“แขกไปใครมา” การเดินทางสำรวจรากเหง้าตัวตนของศิลปินไทยเชื้อสายอินเดีย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

กลางเดือนธันวาคมนี้ ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย กำลังจะมีนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยครั้งใหญ่ของศิลปินใหญ่ชาวไทยเชื้อสายอินเดียผู้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ที่เราน่าจะรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล

และนิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า

แขกไปใครมา (Khaek Pai Krai Ma)

นิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาวอินเดียในประเทศไทย

อันมีจุดมุ่งหมายในการสำรวจความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยกับชาวอินเดียผ่านการอพยพย้ายถิ่นฐาน และการดำเนินชีวิตตามวิถีชุมชนของชาวอินเดีย ที่ชาวไทยต่างเคยประสบพบเจอและคุ้นเคยมาอย่างยาวนาน

ผลลัพธ์จากการค้นคว้าดังกล่าว กลายเป็นนิทรรศการที่เล่าขานเรื่องราวชีวิตอันหลากหลาย

และการเดินทางผ่านกาลเวลาของชาวอินเดียพลัดถิ่นในสังคมไทย

โดยในปี 2017 นาวินเริ่มต้นจากการออกเดินทางพร้อมกับทีมงานไปทั่วประเทศไทย เพื่อค้นหา พบปะ และเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถูกบอกเล่า ทั้งจากชาวอินเดีย และชาวไทยเชื้อสายอินเดีย

รวบรวมเป็นวิดีโอสัมภาษณ์ความยาวกว่า 500 ชั่วโมง และภาพถ่ายจำนวนมากที่เก็บบันทึกความทรงจำของชุมชนเหล่านั้น ตั้งแต่ครั้งที่บรรพบุรุษของเขาได้เดินทางมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย จากรุ่นสู่รุ่น

อนึ่ง ชื่อ “แขกไปใครมา” หยิบยืมมาจากสำนวนไทยที่สะท้อนถึงการเป็นมิตร การต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือน

คำว่า “แขก” โดยความหมายคือ ผู้มาเยี่ยมมาเยือน ยังถูกนำมาใช้ในการเรียกขานชาวอินเดีย และในบางคราวก็แสดงถึงความห่างเหินราวกับเป็นคนนอก

คำว่า “แขก” ยังรื้อฟื้นความทรงจำในวัยเด็กของตัวศิลปิน ที่เคยถูกล้อว่าเป็นแขกอยู่บ่อยครั้ง

อีกหนึ่งความมุ่งหมายในการทำงานครั้งนี้คือต้องการขีดเส้นเน้นให้เห็น “แขก” กลุ่มสำคัญที่ยังคงมีบทบาทอย่างมีชีวิตชีวาอยู่ในสังคมไทยเสมอมาตราบจนทุกวันนี้ โดยนาวินกล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการนี้ว่า

“สมัยเรียนศิลปะ เราไม่ค่อยสนใจเรื่องเกี่ยวกับแขกหรืออินเดีย ค่อนข้างเกลียดด้วยซ้ำไป เพราะเรามีปมตั้งแต่เด็กๆ ที่ถูกล้อว่าเป็นแขก พอเราเรียนจบแล้วจับพลัดจับผลูได้ไปอยู่ที่ญี่ปุ่น ปีแรกที่อยู่ เราเริ่มรู้สึกว่าตัวเราเป็นคนต่างถิ่น เป็นคนต่างชาติ เป็นเหมือนแขกในสังคมเขา ด้วยหน้าตาหรืออะไรก็ตาม หลังอยู่ญี่ปุ่นไม่นาน แม่เราก็เสียชีวิต นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเริ่มสนใจที่มาที่ไปของตัวเอง แต่เราก็ยังไม่ทำอะไรจริงจัง จนพอเรามีลูก เราก็เริ่มคิดไปถึงตอนเราเป็นเด็ก ที่ใช้นามสกุลเป็นภาษาแขกว่า “ราเวิล” ลูกเราเองก็ใช้นามสกุล “ลาวัลย์ชัยกุล” ของเรา ซึ่งคนญี่ปุ่นออกเสียงไม่ถูก พอลูกเราอายุประมาณ 7 ขวบ วัยเดียวกับเราสมัยเด็กที่ยังใช้นามสกุลเดิม ลูกก็เริ่มตั้งคำถามว่านามสกุลเรามีที่มายังไง เราก็เลยอยากจะหาที่มา เพื่อเล่าให้เขาฟัง”

“เราก็ไปสัมภาษณ์คนอินเดียในเชียงใหม่ ถามเรื่องชีวิต ความเป็นมาของเขา แล้วบันทึกเป็นวิดีโอเอามาตัดต่อเป็นงาน”

“ตอนเราไปหา เขาก็รับรองเราที่ห้องรับแขก เราก็เลยตั้งชื่องานนี้ว่า “ห้องรับแขก” เป็นงานที่พูดเรื่องความเป็นแขกในสังคมไทยในเชียงใหม่ ทำเป็นงานศิลปะจัดวาง มีวิดีโอ มีภาพวาดลูกสาวของเรา มีจดหมายที่เราเขียนถึงลูกสาว เล่าว่าเรากลับไปที่ร้านขายผ้าของพ่อ ที่เป็นบ้านเกิดและบ้านหลังแรกของเราสมัยเด็กๆ”

“และนึกถึงเรื่องราวในอดีตที่เราเคยนั่งอยู่โซฟาสีแดงที่บ้าน ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเหมือนการคลี่ปมในวัยเด็กของเรา”

“อีกส่วนหนึ่งเป็นเหมือนการชดเชยที่เราอยู่ห่างลูก เพราะเราเดินทางแสดงงานศิลปะในหลายประเทศตลอดเวลา งานนี้ก็เป็นเหมือนการบำบัดอะไรบางอย่างที่เราอยากจะบอกกับลูก โดยบันทึกเป็นจดหมายที่ไม่ได้ส่งให้ลูก แต่เอามาแสดงเป็นส่วนหนึ่งของงานชุดนี้แทน”

“ในวิดีโอที่เราสัมภาษณ์ในงาน ห้องรับแขก มีคนหนึ่งพูดถึงชื่อเมืองกุชรันวาลา ประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นเมืองที่แม่เราเกิด”

“แต่หลังจากเหตุการณ์แบ่งแยกดินแดนจากความขัดแย้งระหว่างคนนับถือศาสนามุสลิมกับศาสนาอื่นๆ ชาวฮินดูอย่างแม่ของเรา รวมถึงชาวซิกข์ก็ต้องอพยพออกมา”

“เราก็เดินทางไปยังดินแดนบ้านเกิดของแม่ เพื่อเป็นการหวนรำลึกถึงรากเหง้าของตัวเอง และเป็นเหมือนการเกิดอีกครั้งของตัวเอง และทำเป็นงานชื่อ Places of Rebirth (2009)”

“หลังจากนั้นเราก็กลับมาทำเรื่องนี้เรื่อยมา จนปี 2015 ที่พ่อเราอายุ 80 ปี เราก็เปิดสตูดิโอเคที่เชียงใหม่ และจัดนิทรรศการศิลปะที่สตูดิโอและที่ร้านขายผ้าของพ่อ โดยทำเรื่องประวัติครอบครัวเราตั้งแต่อดีต เรื่องราวของชุมชนกาดหลวงที่ตั้งร้านของพ่อของเรา และชุมชนอินเดียในเชียงใหม่ โดยใช้ศิลปะเป็นตัวเล่าเรื่อง”

“หลังจากนั้นเราก็ถูกเชิญให้ไปทำงานให้กับศูนย์อินเดียและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อินเดียในสิงคโปร์ (Indian Heritage Centre (IHC)) เป็นนิทรรศการถาวรที่นั่น หลังจากนั้นเราก็เลยคิดว่า ทำไมเราไม่ทำเรื่องราวของคนอินเดียในประเทศไทยบ้าง?”

“ก็เลยเริ่มเดินทางสัมภาษณ์ชุมชนอินเดียทั่วประเทศในหลายที่ ต่างชุมชน และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความแตกต่างของคนอินเดียในหลายภูมิภาค ทั้งเรื่องอาชีพ การเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และความหลากหลายของชาติพันธ์อินเดียในสังคมไทย

“ซึ่งเป็นที่มาของนิทรรศการในครั้งนี้”

ผลงานชิ้นเด่นของนิทรรศการในครั้งนี้คือภาพวาดพาโนรามาความยาว 30 เมตร ที่ประกอบขึ้นจากภาพวาดบนผืนผ้าใบคละขนาดหลากสัดส่วนกว่า 300 ชิ้น รวมกันเป็นภาพขนาดใหญ่ ปะติดปะต่อจนเป็นราวกับความเรียงที่เขียนขึ้นตลอดการเดินทางอันยาวนานของนาวิน

ผลงานชิ้นนี้เกิดจากความทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่องโดยทีมงานของศิลปินในนามนาวินโปรดักชั่น

ควบคู่กับการทำงานร่วมกันของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายท่าน

ผลงานเด่นอีกชิ้น คือภาพวาดสไตล์โปสเตอร์หนังไทย/อินเดียย้อนยุค อันเปี่ยมสีสัน ที่ถูกนำเสนอคู่ไปกับจดหมายที่ศิลปินได้เขียนขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางครั้งล่าสุดของเขาและทีมงาน

นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิดีโอสัมภาษณ์ชุมชนที่จะนำเสนอเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวของผู้คนที่ศิลปินได้พบปะและพูดคุย

รวมถึงภาพยนตร์เพลงสไตล์บอลลีวูดที่สร้างขึ้นโดยความร่วมมือกับนักดนตรี นักร้อง และนักแสดงทั้งชาวไทยและอินเดีย ที่ทำหน้าที่บอกบรรเลงความผูกพันระหว่างสองดินแดนที่ผ่านมาหลายยุคสมัย

รวมถึงหนังสือการ์ตูนรูปแบบไทยย้อนยุคที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยสตูดิโอของศิลปิน เพื่อบันทึกและสานต่อประวัติศาสตร์อันยาวนานของชุมชนชาวอินเดียและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยให้กลายเป็นเรื่องเล่าจากอดีตที่ตื่นเต้นและน่าติดตาม

 

นิทรรศการนี้ยังนำผลงาน ร้านโอเค หรือ A Tale of Two Homes, Tales of Navin (2015) ที่เราเคยกล่าวถึงไปในตอนที่ผ่านมา https://bit.ly/2OR7hBT กลับมาจัดแสดงอีกครั้ง เพื่อเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นทางจิตวิญญาณและหมุดหมายสำคัญสำหรับโครงการ “แขกไปใครมา” ครั้งนี้ ใครที่พลาดชมผลงานสุดอลังการชิ้นนี้ในคราวที่แล้วก็ติดตามมาชมกันในนิทรรศการนี้ได้

ภายในงานยังมีกิจกรรมการศึกษา การสัมมนา กิจกรรมทัวร์ชุมชนชาวอินเดีย และการจัดฉายภาพยนตร์โดยผู้กำกับฯ ชาวอินเดียที่สร้างผลงานสะท้อนวิถีชีวิตสังคมอินเดียต่างยุคสมัยให้ชมกัน นอกจากนี้ ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์รูปแบบต่างๆ อย่างนิตยสาร หนังสือ ฯลฯ นำเสนอกันในงานอีกด้วย

“เป้าหมายของนิทรรศการนี้ เราอยากให้สังคมไทยได้เห็นเรื่องราวของชุมชนอินเดียว่ามีความเป็นมายังไง และอยากแสดงให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีความแตกต่างหลากหลาย มีความผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว”

“นิทรรศการนี้อาจจะไม่ได้พูดเรื่องประวัติศาสตร์อินเดียในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบ เแต่เราก็พยายามใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของเราที่เป็นลูกหลานของคนอินเดีย มาบอกเล่าถึงเรื่องราวเหล่านี้ด้วยมุมมองทางศิลปะมากกว่า” นาวินกล่าวทิ้งท้าย

นิทรรศการ “แขกไปใครมา” จะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2562 ถึง 19 มกราคม 2563 เวลา 13:00-19:00 น. ที่ Warehouse 30 เลขที่ 48-58 เจริญกรุง 30 บางรัก กรุงเทพฯ (เข้าชมฟรี)

ดูข้อมูลกิจกรรมของนิทรรศการเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/37Ghbi4

ติดต่อและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นาวินโปรดักชั่น – สตูดิโอเค โทร. 08-1111-9621 อีเมล [email protected] เว็บไซต์ www.facebook.com/NavinProduction

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากนาวินโปรดักชั่น