วิเคราะห์การเมือง : ใบสั่ง ?

ใบสั่ง

ภาวะที่รัฐบาลผสมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียง “ปริ่มน้ำ” ทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพอยู่ตลอดเวลา

ประกอบกับกระแสในปีกจารีต ที่มองว่า กระแส “ชังชาติ” กำลังถูกปลุกขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถือเป็น “แนวคิดอันตราย”

จำเป็นต้องสกัดกั้น และทำลายลงโดยไว

นี้เอง ทำให้พรรคอนาคตใหม่ถูกคาดการณ์ว่าเป็นเป้าหมาย “ร่วม” ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายจารีต ที่จะต้องถูกจัดการ

ภายใต้ความเชื่อของฝ่ายรัฐบาลว่า หากสามารถยุบพรรคอนาคตใหม่ลง จะสามารถกวาดต้อนเอา ส.ส.พรรคอนาคตใหม่มาอยู่ฝ่ายตนเองได้

แม้ไม่ทั้งหมด แต่การได้ “งูเห่า” ค่อนฟาร์ม ในระหว่างสิบ ยี่สิบ หรือสามสิบ ก็จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพแข็งแกร่งขึ้นทันที

ขณะที่ฝ่ายจารีตก็หวังเช่นกันว่าหากยุบพรรคอนาคตใหม่ไป ก็เท่ากับทำลายองค์กรนำแนวคิดอันตรายในสายตาของพวกตนลง และจะยิ่งดีไปใหญ่หากแกนนำพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5-10 ปี หรือตลอดชีวิตเลยยิ่งดี

แล้วช่องทางไหนจะตอบสนองความต้องการนี้ดีที่สุด

เป้าหมายที่ถูกโฟกัส อยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำเนิดขึ้นในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายที่มีอำนาจในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่าง กกต.กับพรรคอนาคตใหม่ ก็ไม่ดีนัก

โดยพรรคอนาคตใหม่ประกาศจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับ กกต. ด้วยเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกกล่าวหาเรื่องถือหุ้นสื่อ

และตอนนี้กำลังลามไปถึงกรณีเรื่องที่นายธนาธรปล่อยเงินกู้ให้พรรคอนาคตใหม่ 191 ล้านบาท ที่พรรคอนาคตใหม่มองว่าเลือกปฏิบัติและไม่ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายตน

ขณะที่ กกต.ใช้อำนาจและกฎหมาย ตั้งแท่นจะเอาผิดพรรคอนาคตใหม่และกรรมการบริหารอย่างไม่ลดราวาศอกเช่นกัน

โดยเรื่องการถือหุ้นสื่อของนายธนาธร ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส.ของนายธนาธรลงแล้ว

และ กกต.ก็กำลังพิจารณา “ขยายผล” จะดำเนินคดีอาญากับนายธนาธรหรือไม่

รวมทั้งอาจจะเอาผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งจะลากไปถึงการยุบพรรคด้วยหรือไม่

ทำให้พรรคอนาคตใหม่ประกาศฟ้องร้อง กกต.เช่นกัน ฐานกระทำหน้าที่โดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม มีการเร่งรัดคดีถือหุ้นสื่ออย่างผิดปกติ เร่งร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่กระบวนการสืบสวนในชั้น กกต. ยังไม่แล้วเสร็จ

จึงทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายคุกรุ่น และคงลุยดำเนินคดีกันอีกหลายกระทง

ที่อาจต้องใช้เวลาดำเนินการอีกพอควร ซึ่งอาจไม่ทันใจฝ่ายต้องการที่จะบดขยี้พรรคอนาคตใหม่

 

นี่เองจึงทำให้มี “บางฝ่าย” จี้ไปยัง กกต.ให้เอาเรื่องที่ตกค้างคาอยู่มาเผด็จศึกก่อน

และ กกต.ก็ขานรับ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกรณีเงินกู้ 191 ล้านบาทนั่นเอง

โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ไปร้องตั้งแท่นรอเอาไว้แล้ว

ด้วยการกล่าวหาว่านายธนาธรให้พรรคกู้ยืมเงินของตนเอง 191 ล้าน ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาท ต่อพรรคการเมืองต่อปีหรือไม่

ซึ่ง กกต.ได้พิจารณาสำนวนการสืบสวนไปแล้วเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562

ต่อมา 27 พฤศจิกายน 2562 สำนักงาน กกต.ได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุถึงกรณีนี้ว่า “พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งเอกสารบางส่วนแล้ว แต่ขอขยายระยะเวลาการจัดส่งเอกสารบางส่วนไปอีก 120 วัน แต่ กกต.มีมติให้ขยายระยะเวลาภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2562

แต่พอวันที่ 2 ธันวาคม 2562 กกต.อ้างว่าพรรคอนาคตใหม่ขอเวลาจัดส่งเอกสารเพิ่ม 120 วัน

ถือว่ามีเจตนาต้องการถ่วงเวลา

เพราะเอกสารที่ กกต.มีหมายเรียก เป็นเอกสารที่อยู่ในการครอบครองของพรรคอนาคตใหม่อยู่แล้ว ไม่ต้องรอรอบเวลาเพื่อที่จะรวบรวม

ดังนั้น กกต.จึงมีมติให้ตัดพยานหลักฐานที่เหลือ และให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนพิจารณาจากพยานหลักฐานที่พรรคอนาคตใหม่ส่งมาบางส่วนก่อนหน้านี้ และให้เสนอที่ประชุม กกต.พิจารณาในวันที่ 11 ธันวาคมทันที

ถือเป็น “สัญญาณ” ที่ไม่ดีต่อพรรคอนาคตใหม่นัก

แถมยังน่าสังเกตอีกว่า มีเอกสารของ กกต.หลุดออกมาต่อสาธารณะ

เป็นเอกสารความเห็นของเลขาธิการ กกต. ชี้ว่า การที่นายธนาธรให้พรรคกู้เงิน น่าจะมิชอบ

สมควรให้ดำเนินคดีอาญา ตัดสิทธิ์ทั้งหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด

ด้วยอาจเข้าข่ายนิติกรรมอำพราง ได้เงินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เข้าข่ายตามมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ห้ามไม่ให้พรรค ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะมีความผิดตามมาตรา 92(3) เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห.ได้

ขณะเดียวกัน ฝ่ายจารีต อาทิ นายสมชาย แสวงการ วุฒิสมาชิกที่มีจุดยืนอยู่ปีกต่อต้าน “ชังชาติ” ก็รีบออกมาจี้ กกต. ให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้สั่งยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน

กระแสลบที่ถูกปล่อยออกมาเป็นระลอก และสอดคล้องกัน

ทำให้ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการของ กกต.เป็นไปโดยมีธงและใบสั่งทางการเมืองหรือไม่

เพราะรายละเอียดชี้นำคดีไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะให้นายธนาธรและ กก.บห.มีความผิด

“อย่าลืมว่าใบสั่งทางการเมืองมีได้มากกว่าหนึ่งใบเสมอ พรรคเองก็ได้รับรายงานมาจากแหล่งข่าวเช่นกัน ว่ามีความพยายามจะทำให้คดีนี้นำไปสู่การวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การยุบพรรค ทั้งที่คดีนี้ฐานความผิดไม่เกี่ยวกับการยุบพรรคเลย ไม่สามารถนำไปสู่การยุบพรรคได้ตามตัวบทกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้พรรคมีข้อสังเกตว่าขณะนี้อาจมีใบสั่งทางการเมือง ไม่ใช่แค่ใบเดียว แต่มี 2 ใบหรือไม่ คือทั้งจะดำเนินคดีอาญา ตัดสิทธิ์ทางการเมืองนายธนาธรและ กก.บห. 5 ปี พร้อมนำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคให้ได้ด้วย จึงขอให้ประชาชนช่วยกันจับตามองในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด”

ปรากฏว่า กกต.ก็ได้ออกมาตอบโต้ทันควันว่าไม่จริง

กกต.ได้ดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมายมาเป็นลำดับ

ส่วนเอกสารที่หลุด ก็เป็นเอกสารตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 ที่เลขาธิการ กกต.ต้องมีความเห็นในสำนวนการสืบสวนเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ กกต.

ไม่ใช่การชี้นำในสำนวนการสืบสวนแต่อย่างใด

แต่พรรคอนาคตใหม่ก็ตั้งข้อสังเกตว่า กกต.ไม่ชี้แจงว่าทำไมเอกสารดังกล่าวหลุดออกมา

เหมือนจะปูพื้นเรื่องนี้ไว้ก่อน

และในที่สุดสำนักงาน กกต.ก็ได้เผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม

มีเนื้อหาตามที่ “คาดหมาย”

นั่นคือ ระบุว่าที่ประชุม กกต.ได้พิจารณากรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาทแล้ว

เห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

สำหรับตามมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 บัญญัติว่า ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะที่มาตรา 92 บัญญัติว่า “เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น”

ส่วนมาตรา 94 บัญญัติว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้วให้นายทะเบียนประกาศคําสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษาและห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซ้ำหรือพ้องกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดํารงตําแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกําหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ”

อันเท่ากับพรรคอนาคตใหม่แตกนั่นเอง

มติดังกล่าว 2 ป. ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันไม่มีใบสั่ง เป็นไปตามขั้นตอน ขณะที่อีก 1 ป. “ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เตือนอย่าเคลื่อนไหวด้วยการลงถนน

“มันจะสุ่มเสี่ยงต่อความสับสนในประเทศ” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ตั้งคำถามว่า

“ที่สุดประเทศไทยจะเอากันแบบนี้หรือ พรรคการเมืองที่จะพยายามทำให้โปร่งใสที่สุด พยายามแจกแจงที่มารายได้มากที่สุด กลับโดนคดีความ ใครที่ไม่อยากโดนจับผิดหรือโดนคดีความก็ต้องซุกทรัพย์สิน ไม่ต้องโปร่งใสมากก็จะรอดตัว”

นายปิยบุตรย้ำความเชื่อของตนเองอีกครั้งว่า

“นี่คือกระบวนการที่ริเริ่มซ้ำไปซ้ำมา 13 ปี วนอยู่แบบนี้ ยุบพรรค ตัดสิทธิ์ ติดคุก”

      ถือเป็นใบสั่ง “ปริศนา” ที่ฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายที่กุมอำนาจจะต้องเผชิญกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!