เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์ / ซีเกมส์…ด้วยคน

อรุณ วัชระสวัสดิ์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ซีเกมส์…ด้วยคน

 

ตอนที่เขียนต้นฉบับเล่มนี้เพิ่งจะผ่านพิธีเปิดการแข่งขัน “ซีเกมส์ ครั้งที่ 30” อย่างเป็นทางการไป 2-3 วัน แต่ถ้านับจากวันแรกที่มีการแข่งขันมาถึงวันที่มติชนสุดสัปดาห์เล่มนี้วางแผงก็ปาเข้าไปร่วม 2 สัปดาห์ ซึ่งตอนนั้นจำนวนเหรียญทองคงไปไกลมากแล้วว่าชาติใดได้จำนวนเท่าใดบ้าง

จึงจะไม่พูดถึงผลการแข่งขัน แต่จะพูดถึงสิ่งที่ตั้งข้อสังเกตจากการจัดกีฬาซีเกมส์

หะแรกของการจัดให้มีการแข่งขันซีเกมส์ ที่แต่ก่อนเรียกว่าเซียพเกมส์ ก็เพื่อเป็นการพัฒนากีฬาของประเทศในภูมิภาคนี้ และเป็นการสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพ

ประเภทกีฬาที่แข่งขันกันก็ไม่ได้มีจำนวนมากมายเช่นเดี๋ยวนี้

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการเตรียมความพร้อมของนักกีฬาเพื่อการแข่งขันในระดับที่ใหญ่กว่าอย่าง “เอเชี่ยนเกมส์” และ “โอลิมปิกเกมส์” ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

แต่ไม่รู้ไปโดนป้ายยามาจากไหน จึงทำให้เกิดความคิดว่า ประเทศเจ้าภาพต้องเป็น “เจ้าเหรียญทอง” …วงเล็บว่าให้ได้

จึงทำให้เจ้าภาพคิดกระทำการทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเป็นฝ่ายชนะในการแข่งขัน เพื่อจะได้เหรียญทองมากที่สุด โดยโนสน โนแคร์ ว่ามันถูกต้องเหมาะสม และสมควรหรือไม่

อย่างที่มักเห็นๆ คือ การบรรจุประเภทกีฬาที่ไม่ได้เป็นสากล แต่เป็นกีฬาพื้นบ้านของตนเข้ามาในปริมาณที่เรียกว่า “เกินงาม”

อย่างซีเกมส์ครั้งนี้ที่ฟิลิปปินส์ก็จัดแข่งขันกีฬาถึง 59 ชนิดกีฬา กับการแข่งขันทั้งหมด 540 รายการ โดยกระจายสนามแข่งขันไปสนามต่างๆ ถึง 20 สนามในหลายๆ เมือง มากกว่าครั้งที่แล้วที่มาเลเซียจัดเพียง 39 ชนิดกีฬา ในการแข่งขัน 405 รายการ และสิงคโปร์ก็จัดเพียง 36 ชนิดกับ 402 รายการ

และใน 59 ชนิดกีฬานั้น มีกีฬาพื้นบ้านที่ชื่อ “อาร์นิส” และ “คูราช” ซึ่งเป็นกีฬาประเภทศิลปะการต่อสู้ประจำชาติเข้าไปด้วย 30 เหรียญทองใน 2 ชนิดกีฬาแปลกๆ นี้

ซึ่งไม่รู้ว่าทำไมต้องจัดมากชนิดกีฬาอย่างนี้ และเมื่อประสบกับงบประมาณที่มีจำกัด ได้ข่าวว่าถูกลดงบฯ ลงด้วย เลยส่งผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการในเกือบจะทุกเรื่อง ซึ่งปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่วันแรกๆ ของการเหยียบแผ่นดินตากาล็อกแห่งนี้ดังที่เป็นข่าวไปแล้ว

ไม่ว่าการมีเจ้าหน้าที่ 2 คนในการทำไอดีการ์ดให้นักกีฬาเป็นร้อย ผลคือกว่าจะได้กันครบก็ปาเข้าไปหลายชั่วโมง การรอรถบัสมารับจากสนามบินเข้าที่พักก็นานแสนนาน เมื่อถึงโรงแรมกว่าจะได้เข้าห้องพักก็ต้องนอนรอกันที่ล็อบบี้และพื้นโรงแรม

หรือสนามซ้อมก็อยู่ไกล เดินทางไปก็เหนื่อยแล้ว แถมรถที่ใช้เดินทางพาไปผิดสนามอีก

อาหารก็ไม่ได้คุณภาพเพียงพอสำหรับนักกีฬาที่ต้องใช้พลังงาน

คุณภาพสนาม ห้องน้ำ และสถานที่ต่างๆ ก็ดูแย่ไปหมด แม้จะได้รับการแก้ไขอย่างรีบด่วนไปบ้างแล้วเพราะโดนผู้นำประเทศกระทุ้งมาก็เถอะ

แต่ทำไมถึงได้ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาได้

หากไม่พยายามเกินไปที่จะจัดชนิดกีฬามากเกินไปตามที่ตนเองหวังว่าจะได้เหรียญทองเยอะๆ โดยเฉพาะในรายการของกีฬาพื้นบ้านก็อาจลดปัญหาที่ว่าลงได้ คุณภาพการจัดก็จะเกิดขึ้น ความประทับใจของนักกีฬาและทีมงานก็จะตามมา ไม่ใช่เสียงบ่นก่นว่าอย่างที่เป็น

เมื่อคราวก่อนที่เจ้าภาพปี 2017 คือมาเลเซีย ก็มีปรากฏการณ์ “เสือเหลืองขี้โกง” มาแล้ว ตอนอินโดนีเซียจัดในปี 2011 ก็มีบอกว่า “อิเหนาเจ้าเล่ห์” แม้แต่ตอนไทยจัดก็มีเสียงกระซิบในทำนองนี้เหมือนกัน ที่ดูจะได้รับเสียงชื่นชมในมาตรฐานการจัดและความเป็นกลางอยู่บ้างก็ตอนที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2015

จนอดคิดไม่ได้ว่า เพราะวิธีคิดของคนในภูมิภาคนี้พากันเป็นอย่างนี้รึเปล่า จึงทำให้เกิด “วิธีคิดที่ส่งต่อถึงการกระทำอันแปลกๆ”

เป็นความคิดที่เอา “เปลือก” เป็นที่ตั้ง ไม่สนใจเนื้อข้างในว่าสวยงาม เหมาะสม ดีงาม เพียงใด

ขอให้ฉันเป็นเจ้าเหรียญทองก็พอ กรรมการจะเข้าข้างฉันจนน่าเกลียดก็จะทำไม คู่แข่งขันจะประท้วงแล้วประท้วงอีกก็ไม่สน แถมวาดกติกาเข้าข้างตัวเองสุดสุด

เหมือนในระดับประเทศที่ต้องการเป็น “ผู้ชนะ” ในการเลือกตั้ง ที่จะทำยังไงก็ได้ เขียนกติกาใหม่ให้ตัวเองชนะก็ทำ กรรมการฉันก็ควบคุมชี้นิ้วได้ พรรคการเมืองคู่แข่งจะร้องแรกแหกกระเชอยังไงก็ทำหูทวนลม สื่อท้วงติงก็ว่าจับผิด

ทำอะไรก็เป็น “เปลือก” กว่า “แก่น”

ช่างแตกต่างจากประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่น ที่จะเป็นเจ้าภาพกีฬา “โอลิมปิก 2020” ในปีหน้า แต่พร้อมแล้วตั้งแต่ปีนี้ แล้วก็ระดับโอลิมปิกนะครับ ไม่ใช่ระดับซีเกมส์ หรือกีฬา อบต.

นี่ก็เพราะความเป็นประเทศที่มี “ความรับผิดชอบ” เอา “แก่นมากกว่าเปลือก” มีระเบียบวินัยในการทำงานทุกประเภท

ไม่มีผักชีโรยหน้าประเภทเมื่อวานยังไม่มีอะไรเลย ตอนเช้ามีดอกไม้วางประดับเต็มสองข้างทาง พร้อมสีขอบทางเท้าที่สดใสสวยงาม เพราะคนใหญ่คนโตจะผ่านมาทางนี้วันนี้

เพราะญี่ปุ่นเป็นอย่างนี้ จึงสะท้อนออกมาที่คนเขาด้วย

โค้ชกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย “อากิระ นิชิโนะ” ปฏิเสธที่จะใช้นักกีฬาโควต้าเกิน 23 ปีเหมือนที่ประเทศอื่นใช้ เพราะเล็งเห็นถึงพัฒนาการของนักเตะ เห็นความสำคัญของทีมเวิร์กมากกว่าผลการแข่งขัน โดยเฉพาะในปีหน้าเราจะต้องร่วมแข่งขันในฟุตบอลเยาวชนเอเชียอายุไม่เกิน 23 ปีด้วยอยู่แล้ว ในกีฬาซีเกมส์นี้จึงเป็นโอกาสดีในการได้ลองฝีเท้านักเตะ ทดลองทีม ทดลองแท็กติก

ซึ่งสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นในอดีตก็มีแนวทางแบบเดียวกันนี้มาแล้ว โดยได้จัดนักเตะเพื่อลุยศึกฟุตบอลเอเชายนเกมส์ 2018 ที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตามกฎสามารถส่งผู้เล่นที่อายุไม่เกิน 23 ปีเข้าแข่งขันได้ แต่เพื่อเป็นการเตรียมทีมสำหรับอนาคตจึงตัดสินใจส่งผู้เล่นชุดอายุต่ำกว่า 21 ปีเข้าแข่งขันแทน

นั่นคือการมองการณ์ไกล มอง “แก่นของการสร้างและวางรากฐาน” มากกว่า “เปลือก” ที่ต้องชนะลูกเดียวเหมือนที่กล่าว

ครั้งนี้คงไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ได้แต่หวังว่าคราวหน้าที่จัดการแข่งขันจะเล็งเห็นถึงแนวทางนี้บ้าง เพื่อการพัฒนากีฬาและคุณภาพของคนในภูมิภาคนี้ไปในทางที่เหมาะสมด้วยกัน

ส่วนครั้งนี้ไม่ว่าไทยจะได้เป็นเจ้าเหรียญทองหรือไม่ไม่สำคัญ ขอให้นักกีฬาทุกคนสู้ด้วยสปิริตนักกีฬา ทำให้ดีที่สุด และมีความสุขกับการแข่งขันก็พอ

โชคดีครับไทยแลนด์