วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สี่สกุลแห่งเจินกวาน

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุย-ถังกับนานาวิสาสะสมัย (19)

มหาจักรวรรดิถัง (ต่อ)

วงศ์ตระกูลนี้รู้จักกันในคำเรียกขานว่า สี่สกุล (ซื่อซิ่ง, four surnames) ที่มีความโดดเด่นเหนือทุกสกุล ทั้งสี่สกุลนี้จึงจัดเป็นกลุ่มวงศ์ตระกูลเฉพาะ และเพื่อทำให้สี่สกุลนี้มีความสูงเด่น ยั่งยืน และมีอภิสิทธิ์ โดยคาดหวังว่าสี่สกุลนี้จะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับท้องถิ่นต่อไป

เพื่อให้ราชวงศ์มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น ถังไท่จงจึงทรงให้วางหลักเกณฑ์เพื่อเชิดชูสี่สกุลนี้ขึ้นใน ค.ศ.632 หลักเกณฑ์นี้เป็นไปอย่างพิถีพิถัน รอบคอบ และเต็มไปด้วยรายละเอียด โดยเฉพาะการพิจารณาในทางสายเลือด

หลังจากที่ขุนนางอาวุโสที่ถังไท่จงทรงวางใจให้ศึกษาหลักเกณฑ์ที่ว่าแล้วเสร็จ และนำผลการศึกษามาถวายแก่ถังไท่จง ผลคือ หลักเกณฑ์นี้ทำให้ถังไท่จงทรงกริ้วเป็นที่ยิ่ง เพราะในหลักเกณฑ์นี้จัดให้สกุลชุ่ยอยู่ในอันดับหนึ่งของสี่สกุล

สกุลชุ่ยนี้ถือเป็นวงศ์ตระกูลที่มีอิทธิพลในภูมิภาคที่เรียกว่า สามตะวันออก (ซันตง) อันประกอบด้วยมณฑลเหอเป่ย เหอหนัน และซันตงในปัจจุบันที่ต่างก็ตั้งอยู่ทางตะวันออก (1) ถังไท่จงจึงตีตกหลักเกณฑ์ฉบับนั้น แล้วให้ศึกษาขึ้นใหม่อีกครั้ง

จนถึง ค.ศ.638 ผลการศึกษาจึงแล้วเสร็จโดยมีชื่อว่า จดหมายเหตุเชื้อสายวงศ์ตระกูลในยุคเจินกวาน (2) (เจินกวานซื่อจู๋จื้อ) ผลการศึกษาครั้งนี้ได้จัดอันดับขึ้นใหม่ โดยผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกับจักรพรรดิและตระกูลขุนนางชั้นสูงอยู่อันดับหนึ่ง ผู้ที่มีสายเลือดทางมารดาในสายของถังเกาจู่กับถังไท่จงอยู่ในอันดับสอง

ส่วนสกุลชุ่ยถูกจัดให้อยู่ในอันดับสาม

 

การจัดอันดับในครั้งนี้มีประเด็นทางการเมืองแฝงอยู่ นั่นคือ หากบุคคลที่เคยมีอิทธิพลก่อนหน้านี้มิได้อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีการจัดอันดับดังกล่าวแล้ว ก็จะเท่ากับว่าบุคคลนั้นถูกลดความสำคัญลงไป และจะไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติและไร้อภิสิทธิ์ใดๆ ซึ่งเท่ากับถูกลดฐานะและบทบาททางการเมืองลงไปด้วย

แต่ทั้งที่ถังไท่จงจักทรงทำเช่นนี้แล้วก็ตาม แต่ขุนนางอย่างฝังเสีว์ยนหลิงและเว่ยเจิงก็ยังได้แต่งงานกับสมาชิกในครอบครัวของจักรพรรดิจนได้ หลักคิดที่ทำไปเพื่อลดฐานะของเสนามาตย์ที่อยู่นอกตระกูลจึงไม่สู้จะประสบผลสำเร็จมากนัก

นอกจากรากฐานต่างๆ ที่ถังไท่จงได้วางเอาไว้จากที่กล่าวมาแล้ว ระบบการสอบบัณฑิตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีการวางรากฐานเช่นกัน ถึงแม้ในด้านหนึ่งจะเป็นการสานต่อระบบนี้จากที่มีการวางระบบเอาไว้เมื่อก่อนหน้านี้ก็ตาม

โดยว่าที่บัณฑิตในระดับมณฑลและเมืองหลวงในยุคนี้จักต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์จากจักรพรรดิ และเป็นการสอบโดยส่วนพระองค์อันเป็นการสอบขั้นสุดท้าย ผู้เข้าสอบจะได้รับการดูแลด้านเสื้อผ้าและอาหารอย่างดี

ว่าที่บัณฑิตที่สุภาพเรียบร้อยนี้จะมีอยู่ประมาณสิบคนต่อปีโดยเฉลี่ยที่สอบผ่าน โดยก่อนสอบนั้นว่าที่บัณฑิตเหล่านี้จะได้รับการอบรมจากสำนักงานอำนวยการมหาสิกขาลัยแห่งรัฐ (กว๋อจื่อเจียน, Directorate of the State University) ผู้ซึ่งควบคุมดูแลหลักสูตรของสถานศึกษาห้าแห่ง

โดยสามในห้าแห่งคือสถานศึกษาที่ถังเกาจู่ทรงตั้งขึ้นได้รับการขยายและก่อสร้างใหม่ในยุคนี้ จนสามารถรับนักเรียนได้มากกว่าถึง 2,000 คน

ส่วนอีกสองแห่งถังไท่จงทรงตั้งขึ้นใหม่คือ สำนักลายสือจีน (ซูเสีว์ย, School for Calligraphy) ที่ตั้งขึ้นใน ค.ศ.628 และสำนักนิติการ (ลี่ว์เสีว์ย, School of Law) ที่ตั้งขึ้นใน ค.ศ.632 สำนักทั้งสองนี้เปิดให้กับบุตรหลานของข้าราชการชั้นผู้น้อยและราษฎรทั่วไป ที่ไม่หวังจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งขั้นสูงสุด

จากระบบการศึกษาที่วางไว้เช่นนี้จึงทำให้มีศึกษิต (scholars) และนักเรียนหลายพันคนเดินทางจากท้องถิ่นเข้ามายังเมืองหลวง

ควรกล่าวด้วยว่า จากการศึกษาที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางไปถึงมวลชนนี้ทำให้คำว่า กว๋อจื่อ ที่ก่อนหน้านี้หมายถึง กุลบุตรแห่งรัฐ นั้น ได้กลายความหมายไปเป็นหมายถึง มหาสิกขาลัยแห่งรัฐ ที่อาจเทียบได้กับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

จากที่กล่าวมานี้เป็นนโยบายภายในที่สำคัญ ส่วนนโยบายภายนอกที่มีต่อชนชาติที่มิใช่ฮั่นหรือต่อรัฐที่อยู่นอกแผ่นดินใหญ่ออกไปนั้น ถือเป็นอีกนโยบายที่มีความสำคัญ และสะท้อนให้เห็นความแตกต่างกับนโยบายเดียวกันจากยุคก่อนหน้านี้ ซึ่งงานศึกษานี้จึงได้อธิบายเป็นการต่างหากออกไป

 

นโยบายต่อชนชาติอื่นและประเทศอื่น

นับแต่ที่ราชวงศ์ฮั่นล่มสลายลง อิทธิพลของจีนที่เคยอยู่เหนือชนชาติที่มิใช่ฮั่นได้ลดทอนลงไปอย่างมาก เช่นเดียวกับความสัมพันธ์กับรัฐหรือประเทศต่างๆ ที่อยู่นอกแผ่นดินใหญ่ที่ก็เบาบางลงเช่นกัน บางชนชาติหรือบางรัฐถึงกับตั้งตนเป็นจักรวรรดิขึ้นมาท้าทายจีนด้วยซ้ำไป

ครั้นเมื่อสุยตั้งราชวงศ์ขึ้นมาก็พยายามที่จะทำให้ได้อย่างที่ฮั่นเคยทำเอาไว้ แต่สุยก็ทำได้ไม่มากเท่าก็ให้มีอันล่มสลายลงเสียก่อน ครั้นตกมาถึงถังแล้ว ความพยายามดังกล่าวยังคงอยู่ในเจตนารมณ์ที่จะสืบสานต่อไป

โดยเมื่อถึงยุคของถังไท่จงแล้วนั้น นโยบายต่อชนชาติที่มิใช่ฮั่นก็ดี หรือต่อรัฐหรือต่างประเทศอื่นๆ ก็ดี ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงจะส่งผลเชิงบวกแก่จีนเท่านั้น หากยังเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะในยุคก่อนหน้าหรือหลังจากนี้

และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ถังมีฐานะสูงส่งในประวัติศาสตร์จีนมาจนทุกวันนี้ ในที่นี้จะได้กล่าวถึงนโยบายในด้านนี้ผ่านชนชาติและรัฐหรือประเทศอื่นๆ

ดังนี้

เติร์กตะวันออกและเติร์กตะวันตก งานศึกษานี้ได้เคยกล่าวถึงปฏิสัมพันธ์ที่ชนชาติเติร์กสองฟากฟ้านี้มีต่อจีนมาแล้ว ว่าเป็นชนชาติที่จีนเรียกว่า ทูเจี๋ว์ย และมีผู้นำที่เรียกว่า คากาน หรือที่จีนเรียกว่า เข่อหัน หรือที่ต่อมาถูกเรียกกร่อนกลายเป็นว่า ข่าน

พอมาถึงยุคของถังแล้วชนชาติเติร์กนี้ยังคงเป็นชนชาติแรกที่มีปัญหาต่อความมั่นคงของจีน โดยเมื่อถังไท่จงขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.626 ได้ไม่นาน เติร์กตะวันออกก็ได้อาศัยช่วงเปลี่ยนผ่านนี้กรีธาทัพนับแสนเข้าตีจีนแทบจะทันที

ทัพนี้ยกมาตั้งมั่นอยู่ที่บริเวณแม่น้ำเว่ยในจุดที่ห่างจากฉังอันประมาณ 16 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าล่อแหลมต่อเสถียรภาพของถังอย่างยิ่ง

แต่ตามที่เล่ากันมาตามจารีตนั้นว่ากันว่า ถังไท่จงได้ใช้กลศึกด้วยการแยกทัพเติร์กออกเป็นทัพย่อยแล้วล้อมไว้ จากนั้นก็โน้มน้าวให้เจรจาสงบศึกจนสำเร็จ โดยมีการทำสนธิสัญญาพร้อมกับพิธีกรรมเซ่นบวงสรวงด้วยม้าขาวหนึ่งตัว แล้วทัพเติร์กก็ถอนกลับไป

แต่จากหลักฐานที่ปรากฏแล้วพบว่า แท้จริงแล้วทัพถังล้มเหลวในการใช้กำลังขับไล่ทัพเติร์ก แต่ที่สำเร็จจนทำให้ทัพเติร์กถอนกลับไปก็เพราะถังแลกด้วยสมบัติของตนในจำนวนที่กล่าวกันว่า “ขนจนหมดคลัง” (empty out the storehouses)

การพาดพิงถึงเรื่องเศร้านี้ตลอดรัชกาลถังไท่จงถือเป็น “เรื่องอัปยศที่สุดแสนจะปวดร้าว ณ แม่น้ำเว่ย”

 

แต่แล้วก็เหมือนกับประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่จู่ๆ อิทธิพลของเติร์กตะวันออกก็ลดลงอย่างรุนแรง เมื่อชนชาติสองกลุ่มที่อยู่ใต้บังคับได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจของเติร์กใน ค.ศ.627 และเกิดหิมะตกอย่างหนักจนพืชผลทางการเกษตรถูกทำลายสิ้น ส่งผลให้เกิดความอดอยากทั่วทั้งรัฐเติร์กตะวันออก

ซ้ำร้ายความล้มเหลวในการปราบปรามชนชาติที่ต่อต้านตนดังกล่าว ยังนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างคากานสองคนคือ เสียลี่ หรือ อิลลิก (Illig, ปกครอง ค.ศ.620-630) และ ทูลี่ หรือ โทลิส (Tolis, ค.ศ.603-631) ซึ่งเป็นหลานชายของเสียลี่

ความขัดแย้งนี้ทำให้เติร์กกลุ่มนี้อ่อนแอลง ตราบจน ค.ศ.629 ถังไท่จงจึงกรีธาทัพเข้าล้อมค่ายของเสียลี่ที่ตั้งอยู่ทางใต้บริเวณทะเลทรายโกบี จากนั้นก็บุกเข้าฆ่าฟันไพร่พลและปศุสัตว์ของเสียลี่อย่างโหดเหี้ยม ส่วนเสียลี่แหกค่ายหนีได้สำเร็จ แต่ก็ถูกจับกุมได้ใน ค.ศ.630 จากนั้นก็ถูกส่งตัวมายังฉังอัน

และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อยู่ที่ฉังอันในฐานะตัวประกันทางการเมืองจนสิ้นชีพ

——————————————————————————————–
(1) สามตะวันออกที่คำจีนเรียกว่า ซันตง นี้เป็นคนละคำกับซันตงที่เป็นมณฑล ด้วยชื่อหลังนี้หมายถึง ภูเขาตะวันออก
(2) เจินกวานคือชื่อรัชศกของถังไท่จง