สุรชาติ บำรุงสุข | จากรัฐประหาร สู่รัฐบาลทหารเลือกตั้ง (จบ) ประเมินสถานะและอนาคตการเมืองไทย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ระบอบเผด็จการคือรัฐบาลที่การปกครองนั้นไม่สามารถกำจัดได้ ยกเว้นด้วยการปฏิวัติ ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยคือรัฐบาลที่สามารถกำจัดได้โดยไม่นองเลือด”

Karl Popper

The Open Society and Its Enemies (1962)

การดำรงความเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารไว้ได้อย่างยาวนานในการเมืองไทย ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายเช่นในยุคสงครามเย็นอีกต่อไป

เพราะปัจจัยแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในมีความเปลี่ยนแปลงไปกับสถานการณ์โลกและภูมิทัศน์การเมืองไทยด้วย

ดังนั้น แม้แรงสนับสนุนของปัจจัยภายในของชนชั้นนำและชนชั้นกลางอนุรักษนิยมที่มีต่อระบอบการปกครองของทหารจะคงมีอยู่มาก แต่แรงกดดันต่อระบอบทหารก็มีอยู่มากในการเมืองไทยปัจจุบันเช่นกัน

การปรับตัวจากรัฐบาลรัฐประหาร ไปสู่การเป็น “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” จึงเป็นทางออกที่น่าจะดีที่สุดในการคงอำนาจของรัฐบาลทหารให้คงอยู่ต่อไป

และทั้งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดแรงบีบคั้นจากสภาวะแวดล้อม

แม้การกำเนิดของ “ระบอบพันทาง 2562” ในการเมืองไทยอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การกำเนิดของระบอบพันทางในครั้งนี้มีการออกแบบกลไกต่างๆ รองรับ เพื่อทำให้ระบอบนี้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน ซึ่งการออกแบบเช่นนี้ทำให้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยมีความยุ่งยากและมีความซับซ้อนในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลเช่นนี้ทำให้การพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในอนาคต อาจจะคิดในมุมที่แตกต่างจากเดิม

และการพิจารณาถึงความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร (civil-military relations) ก็เช่นเดียวกัน เพราะทหารยังคงบทบาทและอำนาจการเมืองไว้มากในตัวแบบไทย

และยังไม่เห็นว่ากองทัพจะออกจากการเมืองอย่างไร (ซึ่งอาจจะต่างกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในละตินอเมริกาที่ทหารยอมถอยออกไปจากการเมือง)

เปลี่ยนผ่านสองจังหวะ

การสร้างระบอบทหารแบบเลือกตั้ง ทำให้เกิดผลสืบเนื่องทางการเมือง ดังนี้

1) ผลจากในข้างต้นจะทำให้การเมืองไทยในอนาคตเป็น “การเมืองแบบพันทาง” (hybrid politics) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเพื่อให้ระบอบนี้จะอยู่รอดได้ จะต้องออกแบบกลไกเพื่อทำให้ทั้งพรรคการเมืองและประชาสังคมมีความอ่อนแอ จนไม่มีพลังมากพอที่จะต้านทานกับการกลับมาของรัฐบาลทหารในรูปแบบใหม่ด้วยกระบวนการเลือกตั้ง

และยังต้องทำให้ทหารมีบทบาททางการเมืองต่อไปได้อีก เพื่อใช้กองทัพเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนการคงอยู่ของระบอบพันทาง

แต่ระบอบพันทาง 2562 จะมีความเข้มแข็งที่จะอยู่รอดในอนาคตได้เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความสำเร็จที่ระบอบนี้จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง

เพราะแม้ประชาสังคมอาจจะไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะเปลี่ยนระบอบนี้ได้

แต่ระบอบนี้ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับแรงกดดันในรัฐสภา และเมื่อรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งไม่สามารถชนะเสียงในการเลือกตั้งได้อย่างเด็ดขาดแล้ว การต่อสู้ในรัฐสภาจะเป็นเวทีสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน

การต่อสู้ด้วยระบบรัฐสภากับระบบพันทางจึงเป็นโจทย์ที่ขบวนประชาธิปไตย (ตลอดรวมถึงพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย) ต้องคิด

2) การออกแบบเช่นนี้เปิดโอกาสให้ผู้นำรัฐประหารเดิมมีอำนาจและดำรงขีดความสามารถในการควบคุมทางการเมืองในสังคมไทยต่อไป

ระบอบการเมืองแบบ “พันทางไทย” ที่ยังคงต้องพึ่งอำนาจของฝ่ายทหาร ส่งผลให้หากระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเกิดขึ้น การเมืองไทยในอนาคตก็จะยังคงเป็น “ประชาธิปไตยที่ต้องได้รับการปกป้อง (จากทหาร)” หรือที่การเมืองในละตินอเมริกาเรียกว่า “Protected Democracy” คือเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ทหารยังคงมีบทบาทในการควบคุม

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของขบวนประชาธิปไตยไทยจะต้องคิดเรื่องการจัดความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับการเมืองให้ได้อย่างเป็นจริง

หรือในอีกด้านคือการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่การกำหนดแนวคิดในการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร ก็ขึ้นอยู่กับทั้งฝ่ายประชาธิปไตย (ที่หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในอนาคต) และกับฝ่ายทหาร (ที่จะยอมรับต่ออำนาจของรัฐบาลประชาธิปไตยเพียงใด)

ซึ่งในมุมมองของประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว โจทย์ของการจัดความสัมพันธ์เช่นนี้มีปัญหาในตัวเอง เพราะโอกาสที่ทหารไทยจะถอนออกจากการเมืองนั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น

และแม้ระบอบพันทางชุดนี้อาจจะพังทลายลง แต่ก็มิได้หมายความว่ากองทัพจะถอนตัวจากการเมืองโดยอัตโนมัติ

ปัญหาของทหารกับการเมืองยังคงเป็นโจทย์ที่ขบวนประชาธิปไตยไทยยังต้องให้ความสำคัญไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นปัญหาหลักของประชาธิปไตยที่จะต้องแสวงหายุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการจัดการกับปัญหาให้ได้จริง

3) ผลจากการคงอำนาจของระบอบทหารจากการรัฐประหารไว้ในการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งแล้ว จะทำให้สิ่งที่เกิดเป็น “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” หรือมีลักษณะเป็น “กึ่งเผด็จการ” (semi-authoritarianism) หรืออาจจะเรียกว่า “ระบอบเผด็จการครึ่งใบ” ด้วยการคงสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของระบอบอำนาจนิยมไว้ต่อไป ในสภาพเช่นนี้ต้องตระหนักว่าการเมืองไทยปัจจุบันไม่เป็น “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” (เมื่อเปรียบเทียบกับยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์)

การกำเนิดของรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง ซึ่งมีความเป็นระบอบเผด็จการครึ่งใบนั้น บ่งบอกถึงการออกแบบระบอบด้วยกลไกต่างๆ ที่จะช่วยทำให้เกิดสิ่งที่ในทฤษฎีเรียกว่า “การคงอยู่ของอำนาจนิยม” (authoritarian persistence)

การต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปสู่การสร้างประชาธิปไตยอาจจะมีแรงเสียดทานอย่างมาก

เพราะในด้านหนึ่งระบอบนี้มีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง และในอีกด้านมีกลไกและเครื่องมือในการจัดการฝ่ายต่อต้าน

ในอีกด้านหนึ่งระบอบนี้ใช้ “เสื้อคลุมประชาธิปไตย” ที่อาจทำให้ประชาชนสับสน ฉะนั้น ขบวนประชาธิปไตยไทยอาจต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องของระบอบพันทางให้กับสังคมมากขึ้น

ซึ่งไม่ใช่ปัญหาของระบอบเผด็จการทหารในแบบเดิม

และการจำแนกทางรัฐศาสตร์แบบเดิมสองระบอบคือระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการนั้น อาจไม่เพียงพอในปัจจุบัน

เพราะมีระบอบที่เกิดขึ้นระหว่างกลาง ซึ่งก็คือระบอบพันทางนั่นเอง (ในทางทฤษฎีจึงเป็นได้ทั้ง ประชาธิปไตยที่มีคำคุณศัพท์ หรืออำนาจนิยมที่มีคำคุณศัพท์เช่นกัน ขึ้นอยู่กับระบอบนี้ค่อนไปในทิศทางใด)

4) หากจะต้องคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในระบอบเผด็จการครึ่งใบแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่า การเมืองไทยต้องการ “การเปลี่ยนผ่านแบบสองจังหวะ”

กล่าวคือ ในจังหวะแรกเป็นการเปลี่ยนผ่านเพื่อปลดพันธะจากระบอบกึ่งเผด็จการ

และในจังหวะที่สองคือการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย การคิดเพียงว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งเดียวนั้น อาจจะไม่เพียงพอ

การเปลี่ยนผ่านโดยทั่วไปในทางทฤษฎีนั้น มักจะคิดเป็นแบบ “จังหวะเดียว” คือ การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นเมื่อระบอบอำนาจนิยมสิ้นสุดลง

การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย (democratization) และเป็นความหวังว่ากระบวนการนี้จะเดินไปสุดทางของการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย (democratic consolidation)

แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลายกรณีอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย

ในกรณีของไทย เราอาจจะมีการเลือกตั้งหลังระบอบรัฐประหาร แต่ก็ไม่ใช่การแข่งขันทางการเมืองอย่างเสรีและเป็นธรรม อันทำให้เกิดระบอบพันทาง

ฉะนั้น การคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะต้องคิดถึงการเปลี่ยนผ่านที่ออกจากระบอบพันทาง ที่มิใช่การสิ้นสุดของระบอบอำนาจนิยมและการสิ้นสุดบทบาทของกองทัพในทางการเมือง

และอาจจะต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนผ่านของระบอบพันทางมีความยุ่งยากในอีกแบบหนึ่ง เพราะระบอบเก่ายังมีอำนาจมาก

5) สิ่งที่เป็นความคาดหวังในทางการเมืองคือ หากฝ่ายนิยมประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งในอนาคต แต่องค์ประกอบของระบอบอำนาจนิยมเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไป

ฉะนั้น การปรับกลไกและรื้อโครงสร้างอำนาจของระบอบทหารแบบเลือกตั้ง จะเป็นโอกาสของกระบวนการรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยไทย (หรืออาจจะเรียกกระบวนการนี้ในทางทฤษฎีว่า “Redemocratization”) และจะเป็นหนทางที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง มิใช่เป็นการเปลี่ยนผ่านที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำทหาร ซึ่งการปรับรื้อส่วนของระบอบพันทางไม่ใช่เรื่องง่าย

6) ในอีกมุมหนึ่งนั้น การคงอยู่ของระบอบทหารหรือระบอบกึ่งทหารสะท้อนให้เห็นถึงพลังทางอุดมการณ์ของปีกอนุรักษนิยม ที่ทำให้การเกิดรัฐประหาร หรือการเกิดระบอบกึ่งเผด็จการมีกลุ่มผู้สนับสนุนอย่างแข็งขัน

เช่น พวกเขาพร้อมที่จะแสดงบทบาทเป็น “กองเชียร์รัฐประหาร” ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกผิดศีลธรรมทางการเมือง

การลดทอนอิทธิพลของปีกอนุรักษนิยมในการเมืองไทยเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ

การสร้างประชาธิปไตยในอนาคตจะต้องแสวงหาหนทางที่จะควบคุมอำนาจของปีกอนุรักษนิยมให้จำกัดอยู่กับการเมืองในรัฐสภา (เช่น ตัวแบบยุโรป)

หรืออีกนัยหนึ่ง กลุ่มอนุรักษนิยมจะต้องไม่นิยมความคิดแบบสุดโต่ง ที่แสดงบทบาทเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนรัฐประหาร

การจะทำเช่นนี้ได้นั้น ชนชั้นนำและผู้นำกลุ่มการเมืองปีกขวาจะต้องยุติ “ความกลัวทางการเมือง” ในรูปแบบต่างๆ

เช่น ชนชั้นนำจะต้องเลิกกลัวการปฏิวัติแบบฝรั่งเศส จีน หรือคิวบา

พร้อมๆ กับพวกเขาจะต้องเลิกกลัวชนชั้นล่าง เช่น กลัวการเคลื่อนไหวของกรรมกรและชาวนา เป็นต้น

เพราะความกลัวเช่นนี้เปิดปัจจัยสำคัญในการสร้างชุดความคิดแบบ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” ที่ไม่ยอมรับการมีบทบาทของนักการเมืองและพรรคการเมือง

แต่กลับสนับสนุนผู้นำทหารให้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาล และขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะยอมรับการเลือกตั้งในฐานะของการเป็นเครื่องมือตัดสินการได้อำนาจรัฐ

ในบริบทไทยอาจเรียกความคิดเช่นนี้ว่า “อุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตย” ที่ปรากฏให้เห็นเป็นวาทกรรมในรูปแบบต่างๆ

และโดยภาพรวมของอุดมการณ์นี้คือ ไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น การจะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในการเมืองไทยประสบความสำเร็จได้นั้น อาจจะต้องลดทอนความเข้มข้นของอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตยของฝ่ายขวาลง

และผลักดันให้ขวาไทยยอมที่จะเล่นการเมืองในระบอบรัฐสภา มากกว่าที่จะใช้รัฐประหารเป็นวิถีหลักของการต่อสู้ทางการเมือง

และทั้งยังต้องลดทอน “อุดมการณ์เสนานิยม” ในหมู่ชนชั้นกลางปีกอนุรักษนิยมด้วย

วังวนที่ออกไม่ได้!

จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวแล้วในข้างต้นเห็นชัดว่า การเมืองไทยยังตกอยู่ใน “วังวน” ของระบอบทหารไม่เปลี่ยนแปลง แม้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น แต่การเลือกตั้งกลับไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เป็นเพียงการปูทางไปสู่การจัดตั้ง “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” ที่ทำให้ระบอบทหารเดิมสามารถคงอยู่ในอำนาจ และการเลือกตั้งมีส่วนโดยตรงในการช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบนี้

แต่ระบอบนี้จะอยู่ได้จริงเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในด้านต่างๆ ที่จะเป็นปัจจัยเรียกร้องความสนับสนุนจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบอบนี้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ดังเช่นความสำเร็จทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ทำให้ระบอบการปกครองจีนปัจจุบันดำรงอยู่ได้

การตกอยู่ในวังวนของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร ขณะเดียวกันก็อยู่ใน “เขาวงกต” แห่งความขัดแย้งที่ไม่มีจุดจบ และยังถูกโถมด้วยปัญหาเศรษฐกิจ อีกทั้งความหวังเรื่องการปฏิรูปที่นำโดยกองทัพก็กลายเป็นเพียงอาการ “ฝันกลางวัน” ที่ไม่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม ภาวะเช่นนี้ทำให้ “เครดิต” ทางการเมืองของทหารลดลงอย่างมาก เพราะในช่วงที่ทหารมีอำนาจจากการรัฐประหารในแบบที่แทบจะเป็น “ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ” (Totalitarianism) นั้น กลับไม่เห็นความสำเร็จมากนัก

ความท้าทายของรัฐบาลพันทางไทยเฉพาะหน้าคือ ประชาชนกลุ่มต่างๆ จะยังให้การสนับสนุนระบอบนี้ต่อไปหรือไม่ แม้ว่า “กองเชียร์ทหาร” ยังมีพลังในการเมือง แต่ความท้าทายเฉพาะหน้าอยู่ในรัฐสภา

กล่าวคือ ระบอบทหารแบบเลือกตั้งจะสามารถควบคุมการเมืองในสภาได้เพียงใด…

สภาที่มาจากการเลือกตั้งไม่เหมือนกับสภาที่มาจากการรัฐประหารอย่างแน่นอน และประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นบทเรียนประการหนึ่งว่า ระบอบทหารแบบเลือกตั้งไม่เคยคุมรัฐสภาได้ และมักจบลงด้วยรัฐประหาร

การคงอยู่ของระบอบทหารแบบเลือกตั้งของไทยในยุคปัจจุบันจึงเป็นประเด็นที่ท้าทาย เช่นเดียวกับที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระบอบนี้ก็เป็นความท้าทายอย่างยิ่งไม่แตกต่างกัน!