เกษียร เตชะพีระ | ดุษฎีนิพนธ์ที่เหมือน “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ที่มีเชิงอรรถ (2)

เกษียร เตชะพีระ

ดุษฎีนิพนธ์ที่เหมือน “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ที่มีเชิงอรรถ (2)

การที่ผลงานและแนวคิดวิชาการสำคัญๆ เกี่ยวกับการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทยอยตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในช่วงราว 20 ปีหลังในรัชกาลของพระองค์ อาทิ

งานเรื่องพระราชอำนาจนำของอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ (เขียนเสร็จ พ.ศ.2547 พิมพ์เป็นหนังสือ พ.ศ.2550), งานเรื่อง Network Monarchy ของ Duncan McCargo (พ.ศ.2548), งานเรื่อง Deep State ของ Eug?nie M?rieau (พ.ศ.2559) และงานเรื่อง Parallel State และ Monarchised Military ของ Paul Chambers & Napisa Waitoolkiat (พ.ศ.2559)

อันเป็นช่วงจังหวะพอเหมาะให้ คุณอาสา คำภา นักวิจัยแห่งสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อาศัยสังเคราะห์และประยุกต์ใช้แนวคิดจากงานเหล่านี้ในการคิดค้นขีดเขียนดุษฎีนิพนธ์โดดเด่นของเขาเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ.2495-2535” (ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2562) นั้น

ช่วยให้สะท้อนย้อนคิดถึงข้อความตอนหนึ่งในปรัชญานิพนธ์เรื่อง “Philosophy of Right” (ค.ศ.1820) ของจอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกล นักปรัชญาจิตนิยมชาวเยอรมัน (ค.ศ.1770-1831) ที่ว่า :

“ปรัชญามาถึงฉากเหตุการณ์เอาเมื่อสายเกินกว่าจะให้คำแนะนำสั่งสอนว่าโลกควรจะเป็นเช่นไรแล้วเสมอ ในฐานะความคิดของโลก มันจะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อภาวะจริงสำเร็จรูปเรียบร้อยอยู่ที่นั่นแล้ว ภายหลังกระบวนการก่อรูปของภาวะจริงเสร็จสิ้นลงแล้ว…

“เมื่อปรัชญาทาสีเทาทับลงไปบนสีเทานั้น ชีวิตรูปทรงหนึ่งก็ถึงวัยชราแล้ว สีเทาของปรัชญาที่ทาทับสีเทามิอาจปลุกมันให้หนุ่มกระชุ่มกระชวยขึ้นมาใหม่ เพียงแต่ทำให้มันเป็นที่เข้าใจได้ ด้วยว่านกเค้าแมวแห่งเทพีมีเนอร์ว่าย่อมกางปีกออกโผบินก็ต่อเมื่อย่ำสนธยาแล้วเท่านั้น”

นอกจากนี้ คุณูปการสำคัญอีกประการหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ของคุณอาสาก็คือมันได้สังเคราะห์ เฉลยไข และเสนอคำอธิบายอย่างสร้างสรรค์ เกี่ยวกับข้อโต้แย้งลักลั่นเหลื่อมล้ำกันเรื่องเรื่องกำเนิดและการคลี่คลายขยายตัวของพระราชอำนาจนำในรัชกาลที่ 9 ระหว่าง :

ฝ่ายที่เห็นว่าพระราชอำนาจนำปรากฏเด่นชัดตั้งแต่เหตุการณ์มวลชนลุกฮือโค่นเผด็จการทหารคณาธิปไตยของ จอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พันเอกณรงค์ เมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 อันได้แก่ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล, ผมเอง และอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ vs.

ฝ่ายที่เห็นว่าพระราชอำนาจนำก่อตัวตั้งแต่ปลายพุทธทศวรรษที่ 2520 ถึงต้นพุทธทศวรรษที่ 2530 และอาจถือเหตุการณ์มวลชนลุกฮือโค่นเผด็จการ รสช. เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 เป็นหลักหมาย อันได้แก่ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แห่งสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยคุณอาสาสังเคราะห์ว่าต่างมีส่วนถูกทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ จริงว่าพระราชอำนาจนำปรากฏชัดตั้งแต่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทว่าจุดที่พระราชอำนาจนำขึ้นสูงสุดคือช่วงพฤษภาคม พ.ศ.2535

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงไม่ควรมองพระราชอำนาจนำแบบหยุดนิ่งคงที่ตายตัว หรือพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทางเดียว

หากในทางเป็นจริง มีสภาพผกผันขึ้นลงตามสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงจาก 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งขึ้นสูงเด่นชัด แล้วค่อยลดต่ำลงในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวสั่งสมสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกครั้งในพุทธทศวรรษ 2520 จนถึงเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 โดยมีเหตุการณ์และกระแสความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ช่วยหนุนเสริมพระราชอำนาจนำ ได้แก่ :-

พ.ศ.2521 เติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรีจีนเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5-11 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 ในการเยือนนี้ เขาได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อีกทั้งได้รับพระราชทานเชิญให้เข้าร่วมพระราชพิธีผนวชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยเติ้งได้ถวายผ้าไตรแด่พระบรมโอรสาธิราชฯ ด้วย อันเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์การทูตไทย-จีนที่สะดุดลงในสมัยรัฐบาลธานินทร์ขึ้นใหม่

พ.ศ.2524 ความปราชัยของกบฏยังเติร์กด้วยเดชะพระบารมี และการขุดพบและเริ่มใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอย่าง “โชติช่วงชัชวาล”

พ.ศ.2525 การเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบสองร้อยปี และโครงการพัฒนา Eastern Seaboard

พ.ศ.2528 การล่มสลายของขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2528 เป็นต้น

โดยทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบของนายกฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ.2523-2531)

จนมาถึงเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ที่การปราบปรามมวลชนผู้ชุมนุมโดยกำลังทหารของรัฐบาลได้ยุติลงและคืนสู่ความสงบด้วยอานุภาพแห่งพระราชดำรัสที่ทรงเตือนสติผู้นำทั้งสองฝ่าย ได้แก่ มหาจำลอง ศรีเมือง และนายกฯ พล.อ.สุจินดา คราประยูร

นอกจากนี้ คุณอาสายังได้คิดประดิษฐ์และนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ไว้ในดุษฎีนิพนธ์เพื่อทำความเข้าใจเครือข่ายชนชั้นนำไทยเพิ่มเติมได้แก่ :

– Thai elite consensus หรือ ฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำไทย

– Senior partnership หรือ หุ้นส่วนใหญ่

– Political projects หรือ โครงการทางการเมือง

– Relative autonomy หรือ อิสระโดยสัมพัทธ์

นี่เป็นเหล่าแนวคิดที่ช่วยให้วิเคราะห์เข้าใจและอธิบายความสัมพันธ์ของบุคคล กลุ่มและฝ่ายต่างๆ ในเครือข่ายชนชั้นนำไทยได้อย่างพลิกแพลง ยืดหยุ่น อ่อนไหว มีพลวัต ไม่แข็งทื่อตายตัวหยุดนิ่งด้านเดียว

และตามการประเมินของผม นี่นับเป็นคุณูปการสร้างสรรค์ใหม่ทางวิชาการที่สำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาการเมืองไทยในรัชกาลที่ 9 ของดุษฎีนิพนธ์ฉบับ “สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่มีเชิงอรรถ” ของคุณอาสานี้