‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ มองอนาคตของอนาคตใหม่ และวิธีจัดการ “งูเห่า” – “มรดกบาป คสช.”

หลายต่อหลายคนพยายามคาดการณ์ว่า หลังจากนี้พรรคอนาคตใหม่จะโดนคดีถาโถมจนถึงขั้นพรรคอาจจะถูกยุบ กรรมการบริหารจะถูกตัดสิทธิ์ จะมีคนต้องติดคุก

ต่อมุมมองเหล่านี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ตอบทันทีว่า

“ผมก็ประเมินแล้วก็พูดอยู่เสมอว่า ทั้งสังคม, สื่อมวลชน และสมาชิกพรรคต่างก็มีความกังวลใจ คาดการณ์กันว่าจะมียุบพรรค จะมีตัดสิทธิ์ ติดคุก วนกันอยู่ 3 อย่างนี้ในอนาคต ผมเองอยากบอกว่า เมื่อพรรคพวกเราเดินมาถึงจุดนี้แล้ว จะกี่คมหอกคมดาบ กี่มรสุม ก็ขอยืนยันคำเดิมว่าการที่พวกเขาพยายามจะใช้ “หนังม้วนเก่า” ฉายไปเรื่อยกว่า 10 ปีที่ผ่านมาวนหนังม้วนเดิมไปเรื่อยๆ ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้ง ถ้าพวกคุณคิดว่ายังจะเอาหนังม้วนเก่ามาฉายซ้ำให้สังคมอีก ผมมั่นใจว่าหนังม้วนนี้ตอนจบมันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

ปิยบุตรเล่าว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา “พรรคอนาคตใหม่” มีหลายเรื่องที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำ เพราะคมหอกคมดาบคดีความเยอะมาก แทนที่พวกเราจะได้บุกทำงานเชิงรุก เรากลับต้องมาป้องกันตัวเองจากคดีความ ซึ่งมันต้องใช้เวลามหาศาล เราเลยยังไม่ได้ผลักดันหลายเรื่องที่เราอยากจะทำ

เช่น เรื่องฐานสมาชิกพรรคที่เราคิดว่ายังมีน้อยเกินไป

หรือความตั้งใจเดินสายทำสัมมนาให้สมาชิก ทำให้กับกลุ่มเยาวชน ไปพูดทุกจังหวัด

ปี 2563 ผมก็เลยคิดว่าจะเป็นปีแห่งการบุก-รณรงค์อย่างขยันขันแข็ง ทั้งในเรื่องรัฐธรรมนูญ การเกณฑ์ทหาร และที่สำคัญคือ “ธุรกิจสุรา” อันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเรื่อง “ทุนผูกขาด” รวมถึงการที่เราเข้าไปทำงานใน กมธ.ที่ดิน ชุดคุณทิม พิธา จึงได้เห็นว่าปัญหาชาวบ้านเรื่องที่ดินมีอยู่มหาศาล

เราจะทำแคมเปญต่างๆ เชิงรุกเพื่อรณรงค์มากขึ้น โดยให้คุณธนาธรเป็นผู้นำในเรื่องนี้

มองปรากฏการณ์งูเห่าที่เกิดขึ้นล่าสุด

ปรากฏการณ์ที่สื่อมวลชนเรียกว่า “งูเห่า” ที่เกิดขึ้น หลังจากฝ่ายรัฐบาลล้มการตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ม.44 ไป มันสะท้อนได้โดยพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า นี่คือผลพวงสืบเนื่องมาจาก “รัฐธรรมนูญ 2560” ที่ถูกออกแบบมาให้ ส.ว. 250 คนซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนตั้ง มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี แล้วคุณก็พยายามจะตั้งรัฐบาล โดยให้เสียงสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งหนึ่ง (250) ไปนิดหน่อยเพื่อให้การทำงานในสภาของรัฐบาลพอจะไปได้ พอเป็นเสียงปริ่มน้ำ

หมายความว่าการทำงานของรัฐบาลในการใช้เสียงข้างมากจะทำได้ยากลำบาก

ปรากฏการณ์ตามมาก็คือ การให้ผลประโยชน์เพื่อจะดึง ส.ส.ฝ่ายค้านไปร่วมลงมติด้วย ทั้งหลายทั้งปวงมันนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า “รัฐธรรมนูญปี 2560” ที่ถูกออกแบบมาเพียงเพื่อให้ คสช. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สืบทอดมีอำนาจต่อ มันกลับทำลายระบบทุกอย่างพังไปหมด

ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจมาแล้ว 5 ปี แล้วรู้จักคำว่า “พอ” ปล่อยให้การเลือกตั้งกลับไปสู่ระบบปกติ ให้แต่ละพรรคการเมืองแข่งขันกันไป มันก็คงจะค่อยๆ ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

แต่พอคุณไม่ยอมลงจากอำนาจ อยากจะมีอำนาจต่อ ปัญหาก็เกิดขึ้นทันที

รัฐบาลก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากความต้องการของประชาชนจริงๆ การเมืองไทยเลยย้อนยุคกลับไปเหมือนสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งพรรคสหประชาไทยตามรัฐธรรมนูญปี 2511 หรือย้อนไปสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2521 ก็ใช้วิธีแบบนี้เมื่อรัฐบาลเสียงมีไม่มาก

ท้ายที่สุดแล้วผมตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วคุณรัฐประหารปี 2557 เพื่อจะจัดการกับปัญหาในทางการเมือง ในท้ายที่สุดคุณได้ทำมันจริงหรือไม่?

มันก็ชัดเจนว่าตัวรัฐบาลอยากสืบทอดอำนาจ เป็นตัวทำลายระบบการเมืองไทยให้ถอยหลังกลับไป

ส่วนตัวผมเองไม่ค่อยอยากโทษตัวบุคคล-ตัวนักการเมือง ผมมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของนักการเมือง

อย่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เราสร้างโครงสร้างกติกามาแบบหนึ่ง นักการเมืองก็ปรับตัวให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญได้ แต่พอกติกาตามรัฐธรรมนูญเปลี่ยน พฤติกรรมคนก็เปลี่ยนตามไปด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราไม่มีเรื่อง ส.ว.ร่วมโหวตแล้ว เราจะได้เห็น กกต.ตีความพิสดารให้มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเสียงมากมายขนาดนี้หรือเปล่า?

อันจะนำมาสู่พฤติกรรมการทาบทามติดต่อให้ผลประโยชน์กับ ส.ส.ซีกฝ่ายค้านบางคนให้ไปยกมือให้หรือไม่?

ฉะนั้น มันต้องดูที่โครงสร้าง พฤติกรรมส่วนบุคคลก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าโฟกัสเฉพาะเรื่องนี้มันก็จะไปเข้าสูตรทำนองว่านักการเมืองเลว

ทหารต้องเข้ามามีอำนาจ

ผมอยากจะย้ำ ถ้าเราลองไปดูโครงสร้างรัฐธรรมนูญแปลกๆ แบบนี้ พฤติกรรมนักการเมืองแบบนี้ มันจะเกิดขึ้นทุกครั้งหลังจาก “รัฐประหาร”

ลองคิดมุมกลับ เพราะคุณรัฐประหารยึดอำนาจไป แต่อยากเป็นนายกฯ ต่อ จึงออกแบบรัฐธรรมนูญพิกลพิการมาทำให้นักการเมืองต้องกลายเป็นคนแบบนี้ และนี่ถือเป็นปัญหาทางทฤษฎี

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบ้านเรามีเอกสารสิทธิ์ในการลงมติ แต่บังเอิญว่ารัฐธรรมนูญไทยไปบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง พูดง่ายๆ ถ้าคุณไม่มีพรรค คุณไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้ มันเลยขัดกันเองอยู่ในตัว

ส.ส.มีเอกสิทธิ์ในการลงมติ แต่ ส.ส.ยังสังกัดพรรค ถ้าใช้เอกสิทธิ์ไม่ตรงกับมติพรรค แล้วคุณจะสังกัดพรรคการเมืองไปทำไม? ปัญหาคือ ถ้าไม่สังกัดพรรค ก็ลงเลือกตั้งไม่ได้ มันขัดกันเองอยู่ในตัว

ขณะเดียวกัน ถ้าพรรคขับไล่คุณออกพ้นจากสมาชิก ก็มีการเปิดช่องให้เขาไปหาที่อยู่ใหม่ได้อีก

นี่คืออุปสรรคที่รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้แบบนี้ มันจะหาจุดร่วมกันตรงนี้อย่างไร

ผมคิดว่าความเป็นพรรคการเมือง มันจะต้องมีแนวทางนโยบายอุดมการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวที่ไปใช้หาเสียง

แล้วการที่คุณเป็นคนคนหนึ่งมาสมัครสมาชิกพรรคและลงสมัครรับเลือกตั้ง นั่นหมายความว่าคุณยอมรับแต่แรกแล้วว่าเราจะเดินไปด้วยกันตามแนวทางของพรรค ตามนโยบายที่พรรควางไว้

“พรรคการเมืองไม่ใช่บ้านที่คุณจะมาอยู่อาศัยเพื่อเพียงจะไปลง ส.ส. พรรคการเมืองมีคุณค่ามากกว่านั้น ไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่ให้คุณสวมเสื้อกั๊ก ให้ใส่เสื้อทีม เพื่อให้คุณลงได้ ผมบอกไว้เลยว่าจะไปทำแบบนี้กับพรรคไหนก็ได้ อย่าทำกับอนาคตใหม่ เพราะพรรคเรายืนยันตลอดว่าเรามีแนวทางของเรา คนที่จะมาอยู่ด้วยกันต้องคิดเหมือนกัน เดินและสนับสนุนนโยบายแนวเดียวกัน ถึงจะสามารถมาอยู่ร่วมกันได้”

“เราก็พยายามคัดกรองกันเต็มที่ ทีนี้เมื่อคัดกรองมาเสร็จแล้วเกิดปัญหานี้จะจัดการปัญหาอย่างไร ผมก็ใช้มาตรการภายในพรรคเดินไป แต่ท้ายที่สุดมันติดข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญว่าเป็นเอกสิทธิ์ของเขาในการลงมติ จะขับออกก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวก็ย้ายไปเติมเสียงให้พรรคอื่น สุดท้ายคนเหล่านี้ยังไงก็ได้เป็น ส.ส.ต่อ

ผมเรียกร้องอยู่ 2 เรื่อง

1. คนที่โหวตสวนมติพรรคบ่อยๆ โดยเฉพาะมติพรรคที่เป็นเรื่องนโยบาย ที่พรรครณรงค์ไว้ ต้องพิจารณาตนเองว่า ถ้าคุณอยู่ในพรรคนี้ไม่ได้ ทำตามนโยบายไม่ได้แบบนี้ลาออกจากสมาชิกพรรคไปซะ ในเมื่อคุณเองอยู่แล้วไม่มีความสุข อยู่แล้วมันไม่ใช่ตัวคุณ แน่นอนเขาคงไม่ลาออก เพราะถ้าลาออกก็คงจะไม่ได้เป็น ส.ส. อย่างนี้เท่ากับว่าคุณหวงสถานะความเป็น ส.ส.เอาไว้ ในขณะที่คุณไม่ได้มีความอาลัยอาวรณ์กับการเป็นสมาชิกพรรคแล้ว

คำถามคือ อย่างนี้พรรคมีความผิดอย่างนั้นหรือ?

หรือว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว คนเหล่านี้ต่างหากที่เปลี่ยนไป วันที่เราลงหาเสียง คุณพร้อมใจกันใช้แบรนด์พรรคอนาคตใหม่ คุณพร้อมใจเอานโยบายของพรรค คุณใช้ภาพลักษณ์ กำลังแรง กำลังกาย กำลังใจ ความนิยมของหัวหน้าพรรคไปหาเสียง

แต่ท้ายที่สุดคุณกลับมาทำแบบนี้ ผมถามจริงๆ ว่าเอาอะไรคิด เอาจากตรงไหนคิด จะลาออกไปหรือจะให้พรรคขับ เลิกแล้วต่อกัน มันก็เหลือทางออกอยู่แค่นี้

แต่ที่แน่ๆ ถ้าเดินกับพรรคต่อไม่ได้ ไม่ทำตามนโยบายที่พรรคใช้หาเสียง ก็ต้องเหลือทางเดียวคือครั้งหน้าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครในนามพรรคอีกต่อไป

 

เอายังไงต่อ มรดก คสช.

ผมว่ายังมีช่องทางในการจัดการกับมรดกบาป คสช.อีกหลายเรื่อง จริงๆ แล้วการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อการศึกษาผลกระทบเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพราะว่าในท้ายที่สุดแล้วผลสัมฤทธิ์ของมันที่ได้มาคือรายงาน 1 ชิ้นเพื่อนำเอาไปเสนอสภาผู้แทนราษฎร พวกเราจะไปสั่งการดำเนินคดี พล.อ.ประยุทธ์ย้อนหลังอะไรไม่ได้หรอก หรือเราจะไปบังคับให้เสียงข้างมากนะครับโหวตให้กฎหมาย เลิกคำสั่ง คสช.ฉบับต่างๆ ในอดีตก็เป็นไปไม่ได้ มันก็จะได้แค่รายงานออกมา

ผมเองก็แปลกใจว่าทำไมรัฐบาลถึงกลัวขนาดนี้ แค่ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา ทำไมถึงกังวลใจได้ขนาดนี้

การที่เราตั้งคณะกรรมาธิการ ไม่ได้หมายความว่าเราจะเดินหน้าต่อไม่ได้ เรายังมีคณะกรรมาธิการสามัญ คณะกรรมาธิการกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ที่ผมเป็นประธานอยู่ เราก็จะเดินหน้าพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวนอกสภาในฐานะที่พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองและชูธงเรื่องการจัดการมรดกบาป คสช. มาอย่างต่อเนื่อง เราก็นำเอาเรื่องนี้ไปรณรงค์ต่อข้างนอกกับพี่น้องประชาชน

ในเมื่อสภาไม่สามารถทำได้ เราก็จำเป็นต้องรณรงค์กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากบรรดาประกาศคำสั่ง คสช.อย่างต่อเนื่องต่อไป พรรคการเมืองก็ต้องทำบทบาททั้งในและนอกสภา

เหมือนจุดไม่ติด

แต่คนก็คิดคาดการณ์เรื่องเคลื่อนไหวบนถนน

ความคิดจิตใจอารมณ์ของผู้คนในสังคม ทุกอย่างต้องใช้เวลาสะสม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจขึ้นมา แทนที่จะเรียกร้องให้คนออกมาแสดงพลังทางการเมือง ก็ต้องเข้าใจในประเด็นนี้

ประการต่อมา ภาพทรงจำในอดีตของประเทศไทยช่วง 13 ปีที่ผ่านมา ถือว่าการชุมนุมนำไปสู่ความขัดแย้งกันจนบ้านเมืองไปต่อไม่ได้ นี่คือภาพที่ถูกฝังหัวในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา

แต่ผมเรียนครับว่า การออกมาเรียกร้องในที่สาธารณะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ แล้วการชุมนุมกันแต่ละครั้งไม่ได้หมายความว่าจะได้บรรยากาศเดิมๆ เหมือน 13 ปีที่ผ่านมา

ผมเชื่อว่าถ้าเกิดการชุมนุมก็มีการชุมนุมอย่างสันติ ปัญหามันอยู่ที่ว่า ประเด็นไหนที่มันจะถูกจุดติดขึ้นมาในสังคม ไม่มีใครคาดคิด ไม่มีใครรู้

ในชิลีแค่ขึ้นค่ารถเมล์ก็ติดได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เกิดร่วมกันทั่วโลกก็คือการจุดติดทุกครั้งเกิดจากความรู้สึกร่วมกันว่า ความรู้สึกประชาชนไม่พอใจสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วผมพูดจริงๆ ว่า ถ้าคุณต้องการหลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ ผู้มีอำนาจในปัจจุบันต้องใช้ช่องทางรัฐสภาเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ต้องรู้ความต้องการประชาชนแล้วให้สภาผลักดันให้มันเกิดขึ้น

การเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมักมาจากการที่สถาบันการเมืองไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน

ผมและพรรคอนาคตใหม่เพื่อนสมาชิกก็พยายามผลักดันหลายเรื่องให้ไปปรากฏอยู่ในสภา แต่แล้วก็จะหักดิบ อย่างกรณีเรื่องนับคะแนนใหม่ หรือตั้งแต่เริ่มเลือกนายกฯ ให้ ส.ว.มาโหวต คนก็เกิดกระแส ผิดหวังกันไปยกแรก ปัญหาเศรษฐกิจก็แก้ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องสะสมต่อมา ถามว่าเพราะอะไร เพราะโครงสร้างรัฐธรรมนูญนี้รัฐบาลต้องบริหารความต้องการของพรรคการเมืองที่เข้ามาร่วมหลากหลาย มากกว่าที่จะส่งมอบนโยบายแก้ไขปัญหาปากท้อง แยกกันเดินเต็มไปหมด ยังไม่นับถึงความอึดอัดจากระบบในมุมอื่นๆ คนก็ไม่พอใจเพิ่มขึ้นไปอีก

ผมมองว่าเรื่องแบบนี้มันจะสะสมไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมันจะปะทุขึ้นมา

ทางลงทางหนึ่งที่สวยมากคือ คุณต้องใช้สถาบันการเมืองที่มีอยู่เป็นทางออก

แต่ถ้าคุณเลือกที่จะไม่ใช้ เพียงเพราะกลัวว่าใครจะมาตรวจสอบคุณ ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คุณต้องพึงระวัง

อย่าดูเบาประชาชน อะไรจะเกิดไม่มีใครคาดหมายได้ทั้งนั้น

https://www.youtube.com/watch?v=zqb6oEcGO3A&t=168s