ธงทอง จันทรางศุ | สนทนา “ความหลัง” บ้าน “กาติ๊บ”

ธงทอง จันทรางศุ

ใครก็ไม่รู้เคยบอกผมว่า คนเป็นเด็กชอบพูดถึงเรื่องอนาคต ในขณะที่คนแก่ชอบพูดเรื่องความหลัง

ยิ่งอยู่ในโลกนี้ไปนานวันเข้า ผมก็ยิ่งเห็นว่าคำกล่าวดังว่าเป็นความจริงแท้

ไม่ต้องไปหาพยานหลักฐานอื่นไกลหรอก เอาตัวผมเองกับเพื่อนๆ เป็นสำคัญก็ยืนยันได้แล้วว่า ความหลังเป็นหัวข้อสนทนาที่สนุกสนานจริงๆ สำหรับคนอยู่ในวัยเกษียณอายุแล้วเช่นผม

เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ผมไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพลูกพี่ลูกน้องของผมคนหนึ่งที่วัดมกุฏกษัตริย์

แน่นอนว่าในงานอย่างนี้จะเป็นโอกาสให้ผมได้พบกันกับญาติพี่น้องอีกหลายคน และส่วนมากก็มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน

ด้วยความที่กลัวว่าการจราจรจะติดขัดบ้าง จะไม่มีที่จอดรถบ้าง แถมยังเป็นงานเสด็จพระราชดำเนินด้วย ทุกคนจึงไปก่อนเวลาพระราชทานเพลิงหนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

เจ้าภาพกรุณาจัดที่นั่งให้พวกเรานั่งอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อความสะดวกในการต้อนรับและดูแล

คราวนี้ก็สะดวกสิครับที่เราจะได้คุยกันอย่างอุตลุด

เพราะคนวัยนี้ไม่ได้พบหน้ากันบ่อยนัก ต้องมีงานแต่งงานหรืองานศพอย่างนี้เท่านั้นจึงเป็นโอกาสให้ได้พบกัน

บ่ายวันนั้นวงสนทนาของเรามีสมาชิกห้าคน เป็นผู้ชายสามคน เป็นผู้หญิงอีกสองคน

ฝ่ายชายคือผมกับลูกพี่ลูกน้อง อีกสองคนนั้นเมื่อเป็นเด็กเคยอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่ผืนเดียวกัน

ที่ดินแปลงนี้มีบ้านอยู่ในบริเวณถึงสี่ห้าหลัง บ้านหลังใหญ่สุดเป็นของคุณตาคุณยายของผม ตั้งอยู่ตรงกลางประมาณว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาลแวดล้อมด้วยเรือนของลูกชายลูกสาว คือลุงป้าน้าอาทั้งหลายและแม่ของผม

แต่ละครอบครัวก็มีลูกชาย-หญิงจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง แถมยังมีบริวารแบบโบราณอีกจำนวนหนึ่ง

ผมเคยลองนับนิ้วดูแล้วบ้านหลังที่ว่านี้เห็นจะมีคนอยู่รวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 30 คน

ผมเคยถามแม่ว่า บ้านของเราทำไมมีคนเยอะนัก คำตอบของแม่คือบ้านนี้คนยังไม่มากมายเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับบ้านที่แม่เกิด ซึ่งอยู่ทางฝั่งคลองสาน ธนบุรี

บ้านของคุณปู่แม่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่มีคนอยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 100 คน

ถึงขนาดต้องมีโรงครัวกลางทำกับข้าวส่งบ้านบริวารทั้งหลายในพื้นที่ ข้าวก็ต้องหุงข้าวกระทะกันเลยทีเดียว

ย้อนกลับมาพูดถึงบ้านวัยเด็กของผมที่ว่ามีคนอยู่สามสิบคน ไม่ได้ตั้งอยู่ที่ไหนไกลเลยครับ อยู่ตรงซอยอารี ถนนพหลโยธินนี่เอง ถ้าชี้กันให้กำหนดชัดเจนก็ต้องบอกว่าอยู่ด้านหลังของคอนโดมิเนียมที่ชื่อยศวดี ของท่านผู้หญิงยศวดี อัมพรไพศาล ตรงซอยอารี 2 เดินเพียงไม่กี่ก้าวก็ถึงสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ปากซอยแล้ว

การสนทนาในงานศพวันนั้นจึงเป็นการย้อนยุควัยเด็กของพวกเราในบ้านซอยอารีหรือที่มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าบ้านกาติ๊บเล่าสู่กันฟัง

สาเหตุที่มีบ้านของเราชื่อแปลกอย่างนั้น ผู้ใหญ่แต่ก่อนท่านเล่าให้ฟังว่าเพราะที่ดินทั้งหมดในย่านนั้นแต่เดิมเป็นของแขกที่นามสกุลกาติ๊บ

ต่อมาแม้แขกสกุลกาติ๊บจะไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินแล้วก็ตาม ชื่อกาติ๊บก็ยังติดปากคนอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งคนในบ้านของผมด้วย

ถนนพหลโยธินที่อยู่ห่างจากบ้านเราเพียงไม่กี่ 100 เมตร ยังไม่กว้างขวางและคับคั่งเท่ากับถนนพหลโยธินยุคนี้ ผมยังพอจำเป็นเค้าได้ว่า สองฟากของถนนพหลโยธินเป็นต้นก้ามปูขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านให้ความร่มเย็นแก่ผู้คนที่สัญจรไปมา

พี่คนหนึ่งในวงพูดคุยของเราบอกว่า ตรงบริเวณที่ตั้งของธนาคารกสิกรไทยตรงกันข้ามกับร้านข้าวต้มเหลาเหลาทุกวันนี้ เป็นสวนผักขนาดใหญ่ของคนจีน

ตึกแถวที่เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญในย่านนั้นยังไม่มีเลยหรือมีน้อยมาก

ความเจริญอยู่เพียงแค่ตอนต้นถนนพหลโยธินในบริเวณที่เรียกว่าสนามเป้า ประมาณสถานีโทรทัศน์กองทัพบกและย่านใกล้เคียง

ยิ่งถ้าเลยจากบ้านเราตรงซอยอารีออกไปทางนอกเมืองแล้ว เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ต้องบอกว่า เป็นบ้านนอกสุดฤทธิ์สุดเดช

คิดดูก็แล้วกันครับ ชื่อสะพานควายก็เป็นหลักฐานเห็นอยู่โต้งๆ

ใครอย่าได้มาถามหาถนนวิภาวดีรังสิตนะครับ ตอนผมเป็นเด็กอยู่บ้านกาติ๊บ ชื่อนี้ยังไม่มีใครรู้จัก อีกหลายปีต่อมาเมื่อเริ่มตัดถนนสายที่ว่าแล้ว ชื่อ “วิภาวดีรังสิต” ก็ยังไม่มีใครรู้จักอยู่ดี หากแต่เรียกกันด้วยความคล่องปากว่าถนนซูเปอร์ไฮเวย์มาอีกนานหลายปี

ต่อมาจึงได้รับพระราชทานชื่อวิภาวดีรังสิตในภายหลัง

เนื่องจากในบ้านของเรามีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก ต่างวัย ต่างอายุ และไม่ห่างไกลกันนัก ตรงซอยอารี 4 ที่ซอยนั้นก็ยังมีบ้านของญาติเราอีกจำนวนหนึ่งอยู่รวมกลุ่มกัน สมาชิกในวงสนทนาของเราเมื่อสองวันก่อนที่เป็นสุภาพสตรีก็มาจากบ้านกลุ่มนั้นแหละ บ้านนั้นมีผู้เป็นประธานที่ผมเรียกว่าคุณยายเหมือนกัน บ้านทั้งสองหลังมีการไป-มาหาสู่กันอยู่เสมอ

เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบ้านทั้งสอง และบางทีก็มีบ้านอื่นมาช่วยกระชับด้วย กิจกรรมยามบ่ายที่ผมได้เห็นคุณยายคุณป้าคุณน้าทั้งหลายรวมทั้งแม่ของตัวเองทำร่วมกันบ่อยครั้ง ตามธรรมเนียมนิยมในครั้งนั้น คือการตั้งวงไพ่ตอง

เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักไพ่ตองแล้วนะครับ ไพ่ตองเป็นไพ่ไทย ไพ่แต่ละใบมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความกว้างนิดเดียว ขณะที่มีด้านยาวยาวมากกว่า เวลาถือไพ่หลายใบอยู่ในมือแล้วคลี่ออกเพื่อให้สามารถอ่านรายละเอียดของไพ่แต่ละใบได้ครบถ้วน ลักษณะคล้ายการรำพัดอยู่เหมือนกัน

วงไพ่ตองหรือบางทีก็เรียกให้งดงามว่า วงญาติมิตร นี้ เล่นพนันเอาสตางค์กันก็จริงอยู่ แต่ไม่ถึงล้มถึงตายครับ ได้เสียกันก็อยู่ในวงเงินสิบยี่สิบบาท ความมุ่งหมายหลักดูเหมือนจะอยู่ที่การเล่นเพื่อฆ่าเวลาและคุยกันไประหว่างเล่นไพ่มากกว่า

เมื่อผมโตแล้ว แม่เล่าว่า บางวันผมนอนเล่นอยู่ข้างวงไพ่ตองใกล้ตัวแม่ ผมสังเกตเห็นว่าเงินหน้าตักของแม่ลดน้อยถอยลง ผมคงจะใจคอไม่ค่อยดีเลยลุกขึ้นนั่งและยกมือขึ้นพนมอธิษฐานเสียงดังว่า “ขอให้ได้กลับคืนมา”

ทำให้ได้หัวเราะฮากันไปทั้งวง

เรื่องที่คุยกันในงานศพเมื่อสองสามวันก่อนมีแต่เรื่องทำนองนี้ทั้งเพ ถ้าเด็กเล็กผ่านมาได้ยิน เขาคงนึกว่าลุงป้าพวกนี้พูดอะไรกันก็ไม่รู้ ล้วนแต่เรื่องดึกดำบรรพ์ทั้งสิ้น ฟังไม่เห็นเข้าใจเลย

อย่าทำเป็นเล่นไปนะหนู

ลุงป้าผมหงอกสี่ห้าคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ อายุอานามใกล้เคียงกับสมาชิกวุฒิสภาทั้งนั้น ประสบการณ์ก็ใกล้เคียงกัน ความคิดความอ่านก็ไม่น่าจะห่างกันเท่าไหร่นัก ก็คนแก่วัยนี้จะมากะเกณฑ์ให้ลุงป้าคิดอะไรเล่า ทุกอย่างที่เราเคยเห็นเมื่อตอนเป็นเด็กมันดีที่สุดอยู่แล้ว พวกหนูเกิดมาทีหลัง ยังไม่ทันได้ผ่านโลกมาอย่างลุงป้า แล้วจะมาเสนอแนะอะไร ให้เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่

ลุงป้าไม่ยอมง่ายๆ หรอกนะหนู