สถานที่ประสูติพระรามในความขัดแย้ง : คำพิพากษากรณีพิพาทมัสยิดบาบรีในเมืองอโยธยา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ประเทศอินเดียมีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งแต่อาจไม่เป็นที่รับรู้ของคนในบ้านเรานัก ในวันนั้นมีการอ่านคำพิพากษาศาลสูงสุดอินเดียต่อกรณีพิพาททางศาสนาที่สำคัญในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยอินเดีย

คือกรณีมัสยิดบาบรี (Babri Masjid) เมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศ

ผมเคยกล่าวถึงกรณีนี้ไปนานแล้ว ขอทวนนิดนึงนะครับ

 

สุเหร่าบาบรีหรือมัสยิดบาบรีสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยบัญชาของจักรพรรดิบาบูร์ แห่งราชวงศ์โมกุล นามของมัสยิดก็มาจากพระนามจักรพรรดิองค์นี้เอง

แต่ชาวฮินดูจำนวนมากเชื่อว่ามัสยิดนี้สร้างทับอยู่บน “รามชนมาภูมิสถาน” หรือสถานที่ประสูติของพระราม เทพเจ้าสำคัญในวรรณกรรมรามายณะ

ทั้งนี้ ชาวฮินดูโดยมากเชื่อกันว่ารามายณะมิใช่เรื่องแต่ง แต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง โดยสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวในวรรณกรรมเข้ากับสถานที่ที่มีอยู่จริง เช่น เมืองนาสิก เขาจิตรกูฏ สะพานพระราม (รามเสตุ) ลังกา และในบรรดาสถานที่เหล่านั้น เมืองอโยธยาเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นที่ประสูติและเสด็จกลับมาปกครองไพร่ฟ้าของพระราม

อโยธยาสำคัญขนาดไหนลองคิดดู ขนาดบ้านเมืองไกลอินเดียอย่างเรายังต้องยก “อโยธยา-อยุธยา” มาเป็นบ้านเมืองตนเองเลยครับ

 

ในช่วงแรกๆ ที่ราชวงศ์โมกุลปกครองอินเดีย ราชวงศ์นี้เป็นมุสลิม จักรพรรดิหลายองค์ที่ไม่ยอมผ่อนปรนทางศาสนา ได้มีการทำลายศาสนสถานของศาสนาต่างๆ ในอินเดียเป็นจำนวนมาก ชาวฮินดูเชื่อกันว่ามัสยิดบาบรีก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยทำลายเทวสถานเก่าแล้วสร้างมัสยิดทับลงไป

แต่เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในทางวิชาการ

นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่ามีการกล่าวถึงสถานที่เกิดของพระรามมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 โดยมีหลักฐานจากบันทึกของต่างชาติที่มาถึงอโยธยา หรืออ้างหลักฐานว่า มัสยิดบาบรีสร้างบนสถานที่เรียกว่า รามโกฏ (ป้อมพระราม)

และบ้างก็ว่า มัสยิดบาบรีที่อ้างว่าสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 นั้นล้วนเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นในภายหลัง

ขณะที่บางส่วนแย้งว่าเรื่องชนมาภูมิเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในต้นศตวรรษที่ 19 เพราะทั้งงานประพันธ์ของตุลสีทาส ผู้ประพันธ์รามจริตมานัสหรือคัมภีร์วิษณุสมฤติก็ไม่เคยกล่าวถึงอโยธยาในฐานะเมืองที่ควรไปแสวงบุญ

อีกทั้งบันทึกของหลวงจีนเสวียนจ้างก็กล่าวถึงอโยธยาหรือสาเกตในฐานะเมืองทางพุทธศาสนา

ความขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิมในกรณีมัสยิดบาบรี ได้รับการบันทึกไว้ครั้งแรกในปี 1853 ขณะนั้นอินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

อังกฤษให้มีการแบ่งสรรพื้นที่ในบริเวณมัสยิดสำหรับสองศาสนา ทั้งนี้ ที่จริงในระดับชาวบ้านฮินดูและมุสลิมสามารถใช้สถานที่เดียวกันมาอย่างสงบเป็นเวลายาวนานแล้ว

ในปี 1949 ไม่นานหลังได้รับเอกราช กลางดึกคืนหนึ่งมีกลุ่มชายซึ่งทราบในภายหลังว่าเป็นสมาชิกกลุ่มฮินดูมหาสภา แอบนำเทวรูปพระรามในวัยเด็กที่เรียกว่า รามลัลลา (Ram Lalla แปลว่าพระเยาวราม) ไปใส่ไว้ในมัสยิดบาบรี

เช้าวันต่อมา ข่าวลือก็กระพือไปว่าเทวรูปพระรามได้ปรากฏขึ้นในมัสยิดบาบรีอย่างอัศจรรย์ ผู้คนต่างพากันกล่าวถึงข่าวนี้และเดินทางไปยังมัสยิดอย่างล้นหลามเพื่อไปชมความมหัศจรรย์นี้ด้วยตนเอง บรรยากาศของการทวงคืนสถานที่เกิดของพระรามค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ไม่นานรัฐบาลท้องถิ่นจึงต้องสั่งปิดมัสยิดโดยไม่ยอมให้ทั้งฮินดูและมุสลิมเข้าใช้ แต่ก็ไม่ได้นำเทวรูปออกไป

 

ปี1984 มีการรณรงค์เพื่อรวบรวมเงินสร้างเทวสถานของพระรามขึ้นมาใหม่บนมัสยิดบาบรี การรณรงค์นี้ดำเนินการโดยพรรคภารตียชนตะ (BJP) ซึ่งก็คือพรรครัฐบาลของนายนเรนทรา โมดี นายกฯ อินเดียคนปัจจุบันนี่แหละครับ

ภายหลังก็จับมือกับพันธมิตรองค์กรฮินดูอื่นๆ เช่น วิศวฮินดูปริษัท (VHP) นอกจากรณรงค์ในสื่อต่างๆ แล้ว ยังมีขบวนยาตราไปยังอโยธยาด้วย เรียกว่า “รามรถยาตรา”

สุดท้ายเกิดองค์กรชื่อ กรเสวก (มือผู้รับใช้) ซึ่งมีสมาชิกราวหนึ่งแสนห้าหมื่นคนทั่วอินเดีย จัดตั้งโดยวิศวฮินดูปริษัทและพรรคภารตียชนตะ ได้บุกเข้าทำลายมัสยิดบาบรีในวันที่ 6 ธันวาคม 1992 พร้อมกันนั้น ยังได้เกิดการจลาจลทั่วทั้งอินเดีย มีการโจมตีกันระหว่างชุมชนมุสลิมและชุมชนฮินดู มีผู้เสียชีวิตราวสองพันคน

ใครเคยดูภาพยนตร์รางวัลอย่าง สลัมด๊อกมิลเลียนแนร์ จะมีฉากหนึ่งที่แม่ของตัวเอกซึ่งเป็นมุสลิม โดนชาวฮินดูฆ่าตาย ก็มาจากเหตุการณ์นี้แหละครับ

ที่ผมเล่ามายังไม่กระจ่าง โปรดชมสารคดีเรื่อง “In the name of God” หรือชื่อภาษาฮินดูว่า รามเก นาม (ในนามแห่งพระราม) กล่าวถึงปัจจัยการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ พยานบุคคล ความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะชาวบ้านอย่างน่าสนใจมากๆ

 

ในปี 2010 ศาลสูงของไฮเดอราบาดตัดสินให้แบ่งพื้นที่ของมัสยิดบาบรีออกเป็นสามส่วน แบ่งให้กับองค์กรมุสลิมหนึ่งส่วน สำหรับฮินดูมหาสภาหนึ่งส่วน และองค์กรนักบวชฮินดูชื่อนิรโมหิ อขาระ ซึ่งอ้างความเป็นเจ้าของสถานที่มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19

พฤศจิกายน ปีนี้ (2019) ศาลสูงสุดของอินเดียพิพากษาให้พื้นที่ขัดแย้งเป็นของฮินดู

โดยสรุปได้ว่า ให้รัฐบาลอินเดียจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการสร้างเทวสถานพระรามบนพื้นที่ขัดแย้งมัสยิดบาบรี โดยครอบครอง 2.77 เอเคอร์ และให้จัดสรรพื้นที่อื่นในเมืองอโยธยาสำหรับการสร้างมัสยิดของมุสลิมจำนวน 5 เอเคอร์

ทั้งนี้ ให้การทำลายมัสยิดบาบรี และเหตุการณ์ในปี 1949 เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

ศาลตัดสินจากหลักฐานที่อ้างโดยกรมศิลปากรอินเดีย (Archaeological Survey of India หรือ ASI) ว่า ภายใต้มัสยิดบาบรีมี “โครงสร้าง” ทางสถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่ “อิสลาม” อยู่ รวมทั้งจากบันทึกประวัติของคุรุนานัก ศาสดาของชาวสิกข์ ซึ่งมีบันทึกว่าได้เคยมาเยือนสถานที่แห่งนี้ด้วย

เมื่อคำพิพากษาออกมา คนที่ดูจะดีใจที่สุดคือนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ถึงกับทวีตชื่นชมคำพิพากษาของศาลสูงสุดผิดกับตอนที่ศาลสูงสุดมีคำตัดสินให้ผู้หญิงขึ้นเทวสถานสพรีมาลาได้ ตอนนั้นดูเดือดจัดมากๆ

 

แม้ทุกฝ่ายจะยอมรับคำตัดสินในครั้งนี้ และไม่เกิดการจลาจลอะไร แต่กระนั้นก็มีหลายส่วนที่เห็นว่าคำตัดสินมีข้อขัดแย้งและน่ากังขาหลายอย่าง

เป็นต้นว่า หลักฐานที่ศาลใช้จากกรมศิลปากรนั้น มีนักวิชาการได้โต้แย้งไว้อยู่ด้วย รวมทั้งความสงสัยในแง่การแทรกแซงทางการเมืองของรัฐบาลโมดีต่อแนวทางการพิพากษาของศาล

ทั้งนี้ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า คำพิพากษานี้ใช้ “ศรัทธา” หรือ “ความเชื่อ” มากกว่าหลักฐานเชิงประจักษ์ อีกทั้งความกังวลว่ารัฐบาลโมดีซึ่งอยู่ “ฮินดูปีกขวา” จะค่อยๆ ทำให้อินเดียกลายเป็นรัฐฮินดูในที่สุด โดยค่อยๆ ครอบงำไปทุกๆ สถาบันหลัก

นักศึกษาคนหนึ่งในสัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีร่าว่า แม้คำตัดสินที่ออกมาจะทำให้เกิดความสงบ แต่ต้องไม่ลืมการชดใช้เยียวยาเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 1992 ด้วย ซึ่งยังไม่มีใครได้รับการลงโทษหรือได้รับการเยียวยาจากเหตุการณ์นั้นเลย

เขาถึงกับบอกว่า วันพิพากษา 6 พฤศจิกายนนี้ จะถูกจดจำว่าเป็นวันตายของแนวคิดฆราวาสนิยม (Secularism) ในอินเดีย

เดาได้เลยว่า จากนี้ไปอภิมหาโปรเจ็กต์ระดมทุนสร้างเทวสถานพระราม จะกลายเป็นโปรเจ็กต์สำคัญของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งคงจะได้ระดมทุนจากทั่วโลก และคงส่งผลระยะยาวต่อที่นั่งของการเลือกตั้งคราวหน้าด้วย

 

อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจในเหตุการณ์ครั้งนี้ คือการอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ขัดแย้งในเมืองอโยธยา ว่าใครคือเจ้าของพื้นที่กันแน่ เพราะรัฐบาลทำหน้าที่แค่ดูแลจัดการ

ฝ่ายฮินดูอ้างว่าพระรามหรือรามลัลลา นั่นแหละเป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริง ก็นั่นมันสถานที่เกิดของพระรามไง

ทีนี้ตามกฎหมายจารีตอินเดีย เทพเจ้ามีสถานภาพเป็น “บุคคล” ตามกฎหมายนะครับ จึงสามารถฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องก็ได้

ในกรณีนี้ พระรามจึงฟ้องขอรับสิทธิ์ในพื้นที่นั้น โดยมีองค์กรทำหน้าที่ขึ้นศาลแทน และศาลสูงสุดตัดสินให้พระราม “รามลัลลา” มีสิทธิ์ในพื้นที่นั้นเสียด้วย

เรื่องเทพและสิทธิทางกฎหมายในอินเดียยังมีรายละเอียดและข้อน่าสนใจอยู่มาก เป็นอะไรที่เราหรือฝรั่งไม่คุ้นเอาเสียเลย

ไว้จะมาเล่าสู่กันฟังครับ