จัตวา กลิ่นสุนทร : งานหนังสือพิมพ์ยุครัฐบาลเปรม

เก็บของเก่า เล่าเรื่อง สำนักงาน “หนังสือพิมพ์” (สยามรัฐ) ริมถนนราชดำเนิน (8)

ไม่เฉพาะหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” ฉบับเดียวที่ต้องปรับเปลี่ยน “ผู้สื่อข่าว” เพื่อเกาะติดเก็บเกี่ยวหาข่าวจาก (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ถึงแก่อสัญกรรม)-(อดีต) นายกรัฐมนตรี

หนังสือพิมพ์ “รายวัน” อีกหลายฉบับในยุคสมัยของท่าน “นายกรัฐมนตรี” ที่ซื่อตรง พูดน้อย เกลียดชังการคอร์รัปชั่น ไม่คบค้าสมาคมกับคนคดโกง และชิงชังการ “ปฏิวัติ รัฐประหาร”–

ต่างต้องเฟ้นค้นหาตัวผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้ “นายกรัฐมนตรี” ถูกชะตาจนถึงชอบพอจนเกิดความเมตตา จะได้มีความใกล้ชิดเป็นกันเอง การหาข่าวอาจง่ายขึ้น เรียกว่าทำให้ท่านพูดคุยมากขึ้นกว่าปกติ

ผลปรากฏว่า (ป๋า) พล.อ.เปรมมีลูกๆ (ซึ่งไม่ได้เป็นทหาร) เป็น “ผู้สื่อข่าว” เพิ่มจำนวนขึ้นไม่น้อยคนเลยทีเดียว

 

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ทั้งรายวัน และ (สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์) รายสัปดาห์ ถึงจะพอเข้าใจกันได้ว่าเป็นฝ่ายค้าน แต่มิได้โจมตีรัฐบาลของท่านหนักหน่วงมากมายอะไร

ส่วนใหญ่จะรายงานความเคลื่อนไหวเป็นไปตามหน้าที่ เพราะขณะนั้นดูเหมือนว่ารัฐบาลของท่านต้องระดมสมองเพื่อแก้ปัญหา “เศรษฐกิจ” อย่างเต็มกำลังความสามารถ

ขณะเดียวกันจำเป็นต้องดูทิศทางลมจากท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ด้วย

เพราะถึงแม้พรรค “กิจสังคม” ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลเป็นซีกฝ่ายค้านแล้ว แต่ในความเป็นจริงลึกๆ อาจารย์คึกฤทธิ์ยังไม่ได้ค้านอย่างเอาเป็นเอาตาย

ซึ่งในแวดวงการเมืองต่างวิเคราะห์กันไว้อย่างลึกซึ้งว่าอาจารย์คงได้รับสัญญาณบางสิ่งบางอย่างเพื่อช่วยกันเก็บรัฐบาลชุดนี้ให้อยู่แก้ปัญหาให้นานที่สุด

พยายามรักษารัฐบาลเอาไว้อย่างน้อยถึงแม้จะไม่ได้เป็น “ประชาธิปไตย” เต็มใบ นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการ “เลือกตั้ง” ก็ยังดีกว่ามาจากการ “ปฏิวัติ”

เพราะฉะนั้น จะได้ประชาธิปไตยเพียงครึ่งใบย่อมต้องช่วยอุ้มกันต่อไป ซึ่งดูเหมือนว่าท่านออกจะหงุดหงิดในหลายๆ เรื่องด้วยซ้ำไป–

แต่ทำได้แค่เพียงคอยติติงชี้แนะเหมือนกับประคับประคองรัฐบาลให้มีเสถียรภาพ เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกเมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้น (ป๋า) พล.อ.เปรมจะไปเยือนบ้านซอยสวนพลูเพื่อปรึกษาหารือ ขอคำชี้แนะอยู่บ่อยๆ

 

รัฐบาล “เปรม 2” ซึ่งมี “กองทัพ” พร้อมนายทหารกลุ่ม “ยังเติร์ก” ให้การสนับสนุนมาแต่ต้น รวมทั้งตัวท่านนายกรัฐมนตรียังนั่งกางแขนกางขาควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก แต่ยังไม่รอดพ้นจากการ “ปฏิวัติ รัฐประหาร”

ความจริงการ “รัฐประหาร” เพื่อยึดอำนาจของรัฐบาลไม่ได้เกิดจากเรื่องการเมือง แต่น่าจะมาจากเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายภายในกองทัพบกไม่ลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งหนึ่งเดียวตรงยอดพีระมิดคือ “ผู้บัญชาการทหารบก” ซึ่งทหารกลุ่ม “ยังเติร์ก” ได้ตั้งเป้าหมายวางตัวเอาไว้แล้ว

ในเวลาเดียวกันกลุ่มนายทหารที่ก่อการยังอ้างถึงรัฐมนตรีเพื่อน (ป๋า) พล.อ.เปรม อย่างน้อย 2 คน ซึ่งได้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเปรม 2 ว่าไม่เหมาะสม เป็นคนไม่ดี ดังที่เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ว่าได้กลายเป็นประเด็น เป็นภาระให้กับรัฐบาลด้วย

หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยต่างให้ความสนใจรายงานข่าว พร้อมทั้งพยายามเจาะลึกเรื่องการ “รัฐประหาร” ซึ่งได้กลายเป็น “กบฏ” ไปในที่สุดเนื่องจากหัวหน้ารัฐบาลไม่เห็นด้วย พร้อมต่อต้านก่อนมีการเจรจาให้วางอาวุธจนถึงจุดที่ยอมรับจนตกลงกันได้โดยไม่เกิดการปะทะรุนแรงทำให้ต้องมีการสูญเสียเนื่องจากเป็นทหารจากกองทัพด้วยกันทั้งสิ้น

การ “ปฏิวัติ รัฐประหาร” ในประเทศไทยครั้งสุดท้ายเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อปี พ.ศ.2520 เวลาเดินทางมาได้เพียงประมาณ 4 ปีก็เกิดขึ้นอีก ทั้งที่ประเทศของเรามีหัวหน้ารัฐบาลเป็นทหาร แต่กลับไม่พ้นถูกทหารก่อการรัฐประหาร

 

เมื่อเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร วันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ.2524 ผ่านพ้นไป โดยรัฐบาลได้แก้ปัญหาการเมืองและกองทัพซึ่งนำมาสู่การปฏิวัติลงได้ระดับหนึ่ง รัฐบาลต้องทำงานอย่างหนักเรื่องเศรษฐกิจ เริ่มต้นการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ระดมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ทั้งในเมืองและชนบทซึ่งมีสภาพความยากจนแตกต่างจากประชาชนในเมืองหลวงราวฟ้ากับดิน

ได้กล่าวมาอย่างต่อเนื่องถึงรัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรม ว่าอยู่ในช่วงที่น้ำมันก็ยังราคาแพงและหาซื้อยาก น้ำตาลมีการขาดแคลน ราคาจึงพุ่งขึ้นสวนทางกับราคาข้าวที่ตกลง

รัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ต้องทำงานแก้ปัญหาอย่างหนัก พร้อมวางแนวทางในระยะยาวออกไปทั้งเรื่องของค่าเงินบาท การส่งออกสินค้าต่างๆ

ทราบกันแล้วว่าทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรม ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หัวหน้ารัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ซื่อสัตย์ สุขุมรอบคอบ ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก

เวลาล่วงเลยมาร่วม 40 ปี เห็นนโยบายรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจฝั่งทะเลตะวันออก ดูเหมือนไม่ค่อยจะแตกต่าง เพียงแต่ว่าครั้งนี้ค่อนข้างจะเอื้ออำนวยประโยชน์เหมือนกับประเคนให้กับต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนด้วยประโยชน์สูง เพียงแต่ไม่มั่นใจว่าจะทำให้กลับมาโชติช่วงชัชวาล เหมือนเมื่อครั้งรัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรมหรือไม่?

 

หนังสือพิมพ์สยามรัฐร่วมอยู่ในเหตุการณ์บริหารบ้านเมืองของรัฐบาลเปรม 2 ในฐานะสื่อคอยวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ซึ่งจะว่าไปกองบรรณาธิการไม่ได้ทำงานยากลำบากแต่อย่างใด ส่วนใหญ่จะอ่านทิศทางนโยบายรัฐบาลไม่ค่อยแตกต่างจากฝ่ายค้าน

ย้อนรำลึกนึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านเกือบ 40 ปี สภาพเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน (สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์) รายสัปดาห์” ถือว่าดำเนินไปอย่างไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เคยติดลบอยู่อย่างไรก็ยังทรงๆ อยู่อย่างนั้น

แม้ยอดพิมพ์ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้นจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ย่อมต้องลงทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กองบรรณาธิการ ซึ่งได้กลายเป็นปัญหากับฝ่ายจัดการเรื่องงบประมาณ

เป็นเรื่องปกติระหว่างกองจัดการกับกองบรรณาธิการ??

 

นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน “กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ (สยามรัฐ)” อายุ 70 ปี ต้องจากบ้านเกิด เลขที่ 12 อาคาร 6 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ไปสู่บ้านหลังใหม่ย่านพระราม 8 สำหรับคนรุ่นเก่าๆ ซึ่งเคยผ่านสถาบันสื่อแห่งนี้ก็คงรู้สึกเหงาๆ แปลกๆ ถิ่นที่พอสมควร

ย้อนเวลาไปราว 40 ปีเช่นกัน “สยามรัฐ” เคยได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) ของสมาคมผู้สื่อข่าวฯ แต่กลับจำไม่ได้ว่าเรียกอย่างนี้หรือไม่ เพราะมันนานมาก สมาคมเองได้เปลี่ยนแปลงไปหลายสิ่งอย่าง พยายามเปิดค้นดูก็ไม่พบรายละเอียด รู้แต่ว่าเป็นข่าวเรื่อง “การทำเหมืองแร่ในทะเล” ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

คิดถึงความรู้สึกเก่าๆ ว่ามีส่วนร่วมกับข่าวชิ้นนี้ แต่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่าจะไม่ลงลึกเรื่องตัวบุคคลและรายละเอียดต่างๆ เพราะอาจไปกระทบกระเทือนใครต่อใครซึ่งผ่านหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ที่อายุยืนยาวแห่งนี้มามากหลายรุ่นเหลือเกิน

ได้พยายามเขียนทุกอย่างจากความทรงจำ ครั้งบุกตะลุยไปฝังตัวอยู่จังหวัดภูเก็ต พังงา เป็นอาทิตย์ โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยพาหนะซึ่งเป็นรถยนต์ญี่ปุ่นคันเล็กๆ ของโรงพิมพ์ที่มีอยู่แค่คันเดียวเท่านั้น นึกสงสารเป็นห่วงถึงตอนที่เดินทางรอนแรมยาวไกลบนถนนไม่ราบเรียบ ขับข้ามเนินเขาไปบนถนนที่เต็มไปด้วยหินก้อนใหญ่ๆ สู่ชายทะเลยังหาดป่าตองซึ่งยังอยู่ในสภาพที่ไม่มีอะไรเท่าไรเลย นอกจากการแย่งกันจับจองที่ดินของเศรษฐีนายทุน

ที่ต้องไปที่ภูเก็ต-พังงา เพราะการทำเหมืองแร่ในทะเลอยู่ที่ 2 จังหวัดดังกล่าว ในระยะเวลานั้นเกิดมีการดูดดำดูดแร่เถื่อนโดย “เรือประมง” ดัดแปลงจำนวนมากจากทั่วทุกจังหวัดของประเทศ ลงไปดูดดำแร่ เช่นเดียวกับลูกมือประจำเรือก็เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศในประเทศไทย หรือสมัยนั้นจะมีแรงงานต่างชาติเข้ามาร่วมด้วยหรือยังไม่ทราบได้

เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของคนสูงวัยที่เคยผ่านสำนักงานแห่งนี้ ได้รำลึกถึงความหลัง และได้นำหลายๆ แง่มุมของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” มาพูดคุยบอกเล่าสู่กัน (อ่าน) ฟัง