นงนุช สิงหเดชะ | ‘งูเห่าสีฟ้า’ ภาค 2 เกมถนัดประชาธิปัตย์

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘งูเห่าสีฟ้า’ ภาค 2

เกมถนัดประชาธิปัตย์

 

ไม่เพียงจะมี “งูเห่าสีส้ม” ของซีกฝ่ายค้านอย่างพรรคอนาคตใหม่เท่านั้นในคราวโหวตพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและ พ.ร.บ.งบประมาณช่วงก่อนหน้านี้

แต่ล่าสุดพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ก็มี “งูเห่าสีฟ้า” มากถึง 6 ตัว จากกรณีการลงมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ที่เรียกกันว่า “กมธ.เช็กบิล ม.44” หรือจะเรียกว่าเช็กบิล คสช.ก็ไม่ผิด เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยญัตตินี้เสนอโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่และคณะ

ผลการโหวตปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้ด้วยคะแนน 236-231 เสียง เนื่องจาก ส.ส.ประชาธิปัตย์ 6 คน อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเทพไท เสนพงศ์ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ยกมือสนับสนุนร่วมกับฝ่ายค้านหรือที่เรียกว่าโหวตสวน

และเมื่อซีกรัฐบาลเสนอให้มีการนับคะแนนใหม่เพราะห่างกันไม่เกิน 25 เสียง ทางฝ่ายค้านไม่พอใจจึงวอล์กเอาต์ ทำให้สภาล่ม

วันต่อมาก็ล่มเป็นวันที่สอง เพราะองค์ประชุมไม่ครบเนื่องจากฝ่ายค้านตีรวน ซึ่งเป็นที่คาดหมายได้อยู่แล้ว

พร้อมกันนั้นฝ่ายค้านก็ฉวยโอกาสเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อรับผิดชอบเหตุการณ์สภาล่ม

 

แน่นอนว่าทั้งปัญหาสภาล่มและปัญหาโหวตแพ้ฝ่ายค้าน ส่วนหนึ่งเป็นความบกพร่องของประธานวิปรัฐบาล

แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะอิทธิฤทธิ์ของงูเห่าสีฟ้า ซึ่งญัตตินี้ค่อนข้างสำคัญเพราะจะกระทบไปถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์โดยตรงในฐานะอดีตหัวหน้า คสช.

ดังนั้น ซีกรัฐบาลย่อมไม่อยากให้มีคณะกรรมาธิการชุดนี้เกิดขึ้น

อันที่จริงคำว่า “งูเห่าสีฟ้า” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปีนี้ภายหลังจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ซึ่งประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ตกไปอยู่อันดับ 4 กระทั่งเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ในพรรคเมื่อความคิดแตกเป็น 2 ขั้ว

ขั้วหนึ่งไม่ต้องการให้ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐที่ชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

ส่วนอีกขั้วหนึ่งซึ่งใกล้ชิดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้นำกลุ่ม กปปส. ต้องการให้ร่วมรัฐบาลเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

ระหว่างที่พรรคอยู่ระหว่างการตัดสินใจนั้นมีข่าวว่า ส.ส.ประชาธิปัตย์ประมาณ 35 คน นำโดยอดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. พร้อมจะแหกมติพรรคไปเข้าร่วมกับพลังประชารัฐ (กรณีพรรคมีมติไม่ร่วม)

จึงเกิดคำว่า “งูเห่าสีฟ้า” ขึ้น

 

มาในครั้งนี้ภายหลังร่วมรัฐบาลแล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ชวนให้คิดว่ามี “งูเห่าสีฟ้า” เช่นกันจากการโหวตญัตติดังกล่าว

ภายหลังเกิดเสียงวิจารณ์หนักว่า ปชป. 6 คนทำตัวเป็นงูเห่า นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช อดีตโฆษกประจำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.) ออกมาแถลงข่าวอ้างว่า ไม่ใช่การโหวตสวนหรือทำตัวเป็นงูเห่า

แต่เป็นการยกมือสนับสนุนญัตติที่ ปชป.นำโดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นผู้เสนอ

นายเทพไทบอกว่า เนื้อหาในญัตติของ ปชป.แตกต่างจากฝ่ายค้าน เพราะมุ่งศึกษากฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหารย้อนไปหลายสมัย เพื่อศึกษาว่าฉบับใดมีผลเสียต่อประชาชนก็จะได้ยกเลิกเสีย

ไม่ได้ต้องการจะเช็กบิล พล.อ.ประยุทธ์ หาก ปชป.ไม่ยกมือสนับสนุนญัตติของตัวเอง ก็จะดูแปลกและตอบคำถามสังคมไม่ได้

แม้จะชี้แจงอย่างไร อ้างว่าเนื้อหาของญัตติแตกต่างจากฝ่ายค้าน แต่ในเมื่อมันเป็นเรื่องเดียวกัน ก็ไม่พ้นที่จะถูกมองว่า ปชป.เข้าร่วมกับฝ่ายค้านไปโดยปริยาย

และเกิดผลสะเทือนต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ขณะเดียวกันการสั่นคลอนรัฐบาลที่เสียงปริ่มน้ำอยู่แล้ว ในอีกมิติหนึ่งก่อความไม่เชื่อมั่นในกลุ่มนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเพราะไม่แน่ใจในเสถียรภาพรัฐบาล

 

การทำตัวเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลในบางเรื่องเป็นสิ่งสวยงามในระบอบประชาธิปไตยและเป็นสิทธิที่จะทำได้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของ ปชป.น่าเชื่อว่าจุดประสงค์ก็เพื่อจะรักษาน้ำใจของประชาชน 3.9 ล้านเสียงที่เลือก ปชป.ในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งอนุมานว่า 3.9 ล้านเสียงนี้เลือก ปชป.เพราะเห็นด้วยกับจุดยืนของอดีตหัวหน้า ปชป.ที่บอกว่า “ไม่เอาประยุทธ์”

แต่ครั้นจะทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลมากไปกว่านี้ เช่น ต่อไปอาจโหวตสวนในร่างกฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณ หรือยกมือไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็คงกลัวว่า 7 ล้านเสียงที่หายไปในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจะหมั่นไส้แล้วหายลับไปอย่างถาวร

ขณะที่ในสายตาของสาธารณะทั่วไป อาจมองว่า ปชป.เป็นพวกคบไม่ได้ ขาดสปิริต เหยียบเรือสองแคม ทำอะไรไม่สุด ไม่เด็ดขาด

อีกอย่างคงกลัวเจอหมัดสวนด้วยการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ที่ ปชป.อาจได้น้อยกว่าเดิม อีกทั้งธรรมชาติของ ส.ส.ไม่มีใครอยากเลือกตั้งใหม่ ไหนๆ เข้ามาแล้วต้องอยู่ให้คุ้ม จนครบวาระ

แม้นายเทพไทจะอ้างว่าการโหวตสวนในญัตติดังกล่าว ไม่ใช่การแก้แค้นเอาคืนพรรคพลังประชารัฐ

แต่ลึกๆ แล้วส่วนตัวของนายเทพไทและ ปชป.อีกจำนวนหนึ่งอาจยังมีความขุ่นเคืองอยู่ เพราะ ปชป.เสียฐานเสียงทั้งในภาคใต้และกรุงเทพฯ ไปให้พลังประชารัฐไม่น้อย

ดังนั้น เมื่อมาร่วมรัฐบาลแล้วก็ต้องแผลงฤทธิ์บ้างเพื่อรักษาตัวตนของพรรคเอาไว้ ไม่ให้ถูกพลังประชารัฐกลืนหายบดบังรัศมีไปหมด

“เนื้อหาญัตติดังกล่าวแตกต่างจากญัตติอื่นของฝ่ายค้าน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องอุดมการณ์จุดยืนของพรรคว่าไม่สนับสนุนวิธีการใดๆ ที่มาจากระบบเผด็จการ” นี่คือคำแถลงส่วนหนึ่งจากนายเทพไท ผู้ซึ่งขยันโพสต์เฟซบุ๊กรายวันแซะ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล บางทีโพสต์บ่อยกว่าโฆษกพรรคฝ่ายค้านเสียอีก

แต่บางทีการแซะนั้นกลายเป็นว่าตำหนิพวกเดียวกันเอง อย่างเช่นไม่นานมานี้ นายเทพไทบอกว่าไปเดินตลาดได้ยินพ่อค้าแม่ค้าบ่นว่าขายของไม่ได้ ลุงตู่เป็นทหารเก่า ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว โดยที่ลืมไปว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั่งรัฐมนตรีพาณิชย์ คุมเรื่องสำคัญคือส่งออกและปากท้องประชาชน ส่วนกระทรวงเกษตรฯ ก็อยู่ภายใต้ ปชป.เช่นกัน

อย่าลืมว่าลุงตู่ก็ปวดหัวอยู่เช่นกัน เพราะเป็นรัฐบาล 3 ก๊ก พลังประชารัฐไม่ได้คุมเศรษฐกิจเบ็ดเสร็จเหมือนแต่ก่อน ต่างพรรคต่างสร้างดาว สร้างคะแนนเสียงคนละดวง ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังบ่นว่าตอนนี้เศรษฐกิจเหลือขาเดียวจากที่เคยมี 4 ขา

ความหมายก็คือเหลือเพียงขาเดียวจากกระทรวงการคลังที่อยู่ในการดูแลของพลังประชารัฐเท่านั้น

 

แม้คนในประชาธิปัตย์บางคนจะย้ำจุดยืนครั้งแล้วครั้งเล่าไม่สนับสนุนเผด็จการ ทำตัวเป็นพระเอก แต่ไม่ควรลืมว่าเกือบทั้งหมดในพรรค ตั้งแต่อดีตหัวหน้าพรรคลงไป (รวมทั้งนายเทพไท) เคยขึ้นเวทีและร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.มาแล้ว

ครั้นจะมาอ้างว่าร่วมชุมนุมเพื่อไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และระบอบทักษิณ ไม่ได้เชิญชวนให้เกิดการรัฐประหาร แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือบ้านเมืองถึงทางตัน ทางออกจึงเป็นอย่างที่เห็น ดังนั้น ปชป.คงปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องรัฐประหารไม่ได้

การที่ผลลัพธ์ของเหตุการณ์ออกมาแย่ (คือเกิดรัฐประหาร) คน ปชป.จำนวนหนึ่งจะมาทำตัวเป็นพระเอกคลีนๆ อยู่คนเดียวก็ดูไม่น่ารัก