วงค์ ตาวัน | คดีบิลลี่-คดีวิทยาศาสตร์

วงค์ ตาวัน

ผลการตรวจพิสูจน์กระดูกต้องสงสัยในคดีบิลลี่หรือนายพอละจี รักจงเจริญ ที่พบเพิ่มเติมในภายหลังอีก 9 ชิ้น ลงเอยไม่สามารถนำมาใช้ในคดีได้ เนื่องจากเสื่อมสภาพมาก ไม่สามารถสกัดหาสารพันธุกรรมในกระดูกดังกล่าวได้

อาจจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหวต่อบรรดาผู้เฝ้าติดตามความคืบหน้าคดี คาดหวังให้ผู้เสียชีวิตได้รับความเป็นธรรมกลับคืนมา ด้วยการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้

แต่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อคดีอย่างแน่นอน เนื่องจากกระดูกชิ้นแรกที่ค้นพบพร้อมถังน้ำมัน 200 ลิตรนั้นได้ตรวจพิสูจน์ตามกระบวนการวิทยาศาสตร์แล้ว สามารถตรวจหาสารพันธุกรรมที่ยืนยันได้ว่ามีการสืบทอดทางมารดาตรงกับมารดาของบิลลี่

“เป็นหลักฐานที่หนักแน่นชัดเจนอยู่แล้ว!”

ทั้งนี้ หากติดตามข่าวสารคดีนี้อย่างละเอียดจะพบว่ากระดูก 9 ชิ้นชุดหลังนี้พบในภายหลังบริเวณใต้น้ำภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน แต่ห่างจากจุดที่พบชิ้นแรกไปประมาณ 10 เมตร เมื่อตรวจพบก็ส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ก่อน ไม่ได้แถลงยืนยันไปก่อนว่า ใช่หรือไม่ใช่

ดังนั้น เมื่อสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สกัดดีเอ็นเอออกมาเช่นนั้น คือไม่สามารถพิสูจน์ว่าตรงกับบิลลี่ ก็ตัดทิ้งหลักฐานต้องสงสัยนี้ออกไป

“เท่ากับยืนยันให้เห็นกระบวนการพิสูจน์ความจริงของคดีนี้ว่า อยู่บนพื้นฐานของการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ เป็นมาตรฐานเชื่อถือได้”

เมื่อกระดูกชิ้นแรก การตรวจดีเอ็นเอยืนยันว่าตรง ก็นำมาสู่การเปิดคดีฆาตกรรม เพราะสรุปได้ว่าบิลลี่ตายแล้วแน่นอน

จากนั้นรวบรวมพยานหลักฐานอื่น จนนำไปสู่การขออนุมัติศาล จนได้หมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานกับพวกรวม 4 คน เป็นผู้ต้องหา

ระหว่างนี้เป็นช่วงรอสรุปสำนวน การสอบสวนพยานหลักฐานอื่นเพื่อสรุปสำนวนส่งอัยการ เพื่อส่งฟ้องศาล

จนกระทั่งผลการตรวจกระดูกอีก 9 ชิ้น เพิ่งสรุปได้ว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตรงกับบิลลี่ ก็ตัดหลักฐานเหล่านี้ออกไปจากสำนวน

กระบวนการทำคดีที่หนักแน่น เป็นขั้นเป็นตอน และมีการตรวจทางวิทยาศาสตร์รองรับ จึงสวนทางกับเสียงตอบโต้จากฝ่ายผู้ต้องหา

“เป็นเครื่องยืนยันว่ากระดูกทุกชิ้นก็ต้องตรวจดีเอ็นเอก่อนจะนำมาใช้ยืนยัน จะเอากระดูกใครก็ไม่รู้มาโยนใส่ในน้ำ แล้วมาใช้เป็นหลักฐานมั่วๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้!?!”

หลักฐานทุกชิ้นยังต้องผ่านการพิสูจน์ในชั้นอัยการและชั้นศาลอีกด้วย

นี่เป็นยุคที่การทำคดีต้องมีหลักตรวจพิสูจน์หลักฐาน มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ยุคจุดธูปสาบานอะไรกันอีกแล้ว

นับจากบิลลี่หายตัวไปเมื่อ 5 ปีก่อน คือเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมฐานมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง แล้วนายชัยวัฒน์ขับรถมารับตัวบิลลี่ไป บอกว่าจะเอาไปสอบปากคำ จากนั้นก็อ้างว่าได้ปล่อยตัวกลับไปแล้ว หลังจากว่ากล่าวตักเตือน

แต่ลงเอยบิลลี่ก็ไม่ได้กลับมาพบครอบครัวลูกเมียและชุมชนชาวกะเหรี่ยงอีกเลย

จากคดีที่เป็นปริศนาหายตัวไปลึกลับ เมื่อดีเอสไอรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษเมื่อกลางปี 2561 ก็ได้ระดมออกสืบสวนหาร่องรอยต่างๆ โดยมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนภาค 7 ที่เคยทำคดีไปก่อนหน้านี้แล้ว เป็นเบาะแสที่เป็นประโยชน์หลายประเด็น จนกระทั่งได้ข้อมูลชี้ว่า จุดที่น่าสงสัยที่สุดคือบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ใต้สะพานแขวน

“พ.ต.อ.ไพสิฐจึงตั้งคณะกรรมการร่วมกับหลายหน่วยงานขึ้นมา ได้แก่ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ดร.สว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ พ.ต.ท.นิรุท อินธิศร ผู้บังคับกองร้อย กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน”

ในปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ใช้เครื่องยานยนต์สำรวจใต้น้ำจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนักประดาน้ำ ตชด. ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน จนสามารถตรวจพบชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ถัง เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน

“ผลตรวจพิสูจน์พบว่าเป็นส่วนกะโหลกศีรษะด้านท้ายทอยค่อนมาทางด้านหู ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของร่างกายมนุษย์ หากไม่อยู่ในร่างกายแล้วคือเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีร่องรอยผ่านการเผาไหม้ด้วยอุณหภูมิ 200-300 องศาเซลเซียส สำคัญสุดการตรวจหาสารพันธุกรรมแบบพิเศษ พบว่ามีการสืบทอดทางมารดาตรงกันกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของบิลลี่”

จึงเป็นบทสรุปว่า คือชิ้นส่วนของบิลลี่ และเป็นคดีฆาตกรรม

“ต่อมาวันที่ 28-30 สิงหาคม ได้ลงงมใต้น้ำอีกครั้งและพบชิ้นส่วนกระดูกอีกจำนวนหนึ่ง ห่างออกไปจากจุดแรกประมาณ 10 เมตร นำส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์สกัดดีเอ็นเอ จนได้ผลพิสูจน์กระดูก 9 ชิ้นชุดหลังว่าไม่สามารถบ่งชี้ว่าตรงกับบิลลี่ได้ จึงตัดหลักฐานส่วนนี้ออกไป”

พ.ต.อ.ไพสิฐให้ข้อสรุปถึงกระดูก 9 ชิ้นนี้ว่า เป็นการรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะกระทำได้ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง มีการใช้สหวิชาชีพในการแสวงหาและรวบรวมหลักฐาน ใช้วิทยาการหลายสาขา

เป็นการแสดงถึงการปฏิบัติงานที่โปร่งใส ปราศจากอคติ

คดีบิลลี่เป็นคดีที่คนจำนวนไม่น้อยในสังคมติดตามอย่างสนใจ เพราะบิลลี่เป็นแกนนำของชาวชาติพันธุ์ และลุกขึ้นมาต่อสู้ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปกป้องสิทธิการอยู่อาศัยและการดำรงชีวิตของชุมชนชาวกะเหรี่ยง

เมื่อหายตัวไป โดยมีข้อมูลชัดเจนว่า วันที่หายตัวนั้น เป็นวันที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ควบคุมตัวข้อหามีน้ำผึ้งป่า จึงไม่ใช่การหายตัวอย่างไร้ร่องรอยใดๆ เลย

ผ่านไปถึง 5 ปี แทบจะไม่มีความหวังแล้วว่า จะมีความเป็นธรรม แต่ในที่สุดดีเอสไอก็สามารถตั้งคดีฆาตกรรมได้ จึงเป็นคดีที่สร้างความหวังให้กับสังคมไทย ฟื้นความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมกลับคืนมา

“เป็นคดีที่จะทำให้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ชาวชาติพันธุ์ได้รับความเป็นธรรม ได้รับการคุ้มครองด้วยกระบวนการกฎหมายอย่างเสมอภาคกับคนไทยทั่วไป”

ทั้งยังไม่ใช่แค่คดีเสียชีวิตของแกนนำกะเหรี่ยงคนหนึ่งเท่านั้น แต่เชื่อมโยงไปถึงปัญหาการจัดการกับชุมชนในผืนป่า

กรณีนี้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยยืนยันว่าอยู่อาศัยในป่านี้มายาวนานนับร้อยปี ก่อนจะมีเขตอุทยานแห่งชาติเกิดขึ้น และมีวิถีชีวิตที่เคารพรักษาป่าอย่างจริงจัง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าขับไล่ ถึงขั้นเผาบ้าน เผายุ้งฉาง

แล้วโยงมาถึงการสูญเสียบิลลี่ เนื่องจากเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

“ความตายของบิลลี่ จึงเป็นการยกระดับปัญหาให้สังคมไทยได้เรียนรู้ศึกษาว่า กระบวนการแก้ปัญหาคนอยู่กับป่า มีการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างรุนแรงเกินขอบเขตหรือไม่!?”

ประเด็นนี้ ปัญหาชุมนุมกะเหรี่ยงชุมชนนี้แหละ ที่ยูเนสโกหยิบยกขึ้นมา

“จนทำให้การยื่นขอให้ป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกยังไม่สำเร็จ”

สำหรับคดีฆ่าบิลลี่ ด้านหนึ่ง นายชัยวัฒน์กับพวกจะมีความผิดจริงหรือไม่ ยังไม่อาจสรุปได้ ต้องผ่านกระบวนการสืบพยานในศาล และรอคำพิพากษาของศาล

อีกด้าน ดีเอสไอได้ดำเนินการด้วยการใช้หลักวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องพิสูจน์คดี และมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย

จึงเป็นคดีที่มีความเปิดเผย โปร่งใส และเป็นวิทยาศาสตร์!