ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม ในจอมคนป่าอสรพิษ / Embrace of the Serpent (3)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon
http://assets.survivalinternational.org/pictures/1461/amazon-indians_original.jpeg

ภาพยนตร์เรื่อง Embrace of the Serpent พูดถึงการเดินทางของคนป่าและนักสำรวจฝรั่งผู้ต้องการพืชพรรณในป่าลึกของอเมซอนตามบันทึกจากเรื่องจริงที่เกิดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งในแง่สภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์เป็นช่วงเวลาที่ “ตะวันตก” จากอังกฤษ, อเมริกา, ดัตช์ ฯลฯ แผ่อิทธิพลสู่อเมซอนตอนเหนือตั้งแต่บราซิล, เอกวาดอร์, โบลิเวีย, โคลัมเบีย และเปรู เพื่อเอาน้ำยางจากยางป่าไปเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมอื่น

ซึ่งทุกวันนี้เรียกยุคนั้นสั้นๆ ว่า Rubber Boom

ในแง่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ Rubber Boom หรือยุค “คลั่งยาง” เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ.1879-1912 แต่จะเข้าใจยุคนี้ได้ ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าอเมริกาและยุโรปเวลานั้นผ่านกระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรมราว 30 ปี จนเกิดสินค้าและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขึ้นมหาศาล

ส่วนน้ำยางนั้นเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่นักอุตสาหกรรมเห็นอรรถประโยชน์มานานแล้ว แต่การนำน้ำยางไปใช้ในการผลิตจริงกลับเผชิญปัญหาที่ คาร์ล มาร์กซ์ เรียกว่า “พลังการผลิต” อันส่งให้อุตสาหกรรมยางมีเพดานของการขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพจริง

พูดสั้นๆ อุตสาหกรรมยางก่อนยุค “คลั่งยาง” เผชิญข้อจำกัดมูลฐานจากเทคโนโลยีซึ่งทำได้แค่เปลี่ยนน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น นั่นคือทำได้แค่ทำให้ปริมาณเนื้อยางสูงขึ้น เก็บได้นานขึ้น และขนส่งจากแหล่งปลูกไปยังผู้ซื้อได้สะดวกขึ้น

แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตกคือยางเปลี่ยนรูปตามอากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไปได้ตลอดเวลา

การนำยางไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจึงทำได้แค่ในระดับเดียว

การค้นพบเทคโนโลยีคงรูปยางด้วยกำมะถันโดย ชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถุกพูดเสมอว่าเป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้อุตสาหกรรมยางเติบโตแบบก้าวกระโดด

เพราะเมื่อยางไม่เปราะในอุณหภูมิต่ำและไม่งอในอุณหภูมิสูง ยางก็สามารถถูกพัฒนาต่อไปเป็นส่วนประกอบสำหรับผลิตสินค้าในชีวิตประจำวันได้อีกมหาศาลตั้งแต่ร่ม, รองเท้า, หมวก , กระเบื้อง ฯลฯ รวมทั้งเป็นวัตถุดิบหลักของเส้นด้ายยางและท่อร้อยสายไฟซึ่งสำคัญต่ออุตสาหกรรมพื้นฐานอย่างสิ่งทอและไฟฟ้าทั้งหมด

หลังจากปัญหาพลังการผลิตของอุตสาหกรรมยางจบไป ความต้องการยางเพื่อใช้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมก็พุ่งสูงขึ้น

และเมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ฟอร์ดก็พัฒนาระบบการผลิตและประกอบรถยนต์แบบสายพานที่เรียกว่า Fordism สำเร็จ

ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในอเมริกาเริ่มหาทางขยายตลาดให้รถเป็นสินค้ามวลชนสำหรับครอบครัวทั่วไป

จากนั้นรถยนต์ก็มีต้นทุนการผลิตลดลง ผลิตได้เร็วขึ้น และไม่ใช่สินค้าของผู้บริโภคชั้นสูงต่อไปอีก

โดยการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ยกระดับความต้องการยางเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงนี้โดยตรง

กล่าวในแง่นี้ ยุค “คลั่งยาง” เป็นผลของพัฒนาการด้านพลังการผลิตในศูนย์กลางของทุนนิยมโลกจากกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สามด้าน

ด้านแรก คือพัฒนาการของทุนนิยมอุตสาหกรรมในระบบโลกเอง

ด้านที่สอง คือพัฒนาการของเทคโนโลยีขึ้นรูปน้ำยางในอุตสาหกรรมยาง

และด้านที่สาม คือพัฒนาการของการผลิตแบบสายพานในอุตสาหกรรมรถยนต์

แม้ในแง่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การพัฒนาพลังการผลิตทั้งสามด้านคล้ายแนบแน่นกับการเติบโตของทุนนิยมในอเมริกา

แต่ถ้าในแง่ประวัติศาสตร์ “อารยธรรม” การพัฒนาก็เชื่อมโยงกับความรู้สึกแห่งยุคสมัยหรือ Zeitgeist ที่ผลักดันความเคลื่อนไหวของสังคมทั้งอเมริกาและยุโรป นั่นคือยุคที่เรียกกว้างๆ ว่า La Belle ?poque หรือ “ยุคแห่งความสุขสม”

ซึ่งสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกฟูฟ่องด้วยความเชื่อว่ามนุษย์จะมั่งคั่งขึ้น วิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าขึ้น ส่วนเทคโนโลยีจะพัฒนาจนเกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา

“ยุคแห่งความสุขสม” หมายถึงระยะเวลาหลังจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ยุติใน ค.ศ.1871 จนเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใน ค.ศ.1914 ซึ่งเป็นครึ่งศตวรรษที่มุมมองว่าโลกเข้าสู่สภาวะสันติอย่างสมบูรณ์เติบโตอย่างแรงกล้า

อเมริกาเข้าสู่ยุคทองก็ในช่วงนี้ ส่วนประดิษฐกรรมที่เป็นหมุดหมายทางวัฒนธรรมของมนุษย์อย่างหอไอเฟล, รถยนต์, หลอดไฟ, โทรศัพท์, เครื่องฉายภาพยนตร์ ฯลฯ ก็เกิดขึ้นในเวลานี้ด้วย

จนมีผู้เทียบเคียงว่ายุคแห่งความสุขสมนี้เชื่อมต่อกับยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ไปเลย

เมื่อ La Belle ?poque เกี่ยวพันกับประดิษฐกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงทุกวันนี้อย่างแยกจากกันไม่ได้ La Belle ?poque หรือ “ยุคแห่งความสุขสม” ย่อมเป็นยุคที่ประดิษฐกรรมเหล่านี้กลายเป็น “สินค้า” สำหรับมวลชนไปในที่สุด “ตลาด” ขับเคลื่อนด้วยวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดสินค้าชนิดใหม่ซึ่งดึงดูดกำลังซื้อจากผู้บริโภคไม่รู้จบแบบนี้ ขณะที่การขยายตัวของตลาดก็จะผลักดันให้เกิดการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ

ซึ่งถึงจุดหนึ่งทำให้เกิดการขยายตัวของทุนนิยม

ระบบทุนนิยมเดินหน้าบนความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการของพลังการผลิตและตลาดที่สอดคล้องและได้สัดส่วนกันแบบนี้ และถึงจุดหนึ่งกลไกนี้ก็จะขับเคลื่อนให้ระบบทุนนิยมขยายตัวจาก “ศูนย์กลาง” ไปสู่ “ชายขอบ” เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบ, แหล่งแรงงานราคาถูก, แหล่งผลิตหรือประกอบสินค้า และถึงจุดหนึ่งก็คือเป็น “ตลาด” สำหรับสินค้าที่ผลิตจากทรัพยากรของชายขอบเอง

ยกตัวอย่างร่วมสมัยขึ้นว่าทุนนิยมโลกในช่วงหลังนี้ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมไอที/คอมพิวเตอร์ ซึ่งถึงที่สุดเป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีสองด้านนี้ให้ราคาต่ำจนมวลชนบริโภคได้ เม้าส์เป็นเทคโนโลยีที่ Xerox สร้างตั้งแต่ปี 1973 ทว่ามีปัญหาว่าไม่สามารถพัฒนาให้ราคาถูกสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ผลก็คือเม้าส์ยุคต้นราคาเกือบ 420 ดอลลาร์ แต่เมื่อไมโครซอฟต์แก้โจทย์นี้ได้ เม้าส์ก็ราคาถูกลง ผู้บริโภคใช้คอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้น อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ขยายตัวขึ้น และการพัฒนาคอมพิวเตอร์ให้ราคาถูกลงเพื่อผู้บริโภคระดับกลางและโลกที่สามก็ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตจนปัจจุบัน

พัฒนาการด้านพลังการผลิตในอเมริกาและยุคสมัยแห่งประดิษฐกรรมในยุโรปพัวพันกับอเมริกาใต้, อเมซอน, บราซิล, โคลัมเบีย และในหนังเรื่อง Embrace of the Serpent คือชนเผ่าในป่าลึกต่างๆ ก็ด้วยกระบวนการคล้ายคลึงกันนี้เอง

ความต้องการหายางดิบป้อนการผลิตสินค้าที่เติบโตขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ส่งผลให้นักธุรกิจการเกษตรแย่งชิงเข้าไปลงทุนอเมซอนซึ่งอุดมด้วยยางป่าและที่ดิน

ในช่วงแรกน้ำยางเพื่อส่งออกตลาดโลกได้มาจากการกรีดยางป่า จากนั้นก็เกิดการตัดป่าเพื่อเอาพื้นที่ไปปลุกยางโดยตรง และแน่นอนว่ากำไรจากการส่งออกน้ำยางย่อมส่งผลให้การกรีดยางป่าและการตัดไม้ทำลายธรรมชาติป่าเพื่อปลูกยางขยายตัวสูงยิ่งขึ้นไป

ตัวเลขบางแหล่งระบุว่าการส่งออกยางเป็นธุรกิจที่โตเร็วมหาศาล มีผู้ประเมินว่าแถบอเมซอนส่งออกยางปี ค.ศ.1855 รวม 2,100 ตัน แต่ตัวเลขนี้ขยับเป็น 10,000 ตัน ใน ค.ศ.1879 และในช่วงที่การส่งออกขึ้นสูงสุด

เฉพาะแถบบราซิลก็ส่งออกน้ำยางถึง 42,000 ตัน หรือพูดง่ายๆ คือสูงขึ้น 20 เท่า ในระยะเวลา 50-60 ปี ซึ่งแปลความได้วาการกรีดน้ำยางป่าและการถางป่าเพื่อปลูกต้นยางก็น่าจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนไม่ต่างกันนัก หากไม่มีเทคโนโลยีเร่งน้ำยางหรือเพิ่มผลผลิตต่อไร่ระดับมหัศจรรย์ (ซึ่งในเวลานั้นไม่ปรากฏว่ามี)

ด้วยการเติบโตของอุตสาหกรรมส่งออกน้ำยางที่นำมาสู่การเพิ่มพื้นที่กรีดยางป่าและการตัดป่าเพื่อปลูกยาง สภาพธรรมชาติและภูมิศาสตร์มนุษย์หรือ Human Geography แถบนั้นก็เกิดความเปลี่ยนแปลงสามข้อ

ข้อแรก คือพื้นที่ป่ามหาศาลถูกทำให้เป็นเมืองสำหรับพ่อค้าและนักธุรกิจยาง

ข้อสอง คือพื้นที่ป่าที่ชนเผ่าต่างๆ เคยอยู่นั้นเริ่มเป็นสัมปทานของบริษัทส่งออกยางมากขึ้นเรื่อยๆ

และข้อสาม คือคนพื้นเมืองถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ หรือไม่อย่างนั้นก็คือกวาดต้อนเป็นแรงงานทาสในการกรีดยางหรือปลูกยาง

เห็นได้ชัดมีว่าธุรกิจน้ำยางในบริบทนี้ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หลักสามตัว เครื่องยนต์แรกคือตลาดยางโลก เครื่องยนต์ที่สองคือบริษัทส่งออกน้ำยาง เครื่องยนต์ที่สามคือการเก็บกรีดน้ำยางป้อนบริษัทเหล่านั้น ส่วนห่วงโซ่เชื่อมต่อเครื่องยนต์ทั้งสามคือคนกลุ่มที่เรียกว่า Rubber Baron หรือ “เจ้าพ่อยาง” ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วได้แก่พ่อค้าที่เป็นคนเดียวกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่นั่นเอง

แม้ “เจ้าพ่อยาง” หรือ Rubber Baron จะเป็นเรื่องใหญ่ระดับทำวิทยานิพนธ์ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายแห่ง

แต่หากสรุปในเวลาจำกัดก็คือเจ้าพ่อยาง “ปกครอง” พื้นที่ของตัวเองราวกษัตริย์เหนือพสกนิกรในราชอาณาจักร กลไกการปกครองของเจ้าพ่อยางได้แก่การจัดตั้งกองกำลังแบบแก๊งอันธพาล หรือ Muchachos ซึ่งมีชื่อต่างกันตามแต่ละพื้นที่

และหน้าที่หลักของกองกำลังก็ได้แก่การควบคุมให้คนพื้นเมืองกรีดยางหรือทำน้ำยางให้มากตามความต้องการจากตลาดโลกให้ได้ตลอดเวลา

เจ้าพ่อยางและกองกำลังมุ่งใช้คนพื้นเมืองเป็นแรงงานด้วยหลายสาเหตุ

สาเหตุแรกที่บันทึกนักสำรวจพูดเสมอคือเจ้าพ่อมองว่าคนพื้นเมืองไม่ “รู้มาก” และไม่เกียจคร้านเท่าพวก Mestizo หรือพวกลูกผสมระหว่างคนยุโรปกับคนพื้นเมือง

สาเหตุที่สอง คือคนพื้นเมืองอยู่แยกเป็นชนเผ่าจนอ่อนแอและควบคุมได้ง่าย

และสาเหตุที่สาม คือคนพื้นเมืองตั้งรกรากใกล้พื้นที่กรีดยางจนไม่ต้องขนส่งแรงงาน หรือที่จริงทั้งสามสาเหตุเป็นเรื่องเดียวกันคือชนเผ่าเป็น “แรงงาน” ที่เจ้าพ่อใช้ได้สะดวกที่สุดโดยไม่มีอำนาจต่อรอง

มีงานเขียนมหาศาลที่เล่าสภาพซึ่งเจ้าพ่อยางปกครองคนพื้นเมืองแบบ “แรงงานทาส”

ตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดคือบันทึกของ Walter Hardenburg วิศวกรอเมริกาซึ่งถูกจับโดยเจ้าพ่อยางรายใหญ่ของเปรูชื่อ Julio Cesar Arana ซึ่งระบุว่าคนพื้นเมืองถูกบังคับให้กินอยู่ในค่ายกักกันโดยให้อาหารแค่พอประทังชีวิต การเฆี่ยนตีจนเห็นกระดูกเกิดขึ้นเป็นประจำ คนตายถูกทิ้งให้เน่ากลางค่าย หรือไม่อย่างนั้นก็โยนเป็นอาหารให้หมา

และบ่อยครั้งที่กองกำลังของเจ้าพ่อยางจับคนพื้นเมืองเผาทั้งเป็นด้วยน้ำมันก๊าดต่อหน้าทุกคน