และพระญาติวงศ์ของพระเจ้าชัยวีรวรรมันซึ่งเป็นวงศ์ข้างพิมายคงจะไปอภิเษกสมรสกับพระราชาในเมืองพระนคร ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ของเชื้อวงศ์ทั้ง 2 ที่จะต้องมีมายาวนานก่อนหน้านี้