ต่างประเทศ : ออง ซาน ซูจี ณ กรุงเฮก ชี้แจงความจริงหรือกลยุทธ์การเมือง

ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ผู้เคยได้รับการยกย่องเป็นวีรสตรีแห่งโลกประชาธิปไตย ในระดับเดียวกันกับมหาตมะ คานธี แห่งอินเดีย รวมไปถึง เนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้

เวลานี้ต้องกลายเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลเมียนมา เดินทางไปสู้คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

การตัดสินใจปรากฏตัวที่ไอซีเจของซูจีครั้งนี้ถูกมองว่าจะเป็นอีกครั้งที่เธอจะสูญเสียความยอมรับนับถือที่เคยสร้างสมมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลังจากถูกโจมตีจากการนิ่งเฉยต่อกรณีกวาดล้างชาวโรฮิงญาในพม่าเมื่อ 2 ปีก่อน

 

การยื่นฟ้องคดีดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นด้วยประเทศแกมเบีย ในฐานะตัวแทนกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม (ไอโอซี) องค์กรที่มีชาติมุสลิมเป็นสมาชิก 57 ชาติ ฟ้องร้องต่อไอซีเจว่ารัฐบาลเมียนมาละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขององค์การสหประชาชาติ ผลจากปฏิบัติการกวาดล้างชุมชนชาวโรฮิงญา ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากถึง 740,000 คนต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศบังกลาเทศ

โดยกองทัพเมียนมายังถูกกล่าวหาด้วยว่าก่อเหตุฆาตกรรม ข่มขืน และเผาบ้านเรือนชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมาก การกระทำซึ่งรายงานการสืบสวนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยังสรุปว่า เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ด้วย

ด้านรัฐบาลเมียนมาเองก่อนหน้านี้ออกมาชี้แจงถึงปฏิบัติการดังกล่าวว่า มีขึ้นเพื่อผลักดันกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาเท่านั้น

และยืนยันว่าข้อกล่าวหาเรื่องการข่มเหงชาวโรฮิงญา หรือชาว “เบงกาลี” อย่างที่รัฐบาลเมียนมาเรียกนั้น กำลังได้รับการสอบสวนจากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเมียนมาเอง องค์คณะซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนมองว่ามีขึ้นเพื่อลบล้างความผิดของรัฐบาลเมียนมาเท่านั้น

 

ด้านทีมผู้จัดทำรายงานของยูเอ็นเองก็เคยกล่าวหาซูจีและรัฐบาลเมียนมาของเธอด้วยว่าสมรู้ร่วมคิดในการก่ออาชญากรรมกับชาวโรฮิงญา ขณะที่ซูจีเองออกมาปกป้องกองทัพเมียนมา รวมไปถึงชี้แจงข้อกล่าวหาของยูเอ็น ยืนยันว่าโลกภายนอกนั้นไม่เข้าใจสถานการณ์ภายในเมียนมาที่ซับซ้อนอย่างแท้จริง

ขณะที่การยอมรับของซูจีในที่ประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่มเมื่อปีก่อนเพียงว่า “สถานการณ์นั้นควรถูกจัดการให้ดีกว่านี้” ก็ไม่ได้ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของเธอลดน้อยลงเลย

อาบูบาคาร์ ทัมบาดู รัฐมนตรียุติธรรมแกมเบียในฐานะผู้ยื่นฟ้อง ขึ้นแถลงกับศาลก่อนในวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้ซูจีหยุดยั้งรัฐบาลไม่ให้กระทำการป่าเถื่อน หยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนในประเทศ

รัฐมนตรียุติธรรมแกมเบีย ผู้เคยนั่งเป็นผู้พิพากษาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันด้า เมื่อปี 1994 คดีเดียวซึ่งมีการตัดสินลงโทษในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ยังเรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งยุติความขัดแย้งของชาติสมาชิกสหประชาชาติ และให้มีมาตรการฉุกเฉินเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอีก

 

สําหรับออง ซาน ซูจี ที่ขึ้นให้การในวันถัดไป ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามในเมียนมา

ข้อความ “เรายืนเคียงข้างคุณ” และภาพที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาวัย 74 ปี ถูกขึ้นป้ายบิลบอร์ดทั่วประเทศ แสดงออกสนับสนุนซูจีอย่างเต็มที่ มีการเดินขบวนจากกลุ่มผู้สนับสนุนทั้งในประเทศ รวมถึงในหลายจุดของกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีแม้กระทั่งทัวร์ระดับวีไอพี ที่ยกขบวนไปให้กำลังใจซูจีกันเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มต่อต้านซูจีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อดีตผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าออกมายอมรับว่ามีการกวาดล้างอันโหดร้ายเกิดขึ้นจริง

 

การที่ซูจียอมเป็นตัวแทนรัฐบาลพม่าเพื่อแก้ต่างในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ชื่อเสียงของเธอตกลงสู่จุดต่ำสุด หลังถูกหลายสถาบันเพิกถอนรางวัลที่เคยมอบให้กับซูจีลงเป็นจำนวนมาก

นักวิเคราะห์การเมืองเมียนมาอย่าง หม่อง หม่อง โซ มองว่า การออกหน้าของซูจีแทนกองทัพเมียนมาในกรณีนี้ อาจนำไปสู่การที่กองทัพยอมถอยให้รัฐบาลพม่าปฏิรูปการเมืองในประเทศต่อไปในอนาคต

ขณะที่ขิ่น ยี สมาชิกพรรคยูเอสดีพี พรรคที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพเมียนมา มองว่าเป็นแผนเรียกคะแนนนิยมสำหรับพรรคเอ็นแอลดีของซูจีในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีชาวเมียนมาบางส่วนผิดหวังกับซูจี แต่หลายฝ่ายคาดกันว่าพรรคเอ็นแอลดีของซูจี จะยังคงคว้าชัยอย่างถล่มทลายอีกครั้ง นั่นก็อาจทำให้ถูกมองเช่นกันว่า การเสี่ยงของซูจีในครั้งนี้เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะแลกมาหรือไม่

 

ตัน มิน อู นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวเมียนมา มองว่าย่างก้าวของซูจีในครั้งนี้ไม่น่าจะมีเหตุผลทางการเมือง โดยระบุว่า ซูจีนั้นเชื่อว่าไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นจริง

“ผมคิดว่าเธอรู้สึกโกรธเกรี้ยวอย่างจริงจังในแง่ของการที่เธอมองว่าเรื่องนี้เป็นการตอบสนองจากโลกภายนอกที่ไม่ยุติธรรม ผมคิดว่าเธอต้องการจริงๆ ที่จะได้มีโอกาสชี้แจง และโต้แย้งในศาลด้วยตัวเธอเอง” อูระบุ และว่า ซูจีเชื่อว่าไม่มีใครที่จะเป็นตัวแทนประเทศได้ดีเท่ากับตัวเธอเอง

เอ ลวิน จากศูนย์อิสลามแห่งเมียนมา ในนครย่างกุ้ง ระบุด้วยว่า ซูจีนั้นกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยการแบกรับความรับผิดชอบเอาไว้เองและเดินทางไปยังกรุงเฮก ที่ซึ่งจะมีการเปิดเผยความโหดร้ายที่เป็นข้อเท็จจริงออกสู่สาธารณะ

“มันไม่ใช่เรื่องของการชนะหรือแพ้ แต่มันเป็นเรื่องของการเปิดเผยข้อเท็จจริงและนำมาซึ่งความยุติธรรม” เอ ลวิน ระบุ