คุยกับทูต ‘ฮูดะ อาลี ชารีฟ’ มัลดีฟส์ สวรรค์กลางมหาสมุทร ของคนรักทะเล (1)

“ดิฉันมาจากประเทศกลุ่มหมู่เกาะในเอเชียใต้ที่เรียกว่ามัลดีฟส์ (Republic of Maldives) ซึ่งประกอบด้วยเกาะเล็กๆ กระจัดกระจายเกือบ 1,200 เกาะ แต่มีคนอยู่อาศัยทั้งหมด 250 เกาะ โดยหมู่เกาะเล็กๆ เหล่านั้นจับกลุ่มกันอยู่เป็นรูปวงแหวนที่เรียกว่าอะทอลล์ (Atoll) ซึ่งมัลดีฟส์มีทั้งหมด 26 กลุ่ม (Atoll)”

อัครราชทูตสาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย นางฮูดะ อาลี ชารีฟ (Huda Ali Shareef) เล่าข้อมูลน่ารู้ของมัลดีฟส์ที่หลายคนอยากไปเยือน

“พื้นที่หมู่เกาะราบเรียบมาก ไม่มีภูเขาหรือเนินเขา ความสูงเฉลี่ยของเกาะอยู่ที่ประมาณ 4 ฟุตหรือ 1.2 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จุดที่สูงที่สุดของประเทศสูงเพียง 2.4 เมตรจากน้ำทะเล เมืองหลวงของมัลดีฟส์คือเมืองมาเล (Male) ประชากรมัลดีฟส์ทั้งหมดเกือบ 400,000 คน และประมาณ 1 ใน 3 อาศัยอยู่ในมาเล เมืองหลวง”

มัลดีฟส์เป็นประเทศที่นับได้ว่ามีขนาดเล็กที่สุดในทวีปเอเชีย ทั้งในแง่ของจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่ (300 ตารางกิโลเมตร) และยังถือเป็นประเทศที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่เตี้ยที่สุดในโลกอีกด้วย

แต่ประเทศนี้มีความสวยงามของชายหาด ปะการัง และสัตว์ทะเล เหมาะแก่การพักผ่อน ดำน้ำ และโต้คลื่น

วันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1966 เป็นวันที่มัลดีฟส์พ้นจากการเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ

ดังนั้น ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาสากลที่ใช้

และประชากรกว่า 97% นับถือศาสนาอิสลาม

“การท่องเที่ยวและการประมงเป็นอุตสาหกรรมหลักของมัลดีฟส์ ส่วนใหญ่นำเข้าผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้ในประเทศ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกสินค้าจำนวนมากไปยังประเทศของเขา”

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างมัลดีฟส์และราชอาณาจักรไทย

“ความสัมพันธ์ทางการทูตเริ่มเมื่อปี ค.ศ.1979 และครบรอบ 40 ปีในปีนี้คือ ค.ศ.2019 ในบางศาสนาและวัฒนธรรม มักมีสัญลักษณ์ที่เกี่ยวพันกับหมายเลข 40 สำหรับชาวมัลดีฟส์ 40 ปีเป็นสัญลักษณ์ของความเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับที่เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับมัลดีฟส์ดำเนินรุดหน้าไปอย่างมากขึ้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา”

ไทยกับมัลดีฟส์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1979 รวมระยะเวลา 40 ปี นับถึงปัจจุบัน และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาโดยตลอดทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน ส่วนเอกอัครราชทูตไทยประจำ ณ กรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา

ไทยดำเนินความสัมพันธ์กับมัลดีฟส์ตามนโยบาย Look West โดยเน้นบทบาทผู้ให้ความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนา

แต่ความร่วมมือระหว่างกันมีพลวัตน้อย เนื่องจากมัลดีฟส์เป็นประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กและมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันมาก ทำให้ขาดผลประโยชน์ที่สอดคล้องกันทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่ชัดเจน

“สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตมัลดีฟส์ประจำประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างรอการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายอักษรสาส์นตราตั้ง”

อัครราชทูตฮูดะชี้แจง

การจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตมัลดีฟส์ในกรุงเทพฯ

“ดิฉันมารับหน้าที่ในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วคือ ค.ศ.2018 มีผู้ร่วมงานเพียงคนเดียวในการดำเนินงานจัดตั้งสถานทูต หลายเดือนผ่านไป เราสามารถเปิดสถานเอกอัครราชทูตอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้คือวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.2019 โดย มร.อับดุลลาห์ ชาฮิด (H.E. Mr Abdullah Shahid) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมัลดีฟส์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย สำหรับพิธีเปิดสถานเอกอัครราชทูตมัลดีฟส์ที่กรุงเทพฯ เราได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญฝ่ายไทยหลายคน รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยด้วย”

“เริ่มแรกสถานทูตมัลดีฟส์มีเพียงดิฉันและเจ้าหน้าที่อีกหนึ่งคน จนถึงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรารับเจ้าหน้าที่ทางการทูตเพิ่มอีก 5 คน และเจ้าหน้าที่ไทยอีก 2 คน”

“เรามีสถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย ซึ่งมีนายสนั่น อังอุบลกุล ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์สาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทยมาโดยตลอด 17 ปีและยังคงทำเช่นนั้นต่อไป”

“ประชาชนและรัฐบาลมัลดีฟส์รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณนายสนั่น อังอุบลกุล ในด้านความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์แก่เราอย่างยิ่ง โดยส่วนตัว ดิฉันเห็นว่าท่านเป็นที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำอันมีคุณค่าแก่ดิฉันอย่างที่สุด” อัครราชทูตฮูดะกล่าว

แรงจูงใจให้มาร่วมงานกับกระทรวงต่างประเทศ

“คงไม่เกินความจริงที่จะบอกว่า เป็นโชคชะตาที่ทำให้ดิฉันได้เข้ามาร่วมงานด้านต่างประเทศ เมื่อเรียนจบมัธยมปลาย ดิฉันได้งานที่ธนาคารแห่งมัลดีฟส์ ในขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ เมื่อเรียนจบปริญญาแรกดิฉันได้งานที่กรมทรัพยากรภายนอก (แผนกจัดการกับความช่วยเหลือจากต่างประเทศในมัลดีฟส์)”

“หลังจากนั้นสองปี ดิฉันจึงไปศึกษาต่อต่างประเทศ เมื่อกลับมาบ้าน มีโอกาสได้ทำงานในแผนกที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือจากต่างประเทศของกระทรวงการวางแผน แม้ว่ากระทรวงการวางแผนจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงต่างประเทศ แต่ทำหน้าที่บริการต่างประเทศ ที่สำคัญคือการประสานงานช่วยเหลือต่างประเทศ ดิฉันเชื่อว่าการมีส่วนร่วมในงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการต่างประเทศนั้น ตรงกับความต้องการของดิฉันที่สุด”

“ในอีกด้านหนึ่ง สามีของดิฉันนั้นเป็นนักการทูตที่ถูกบังคับให้ลาออกจากงานในปี ค.ศ.2007 เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง ดังนั้น ดิฉันจึงตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลาออกจากการทำงานกับรัฐบาล เราจึงย้ายครอบครัวไปอยู่ต่างประเทศ ในช่วงเวลาที่อยู่ต่างประเทศ ดิฉันก็ยุ่งอยู่กับการดูแลลูกๆ การทำงานอาสาสมัครและการศึกษา”

“เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในมัลดีฟส์ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2018 เปิดโอกาสให้ดิฉันได้กลับมามีส่วนร่วมกับรัฐบาลใหม่อีกครั้ง”

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดิฉันเลือกสำหรับการมาดำรงตำแหน่งครั้งนี้ เพราะมีความคุ้นเคยกับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งได้รับโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งสถานทูตใหม่ที่เริ่มต้นจากศูนย์ที่กรุงเทพฯ”

“เป้าหมายหลักในภารกิจของเราคือการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีและให้บริการด้านกงสุลแก่ชาวมัลดีฟส์ที่อาศัยหรือมาเยือนประเทศไทย ความสัมพันธ์ของเราขึ้นอยู่กับหลักการของการเคารพซึ่งกันและกัน และการไม่แทรกแซงในกิจการภายใน”

“มัลดีฟส์และไทยมุ่งเน้นในการเสริมสร้างและขยายความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนค่อนข้างสูง ส่วนในเวทีพหุภาคีเราทำงานร่วมกับประเทศไทยในประเด็นที่มีความห่วงใยอย่างจริงจังต่อประเทศของเราทั้งสอง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการก่อการร้าย”

“นับว่าดิฉันโชคดีมากที่ได้มีโอกาสมาทำงานในประเทศไทย เพราะในปีนี้ ดิฉันได้มีโอกาสชื่นชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ การเป็นประธานอาเซียนของไทย และการเปิดสถานเอกอัครราชทูตของเราในกรุงเทพฯ”