ดอกไม้ ปลายปืน….

AFP PHOTO / INDRANIL MUKHERJEE

ทบทวนกันอีกครั้ง สำหรับ 4 อนุกรรมการ ที่จะเป็น “หัวใจ” ของการปรองดอง ที่เริ่มมีการคิกออฟแล้ว ในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

1. คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

2. คณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน

3. คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน

และ 4. คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

จะเห็นว่า มีการระดมเอานายทหารระดับผู้นำเหล่าทัพเข้ามาเป็นประธาน ถึง 3 คณะ

สะท้อนถึง การ “วาง” และให้ “น้ำหนัก” ต่ออนุกรรมการอย่างสูงยิ่ง

ขณะเดียวกัน ยังชี้ให้เห็นว่า การปรองดองที่จะเกิดขึ้น อยู่ภายใต้การนำอิทธิพล และกำกับดูแลของนายทหารแกนนำ โดยตรง

โดยเฉพาะการวาง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง นั้น ต้องถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ

เพราะ “ข้อเสนอ” ที่เกิดขึ้นภายใต้การดูแลของ พล.อ.เฉลิมชัย จะเป็นพันธะผูกพันที่ฝ่ายเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง จะต้องมาร่วมเซ็นเอ็มโอยู หรือไม่ก็ต้องทำสัญญาประชาคม ที่จะปฏิบัติตาม

แน่นอน ความศักดิ์สิทธิ์ของเอ็มโอยู หรือสัญญาประชาคม จะเกิดขึ้น คนที่เป็นประธานย่อมมีความสำคัญ

ภารกิจนี้ จึงไม่มีใครจะเหมาะสมเท่านายทหารผู้นี้–พล.อ.เฉลิมชัย ในหมวก “ผู้บัญชาการทหารบก”

AFP PHOTO / MUNIR UZ ZAMAN

ต้องยอมรับว่า การเข้าสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ของ พล.อ.เฉลิมชัย นั้น ถูกจับตามองว่าเป็นสถานการณ์ “พิเศษ”…พิเศษจนแม่ทัพนายกอง ทั้งสายบูรพาพยัคฆ์ ทหารเสือราชินี และวงศ์เทวัญ ต่างแถวตรง สยบนิ่ง ต่อผู้บัญชาการทหารบก รบพิเศษ ผู้นี้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ให้ความสำคัญ และแสดงความไว้วางใจต่อนายทหารผู้นี้อย่างมาก ดังนั้น บทบาทที่มอบให้ ก็เป็นเสมือนส่งสัญญาณไปยังทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง ให้ยอมรับด้วย

ยอมรับด้วย ในฐานะผู้กำกับดูแลให้เป็นไปตาม “ข้อเสนอ” และ “ตกลง” เป็น “ดอกไม้” จาก “ปลายปืน” ที่ควรจะต้อง “รับ” โดยไม่บิดพลิ้ว ท่ามกลางกระแสที่ถูกมองว่าเป็นสถานการณ์ “พิเศษ”

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ทั้งนี้ ฝ่ายทหาร โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันมาตลอดว่า “ปลายปืน” ไม่ได้สร้างปัญหา หรือต้องการยึดอำนาจ หากแต่ฝ่ายอื่นเป็นผู้สร้างเงื่อนไขมากกว่า

ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุไว้ในเอกสาร “หลักคิดของนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาล” ซึ่งเรียบเรียงจากหนังสือหลักคิดในการปฏิรูปประเทศไทย ของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร รวมถึงงานของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นายคณิต ณ นคร และ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และอีกหลายคณะ ตอนหนึ่งว่า

“การป้องกันการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือการยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีใดๆ สามารถทำได้โดยผู้ที่ครองอำนาจรัฐด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ได้ปฏิบัติตามกลไกรัฐธรรมนูญภายใต้ประชาธิปไตยอย่างเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับจริยธรรมทางการเมืองของผู้ครองอำนาจ และให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ตามกลไกของรัฐธรรมนูญอย่างเหมาะสม ทั้งสถานการณ์และเวลา

สาเหตุสำคัญในการถูกยึดอำนาจ ซึ่งถูกนำเป็นเงื่อนไขก็คือ พื้นที่ประชาธิปไตยที่ถูกขยายขอบเขตไปจนเกินความเหมาะสม จนสุ่มเสี่ยงต่อการเข้ามาแทนที่ประชาธิปไตยของอนาธิปไตยแล้ว การยึดอำนาจ หรือใดๆ ก็จะเกิดขึ้น เพราะอนาธิปไตยเป็นการจลาจล ความวุ่นวาย และปั่นป่วนในบ้านเมือง ที่คุกคามโครงสร้างและสถาบันหลักของประเทศชาติ ซึ่งรวมถึงกฎหมาย และสถาบันตุลาการ

หากไม่ต้องการให้การยึดอำนาจเกิดขึ้นอีก ก็จะต้องป้องกันมิให้พื้นที่ประชาธิปไตยเกินขอบเขต นำไปสู่ความปั่นป่วน ความวุ่นวาย เพราะเมื่อสถานการณ์ไปสู่ขั้นนั้น การควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบ ก็จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ทหาร”

ถือเป็นการยืนยันว่า ทหารไม่ใช่ผู้ก่อปัญหาแต่เป็นผู้แก้ปัญหา

ดังนั้น “ไม่ต้องมาจับทหารไปทำสัญญาอะไรกับใคร ไปทำสัญญากับตัวเองและประชาชนให้ได้ว่าจะไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

สอดคล้องกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่บอกว่าจะไม่มีการทำสัญญาประชาคมห้ามทหารทำรัฐประหาร

“ไม่เกี่ยวกับทหาร ทหารไม่ทำรัฐประหาร ไม่จำเป็นต้องทำสัญญาประชาคม หากทหารทำรัฐประหารก็ต้องถูกยิงเป้า หากประชาชนไม่เอาด้วย ยกเว้นประชาชนเรียกร้อง”

ในสายตาของทหาร การดำเนินการเกี่ยวกับการปรองดองครั้งนี้ จึงเป็นการยื่นดอกไม้จากปลายปืน ให้กับประชาชน ประเทศชาติมากกว่า

ส่วนเหตุไฉนดอกไม้จึงยังออกมาจากปลายปืน แทนที่จะเป็น “มืออันอ่อนนุ่ม”

นั่นก็อาจเป็นเพราะนายทหารที่คุมอำนาจอยู่ในเวลานี้ เชื่อว่า หากปล่อยให้สถานการณ์พัฒนาไปตามธรรมชาติ บ้านเมืองก็จะกลับไปสู่ความวุ่นวายอีก

จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ และมีการส่งสัญญาณ หรือสัญลักษณ์ชัดเจนว่า ต้องมีการกำกับดูแล

อาทิ ในการรับฟังความคิดเห็น ก็ยังใช้ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถือเป็นศูนย์บัญชาการของกองทัพ

เช่นเดียวกับคณะอนุกรรมการต่างๆ ก็ระดมเอาทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้ามาทำ ซึ่งนอกจากจะชี้ว่าเป็นงานสำคัญแล้ว

ตำแหน่งนายทหารระดับสูง น่าจะ “ข่ม” การขัดขืนหรือต่อต้านจากฝ่ายที่ยังไม่สุกงอมกับ คสช. ลงได้บ้าง

โดยเฉพาะ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ที่ต้องมาดูแล “การจัดทำข้อเสนอ” อันเป็นหัวใจของการปรองดองคราวนี้

อาจจำเป็นต้องใช้บารมีและอำนาจของผู้บัญชาการทหารบก ที่มีศักยภาพ “รัฐประหาร” ได้ ตะล่อม กดดัน ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยอมรับข้อเสนอ “ปรองดอง” อย่างไม่ขัดขืน

ดอกไม้จากปลายปืน จึงเป็นสิ่งที่ “กองทัพ” เห็นว่า เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุดตอนนี้

AFP PHOTO / SAEED KHAN