เมื่อ “ประชาชน” มองการ “อยู่ไม่เป็น” ในแง่ลบเกือบทั้งหมด ?

“อยู่ไม่เป็น” ยังอีกไกล

หากติดตามการเมืองให้ใกล้ชิดสักหน่อย จะรับรู้ว่า “อยู่ไม่เป็น” ที่ “พรรคอนาคตใหม่” ชูขึ้นมาเป็น “ม็อตโต้” การรณรงค์ล่าสุด แท้จริงแล้วมาจากคำว่า “อยู่เป็น”

คำว่า “อยู่เป็น” นั้นเป็นศัพท์แสงที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองช่วงหลัง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.” ยึดอำนาจการบริหารประเทศจาก “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” และใช้กำลังและอาวุธของกองทัพควบคุมฝ่ายที่เห็นต่างอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นในนามของ “ปรับทัศนคติ” หรือ “ความผิดต่อความมั่นคง” ทำให้ชีวิตของคนที่มีความเห็นต่างๆ ไม่เห็นด้วยต้องเดือดร้อนกันไปทั่ว

คนในกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเผชิญชะตากรรมหนักหนาสาหัสกันไปตามแต่ คสช.จะถือเป็นความผิดหนักเบาแค่ไหน ส่วนคนเห็นต่างทั่วไปอย่างน้อยเกิดความหวาดวิตก หรือผวาที่จะพูดแสดงความคิดเห็น

ขณะที่อีกด้าน คนในกลุ่มที่ทำท่า หรือพูดจาในทางเห็นดีเห็นงามกับการใช้อำนาจควบคุมความเห็นต่าง ได้รับการเกื้อหนุนดังเป็นผู้มีวาสนาได้เสพส่วนบุญของอำนาจ ด้วยความหน้าชื่นตาบานกันคึกคัก

คนในกลุ่มจำพวกหลังนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพวก “อยู่เป็น”

“อยู่เป็น” ในความหมายของคนที่เริ่มต้นจากการไม่ทำตัวให้ต้องเดือดร้อนในสถานการณ์ฮึกเหิมแห่งอำนาจ และสามารถพูด และทำให้เป็นที่พออกพอใจของผู้มีอำนาจจนได้รับส่วนแบ่งจากการแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอำนาจ กินเงินเดือน มีรายได้จากงบประมาณของประเทศอันมาจากภาษีของประชาชนสบายไป

จึงเกิดค่านิยมแบบกระซิบให้กันว่าใคร “อยู่เป็น”

และ “พวกอยู่เป็น” นี้เองที่ทำท่ายิ้มกริ่ม ออกท่าทางหมิ่นแคลนคนในกลุ่มที่ไม่เออไม่ออกับอำนาจที่ใช้กำลังอาวุธยึดมาว่าเป็น “พวกอยู่ไม่เป็น”

“อยู่ไม่เป็น” ในความหมายของพวกไม่ฉลาด ไม่รู้จักปรับตัวเพื่อไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน แถมยังจะได้ประโยชน์จากการแสดงออกแบบ “อยู่เป็น”

คำว่า “อยู่ไม่เป็น” ดูจะกลายเป็นคำที่ให้ความหมายว่า “โง่เขลา” เข้าไปทุกที

แต่ “พรรคอนาคตใหม่” กลับหยิบคำว่า “อยู่ไม่เป็น” ขึ้นมาเป็น “ม็อตโต้” รณรงค์ทางการเมือง โดยอธิบายเสียใหม่ว่ามีความหมายของ “อยู่อย่างไม่ยอมจำนน-ไม่สอพลอ” ต่ออำนาจ เลยไปถึง “ยืนหยัดเพื่อต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม ไม่ก้มหัวให้การใช้อำนาจที่เหนือกว่ามาข่มเหงรังแกในทุกรูปแบบ”

ปฏิบัติการ “อยู่ไม่เป็น” ของ “พรรคอนาคตใหม่” ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การรณรงค์ก่อกระแส “อยู่ไม่เป็น” เพื่อสร้างแนวร่วมให้แข็งแกร่งพอจะต้านการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมได้หรือ

ประชาชนจะตื่นตัวในการมองเห็น “วิกฤตที่เกิดจากการใช้อำนาจที่ล้นเกิน” หรือไม่

วันนี้ “นิด้าโพล” พยายามหาคำตอบให้แล้ว

คําตอบในคำถามที่ว่า ในความเข้าใจของท่าน “อยู่เป็น” หมายถึงอะไร ร้อยละ 40.57 ตอบว่า “คนที่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ให้สอดคล้องกับบริบทที่ดำรงอยู่” ร้อยละ 38.11 ตอบว่า “คนที่วิธีการใดๆ ก็ได้ที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่รอดปลอดภัย”

สำหรับคนที่มองเห็นว่า “อยู่เป็น” คือพวกที่ “ยอมจำนนต่อสภาพแวดล้อมหรืออำนาจ” มีแค่ร้อยละ 2.22 ขณะที่มองว่าเป็น “พวกไม่มีจุดยืน ไม่ยึดมั่นหลักการ และไม่มีอุดมการณ์” มีเพียงร้อยละ 1.58 เท่านั้น

และเมื่อถามว่า ในความเข้าใจของท่าน “อยู่ไม่เป็น หมายถึงอะไร” ร้อยละ 35.18 ตอบว่า “คนที่ไม่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ให้สอดคล้องกับบริบทที่ดำรงอยู่

ร้อยละ 23.45 ตอบว่า คนที่กระทำสิ่งใดแล้วเกิดผลลบกับตัวเอง

ร้อยละ 15.77 ตอบว่า คนไม่รู้จักกาลเทศะ ดื้อรั้น หัวชนฝา เอาแต่ใจตัวเองเป็นหลัก

ร้อยละ 14.03 ตอบว่า เป็นคนชอบทำอะไรแบบจระเข้ขวางคลอง หรือแกว่งเท้าหาเสี้ยน

ร้อยละ 13.39 บอกว่า เป็นคนที่ทำอะไรก็ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม และไม่เจริญรุ่งเรือง

ร้อยละ 10.78 บอกว่า เป็นคนขาดความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ และไม่เข้าใจสังคม

ล้วนแล้วแต่มอง “อยู่ไม่เป็น” ในแง่ลบเกือบทั้งหมด

ที่เห็นว่า “เป็นคนไม่ยอมจำนนต่อสภาพแวดล้อมหรืออำนาจ” มีแค่ร้อยละ 4.83 ขณะที่มีร้อยละ 3.41 เท่านั้นที่เห็นว่าเป็นคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

จากผลสำรวจนี้

แทบจะเป็นคำตอบได้เลยว่าความพยายามปลุกกระแสไม่ยอมจำนน สร้างจิตใจที่กล้าพอจะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม

พรรคอนาคตใหม่ยังต้องเหนื่อยอีกเยอะ