วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/เริ่มพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ ฆาตกรรมนักหนังสือพิมพ์

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เริ่มพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์

ฆาตกรรมนักหนังสือพิมพ์

 

เมื่อมี “พระราชบัญญัติการพิมพ์พุทธศักราช 2476” ขึ้นมาแทนพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475 เป็นขณะเดียวกันกับที่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้นิยามของ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” รวมทั้งระบุโทษของผู้ที่สนับสนุนหรือนิยมคอมมิวนิสต์ กับทั้งมีหนังสือไปถึงเจ้าของโรงพิมพ์ ความว่า

“ห้ามพิมพ์เอกสารซึ่งแสดงไปในทางการเมืองหรือนโยบายรัฐบาล หรือเหลื่อมไปในทางลัทธิคอมมิวนิสต์ หากเอกสารใดสงสัยว่าจะเป็นเช่นกล่าว ให้นำเสนอพิจารณาเสียก่อนพิมพ์มิฉะนั้นอาจสั่งปิดโรงพิมพ์ทันที”

หนังสือพิมพ์ “หลักเมือง” ได้ลงบทความแสดงความชื่นชมหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์ ผู้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ อันมีหลักการโอนเครื่องมือในการผลิตมาเป็นของรัฐ) โดยให้ความเห็นว่าเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่จะนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติ

จึงถูกสั่งปิด 7 วัน ในข้อหา “มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”

 

ครั้นถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ขึ้นมาใช้บังคับแทนกฎหมายฉบับเดิม โดยกฎหมายฉบับใหม่มีสาระสำคัญในการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์ (อธิบดีกรมตำรวจเป็นเจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าพนักงานการพิมพ์ของแต่ละจังหวัด)

ในการห้ามลงข่าวเกี่ยวกับราชการทหารหรือการเมืองระหว่างประเทศ ให้มีการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ในภาวะฉุกเฉิน หรือภาวะสงคราม และให้มีอำนาจวินิจฉัยบทความที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

อีกทั้งรัฐบาลยังออกกฎกระทรวงมหาดไทยกำหนดทุนสำหรับผู้ที่ต้องการออกหนังสือพิมพ์การเมืองต้องมีไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท ไม่นับรวมราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของสถานที่ตั้งโรงพิมพ์ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ทั้งนี้ เพื่อให้ออกหนังสือพิมพ์ได้ยากขึ้น จึงมีผลให้หนังสือพิมพ์ขณะนั้นซึ่งมีอยู่ถึง 25 ฉบับ ต้องยุบมารวมกันหรือเลิกไป จนเหลือเพียง 12 ฉบับเท่านั้น

นอกจากจะใช้พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 และพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2494 พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกที่ห้ามออกข่าวก่อนการตรวจข่าวของทหารในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันแล้ว ยังมีการใช้อำนาจคุกคามข่มขู่และจับกุมนักหนังสือพิมพ์ด้วยวิธีการต่างๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ตัวอย่างในการแทรกแซงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แก่ การส่งคนของตนเข้าไปสมัครทำงานเพื่อสืบความเคลื่อนไหวของหนังสือพิมพ์ หรือออกทุนให้ทำหนังสือพิมพ์สนับสนุนตนเองเพื่อคานอำนาจกับหนังสือพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์คัดค้านรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อผลในการสร้างประชามติตามที่รัฐบาลต้องการ

รวมทั้งเพื่อแข่งขันในหมู่ผู้นำทางการเมือง เพื่อสร้างดุลอำนาจทางการเมืองและเพื่อทำลายนักการ เมืองฝ่ายตรงข้าม

ตัวอย่างในการคุกคามชีวิตของนักหนังสือพิมพ์ ได้แก่ กรณีฆาตกรรมนายอารีย์ ลีวีระ ผู้อำนวยการบริษัทไทยพาณิชย์การ เจ้าของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย สยามนิกร สยามสมัย และกระดึงทอง ยุคสีลม เนื่องจากหนังสือพิมพ์เหล่านั้นลงข่าวอย่างตรงไปตรงมา สนับสนุนให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484

และยังสร้างความไม่พอใจให้นักการเมืองใหญ่ในคราบของตำรวจที่ขอซื้อหุ้นใหญ่ของบริษัทไทยพาณิชย์การ และถูกนายอารีย์ปฏิเสธ

 

เนื่องจากพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่นำเสนอต่อประชาชน จึงถูกคัดค้านเรื่อยมา นับแต่วันประกาศใช้บังคับ (พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ พล.อ.พิชเยนทร์ โยธิน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ลงพระนามและลงนาม ประกาศใช้ในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2484 ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป) เป็นต้นมา

พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลเรื่อยมา และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศจีน (ตุลาคม 2492) พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีชัยชนะเหนือรัฐบาลเดิมของจอมพลเจียงไคเช็กจนต้องถอยร่นมาตั้งรัฐบาลที่เกาะไต้หวัน

รัฐบาลไทยเกรงกลัวการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งคณะอนุกรรมการการโฆษณามาเพื่อป้องกันและปราบปรามการโฆษณาของลัทธิคอมมิวนิสต์ และตั้งกองข่าวและกองวิทยาการขึ้นมาแทนกองหนังสือพิมพ์และกองเผยแพร่ความรู้ในกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน)

แล้วรัฐบาลยังให้การดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับหนังสือพิมพ์ที่เชื่อว่าลงข่าวโฆษณายุยงให้เกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศโดยยึดหลักคอมมิวนิสต์และเมื่อเกิดสงครามเกาหลี (พ.ศ.2493)

หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลในการส่งทหารไปร่วมรบกับอเมริกา อธิบดีกรมตำรวจก็อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การเมืองระหว่างประเทศ

 

ภายหลังเกิดกบฏแมนฮัตตัน (20 มิถุนายน 2494) หนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกสั่งให้นำข่าวไปให้ตรวจและถูกสั่งปิด และภายหลังการรัฐประหารเงียบ (29 พฤศจิกายน 2494) คณะบริหารประเทศชั่วคราวของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตั้งคณะกรรมการเจ้าหน้าที่ควบคุมการตรวจข่าวและปิดหนังสือพิมพ์เป็นระยะต่อเนื่องกันมาเช่นนี้ สร้างความไม่พอใจแก่นักหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก

เพราะหลายครั้งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการฟ้องร้องถึงศาล เมื่อหนังสือพิมพ์ถูกตัดข่าวห้ามพิมพ์ และเมื่อฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมตำรวจ ปรากฏว่าฝ่ายหนังสือพิมพ์เป็นฝ่ายชนะ

ขบวนการต่อสู้เรียกร้องของนักหนังสือพิมพ์ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2495 ได้มีนักหนังสือพิมพ์จำนวนประมาณ 50 คนไปรวมตัวกันที่สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่ถนนรองเมือง เรียกร้องให้สมาคมตอบโต้การกระทำของรัฐบาลที่กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพและการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ที่ขัดต่อหลักกการประชาธิปไตยและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ในการนั้น สมาคมได้ตั้ง “คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์” ขึ้น