คำ ผกา | ชังชาติทำไม

คำ ผกา

มีข่าวที่น่าขบขันในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นั่นคือ หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เกิดจะยูเรก้ามีไอเดียเรื่องประเทศไทยน่าจะมีกฎหมายต่อต้านลัทธิชังชาติ

ซึ่งหมอวรงค์ได้ให้ภาษาอังกฤษมาด้วยคือ Anti Patriot Act อันทำให้ข่าวนี้กลายเป็นข่าวชวนหัวไปในทันใด

เพราะคำว่า Anti Patriot Act แปลว่า พระราชบัญญัติต่อต้านความรักชาติ – หูยยยยย ถ้าอ่านแต่ภาษาอังกฤษ ฉันนึกว่าหมอวรงค์กลายเป็นคนหัวก้าวหน้าแบบ radical ไปแล้วนะเนี่ย

เพราะคำว่า Anti Patriot มันแปลได้ในความหมายว่า “เป็นไทยให้น้อยลง เป็นคนให้มากขึ้น” อะไรอย่างนั้นเลย

ไหนๆ คำว่า Patriot Act ก็โผล่มาแล้ว เรามาทำความรู้จักกฎหมายตัวนี้แบบเด็ก ป.6 กันบ้างดีกว่า

Patriot Act แปลเป็นไทยตามวิกิพีเดียได้ว่า “รัฐบัญญัติความรักปิติภูมิ” รัฐบัญญัติฉบับนี้ออกมาในปี 2001 สมัยประธานาธิบดีจอร์จ บุช และได้รับการต่ออายุในสมัยประธานาธิบดีโอบามาอีกในปี 2011

หลักใหญ่ใจความของกฎหมายฉบับนี้ก็คือการให้อำนาจรัฐโดยเฉพาะหน่วยข่าวกรองต่างประเทศของอเมริกาในการสืบหาความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายผ่านการสอดแนมการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของคนอเมริกัน

การผ่านรัฐบัญญัติ Patriot Act นี้เป็นประเด็นถกเถียงกันหนักมาก เพราะอย่างที่รู้กันว่า Bill of Rights คือรัฐธรรมนูญ 10 บทแรกของอเมริกานั้นเป็นเรื่องของสิทธิ เสรีภาพของพลเมืองอเมริกัน

แต่การมีรัฐบัญญัติให้รัฐสอดแนมล้วงดูข้อมูลประชาชนได้นั้นมันย่อมขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ในบริบทของสถานการณ์ของอเมริกาที่เพิ่งผ่าน 9/11 มาก็รู้สึกว่า ระหว่างความมั่นคงกับเสรีภาพ ฉันเลือก “ความมั่นคง”

ภาวะหวาดกลัวผู้ก่อการร้าย การเกิดขึ้นของ ISIS ก็ทำให้คนอเมริกันส่วนใหญ่ยอมให้มีกฎหมายที่ไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของพลเมือง

พูดอย่างหยาบคือ ความกลัวทำให้พลเมืองยอมมีเสรีภาพน้อยลงอย่างไม่น่าเชื่อ และยินยอมให้รัฐเข้ามาสอดแนม ดักฟัง หรือเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้ในทางใดทางหนึ่ง

ผลของ Patriot Act คืออะไร?

มันมีผลในการป้องกันการก่อร้ายจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่ที่ทุกคนรู้และเกิดขึ้นไปแล้วคือ มันทำให้เกิดภาวะ “รัฐนิยม” อันหมายถึง รัฐมีอำนาจเหนือพลเมือง แทนที่จะเป็น “พลเมืองนิยม” อันหมายถึง พลเมืองหรือประชาชน (ปัจเจกบุคคล) มีอำนาจเหนือรัฐ

แทนที่พลเมืองจะตรวจสอบรัฐ กลายเป็นว่า รัฐมีอำนาจ (พิเศษ) ในการตรวจสอบ ควบคุมประชาชน มองในแง่นี้ มันจึงเป็นสัญญาณของความถดถอยของประชาธิปไตย

พูดโดยสั้น รัฐบัญญัติความรักในปิติภูมิ หรือ Patriot Act ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ทำให้ประชาธิปไตยถดถอย และเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐโดยใช้ “ความกลัว” โน้มน้าวให้ประชาชนยินยอมที่จะมีอำนาจน้อยลง

อุบายใช้ความกลัวหลอกประชาชนให้ศิโรราบต่อรัฐนั้นเป็นอุบายตื้นๆ แต่ได้ผลเสมอมา

ผู้มีอำนาจรัฐที่ต้องการฮุบอำนาจของประชาชนมาไว้ในมือของตนโดยมากก็ใช้การอุปโลกน์ผี อุปโลกน์ปีศาจแห่งความเป็นอื่น โดยสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาอย่างแยบยลว่า ผีหรือปีศาจนั้นๆ ต้องการบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง มีแผนทำให้คนในชาติแตกความสามัคคี และต้องการทำลายบ้านเมืองของเราให้แตกเป็นเสี่ยงๆ

ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องมีกฎหมายที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่ผู้ปกครองเพื่อจัดการกับศัตรูของชาติได้อย่างทันท่วงที ถ้าประชาชนมัวแต่งอแงหวงสิทธิของตนเอง ก็อาจจะต้องสิ้นชาติไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวก็เป็นได้

อ้างมาแบบนี้ทีไร ส่วนใหญ่ก็ได้ผลทุกที ส่วนประชาชนนั้นกว่าจะรู้ตัว อำนาจก็ไปเป็นของ “ผู้นำ” เสียหมดแล้ว รู้ตัวอีกที ก็ตื่นมาแล้วพบว่าตนเองมีชีวิตอยู่ภายใต้รัฐและผู้นำที่เป็นเผด็จการ

นี่คือเรื่องราวของ Patriot Act ที่คนไทยจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าอยากให้มีจัง “กฎหมายรักชาติ”

ทีนี้คำว่า Patriot ก็เป็นคำที่ค่อนข้างมีปัญหา หลายๆ ครั้ง เราไม่รู้ว่ามันมีความหมายในทางลบหรือในทางบวกกันแน่

และมักสับสนกับคำว่า Nationalism หรือ “ชาตินิยม” ที่เราก็ไม่ค่อยแน่ใจว่า “ชาตินิยม” นี้มีความเป็นบวกหรือเป็นลบ

Patriot มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า patriote ที่เอามาจากคำว่า Patrios ในภาษาละตินอีกที และความหมายตามตัวอักษรของมันคือ “พ่อของ…” (one”s father) เหตุนี้ในภาษาไทยจึงแปลคำว่า Patriotic ว่า ปิตุภูมิ และจากคำว่าปิตุภูมินี้ก็มีคำขยายของมันไปอีก เช่น บ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งในภาษาอังกฤษก็ใช้ทั้ง Homeland และ Father Land

คำว่า Patriotic จึงหมายถึงความรักใน “แผ่นดินเกิด” และความรักนี้ย่อมหมายถึง ความอุทิศตัว ความเสียสละ ความภักดีต่อบ้านเกิดเมืองนอน

อ้าว – แล้วมันต่างจากความรักชาติ, ชาตินิยม หรือ Nationalism อย่างไร

Patriotic เป็นคำที่ถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 ส่วน Nationalism ถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 19

เพราะฉะนั้น ความแตกต่างที่สำคัญคือ ความรักในบ้านเกิดเมืองนอนนั้น หมายความว่า บ้านเกิดเมืองนอน, ปิตุภูมิ หรือแผ่นดินเกิดของเราอาจจะไม่ใช่หน่วยการเมืองที่เรียกว่า “ชาติ” มันอาจเป็นได้ทั้งหมู่บ้าน, แว่นแคว้น, อาณาจักร, มณฑล ฯลฯ

พูดง่ายๆ ว่า มันอาจเป็นบ้านเมืองในยุคก่อนที่จะมี “ชาติ” หรือ “รัฐชาติ”

การเกิดขึ้นของรัฐชาติในศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องมาถึงศตวรรษที่ 20 เกิดขึ้นด้วย 2 สถานการณ์ทางการเมืองคือ

หนึ่ง สถานการณ์ที่สามัญชนสถาปนาอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองเป็นการสิ้นสุดระบอบฟิวดัลและอำนาจของศาสนจักร

สอง สถานการณ์ที่เมืองอาณานิคมปลดแอก ขับไล่อำนาจเจ้าอาณานิคมออกไป สถาปนาอำนาจอธิปไตย เอกราชของ “คนพื้นเมือง” ถือเป็นการนับย่างก้าวที่หนึ่งแห่งการเป็นชาติประเทศ

เมื่อก่อตั้งชาติประเทศขึ้นมาแล้ว (ลองนึกถึงประเทศใหม่อย่างสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฯลฯ) ก็ต้องสถาปนาธงชาติ สถาปนาภาษาราชการหรือภาษาประจำชาติ แต่งเพลงชาติ ออกแบบชุดประจำชาติ เพราะมันเป็นชาติประเทศที่สถาปนามาบนความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษา

สิ่งเดียวที่ยึดโยงกันเอาไว้คือ “เอกราช” และ อำนาจอธิปไตยที่เราได้มาจากการขับไล่อำนาจเจ้าอาณานิคมที่ไม่เคยเห็นคนพื้นเมืองเป็น “คน” เท่ากันกับพวกเขาออกไป ต่อไปนี้ เราเป็นคนเต็มคน เราปกครองตนเอง (ส่วนจะปกครองระบอบอะไรก็เป็นอีกเรื่อง) เรามีสิทธิเหนือดินแดน และทรัพยากรทั้งสิ้นทั้งปวงของเรา

กระบวนการสร้างความเป็น “เรา” นี้เอง ที่เรียกว่า “ชาตินิยม”

พูดอย่างง่ายก็คือ ชาตินิยม มีนัยของการ “ปลดแอก” และสถาปนาหน่วยทางการเมืองขึ้นมาใหม่หัวใจคือ “เอกราช” และ “อธิปไตย” ที่เป็นของประชาชน แต่ patriotic คือความรักบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งบ้านเกิดเมืองนอนนั้นอาจเป็นบ้านเกิดเมืองนอนที่เราอาจจะไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจทางการเมือง แม้กระนั้นเราก็จะรัก เพราะเหตุผลที่เรารักมีเหตุผลเดียวคือเพราะมันเป็น “บ้านเกิด” หรือ Homeland เพราะมันเป็นปิตุภูมิ

อย่างไรก็ตาม คำว่า “ชาตินิยม” ถูกทำให้กลายเป็นคำไม่ดี มีความหมายเป็นลบ เพราะถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ เช่นบอกว่า ฮิตเลอร์ใช้เรื่องชาตินิยมปลุกคนเยอรมันให้เกลียดยิวจนเกิดลัทธินาซี (ซึ่งพฤติกรรมฮิตเลอร์ไม่ใช่ชาตินิยม แต่เป็นฟาสซิสต์)

หรืออธิบายนโยบายสร้างชาติ หรือชาตินิยมของรัฐบาลคณะราษฎร โดยเฉพาะของจอมพล ป. ว่าเป็นชาตินิยมฟาสซิสต์ไปอย่างมั่วซั่ว โดยไม่แยกแยะว่าอะไรคือการสร้างชาติ อะไรคือชาตินิยม และช่วงตอนไหนที่เป็นเผด็จการ

หรือในหลายๆ สังคมที่เผด็จการฉวยใช้การโฆษณาชวนเชื่อให้ “คลั่งชาติ” โดยอุปโลกน์ศัตรูของชาติขึ้นมา แล้วสร้างความเกลียดชังรวมหมู่จนกลายเป็นสงคราม เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ต่างๆ เหล่านี้ก็ล้วนทำให้คำว่า “ชาตินิยม” ด่างพร้อย มีนัยของอำนาจนิยม การล้างสมอง และเป็นเผด็จการ

หมอวรงค์อาจจะพูดอะไรผิดหลายอย่าง แต่มีอยู่หนึ่งอย่างที่หมอวรงค์พูดไม่ผิด นั่นคือ หมอวรงค์ให้น้ำหนักกับคำว่า Patriotic มากกว่าคำว่า Nationalism

ซึ่งฉันเห็นว่าถูกต้องในสถานการณ์ของประเทศไทย เพราะเวลาที่คนไทยพูดว่า “รักชาติ” คนไทยหมายถึง “บ้านเกิดเมืองนอน” และวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ที่รักษา “แผ่นดิน” นี้มาไว้ให้พวกเราในปัจจุบัน

ดังนั้น คำว่า “รักชาติ” ของสังคมไทยจึงเป็นความรักในปิตุภูมิ มากกว่าจะเป็นความรักชาติ ที่หมายถึง Thailand as a Nation นั่นคือ เวลาเราพูดว่ารักชาติ เราหมายถึง “แผ่นดิน” มากกว่า “คน”

เมื่อเราเน้น “แผ่นดิน” มากกว่าเน้น “คน” เพลง “หนักแผ่นดิน” จึงเป็นเพลงที่ทรงพลังที่สุดอย่างหาเพลงปลุกใจอื่นๆ มาเทียบไม่ได้เลย

ความรักชาติในบริบทของไทยคือการรักเพื่อปกปักรักษา “แผ่นดิน”

ทีนี้ถ้าหากมี “คน” ที่เป็นภัยต่อแผ่นดินที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน คนเหล่านั้นสมควรถูกกำจัดออกไป ถือว่าเป็นศัตรูของชาติ และถือว่า “ไม่ใช่คนไทย”

ตรงกันข้ามกับ “ชาติ” ที่หมายถึง “คนในชาติ” สิ่งที่เป็นศัตรูของชาติคือสิ่งที่คุกคาม “คน” เช่น แนวคิดเผด็จการ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ปล่อยให่เกิดรัฐบาลเผด็จการ มันหมายถึงคนในชาติไม่มีโอกาสปกป้องสิทธิ เสรีภาพ อำนาจในการบริหารประเทศ

อำนาจในการตรวจสอบรัฐบาลไม่มี อำนาจในการปกป้องทรัพยากรของตนเองหมดไป และทั้งหมดนี้คือคนในชาติกำลังถูกคุกคาม ชีวิตคนตกอยู่ในอันตรายและความหวาดกลัว ไม่มีอะไรมารับประกันว่าคนในชาติจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจมากในคำว่า “คนชังชาติ” ก็คือ สำหรับสังคมไทย ใครก็ตามออกมาพูดเรื่องสิทธิพลเมือง อำนาจอธิปไตยของประชาชน การเลือกตั้ง ระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไรบ้าง มีจุดอ่อนอะไร มีความสงสัยว่า ทำไมประเทศไทยเหมือนหยุดพัฒนา ทำไมก้าวไม่ทันโลก ทำไมโลกเปลี่ยนไปแต่ไทยไม่เปลี่ยนแปลง ทำไมมีความเหลื่อมล้ำสูง ทำไมจึงรู้สึกด้อยค่า ถูกเลือกที่รักมักที่ชัง ทั้งๆ ที่ก็เป็นคนไทยเสียภาษีเหมือนกันแต่ทำไมสิทธิของเราไม่เท่ากัน ฯลฯ ใครก็ตามที่ออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ถูกเรียกว่าเป็นคน “ชังชาติ”

มาพร้อมกับการขับไล่ไสส่งว่า “ถ้าที่นี่มันไม่มีอะไรดีเลยก็ไปอยู่ที่อื่นสิ เชิญ มีคนเขารักที่นี่ เขาอยากอยู่ที่นี่เยอะแยะไป”

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงชัดเจนว่า “ชาติ” ในบริบทของคนที่ด่าคนอื่นว่า “ชังชาติ” ไม่ได้หมายถึงหน่วยการเมืองที่หัวใจของมันคือคนในชาติโดยไม่มีการแบ่งแยกกีดกัน

“ชาติ” ที่หมายถึง Nation นั้น ความรุ่งเรืองสถาพรของชาติ ขึ้นอยู่กับความอยู่ดีกินดีของคนในชาติ อีกทั้งพลเมืองของชาติต้องมี sense of belonging คือความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของชาติ “ชาติ” แบบนี้ คนจะต้องขี้บ่น พูดมาก ช่างตำหนิ ล้อเลียนเสียดสีชาติตัวเอง

ทั้งหมดก็เพราะอยากเห็นชาติที่เราเห็นเจ้าของมันดีขึ้น มันโอบอุ้มคนได้กว้างขวางหลากหลายขึ้น

และตระหนักว่าทุกๆ คนในชาติมีความเข้าของชาติเท่าๆ กัน ทรัพยากรมีก็ต้องแบ่งต้องแชร์ ต้องกระจายไปให้ทั่วถึงกัน

แต่ “ชาติ” ในบริบทของคนอย่างที่ออกมาโจมตีคนชังชาติ หมายถึง “สถานที่” แห่งหนึ่งที่ศักดิ์และสิทธิ์ในตัวเอง ดังเช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยกล่าวว่า “ประเทศไทยศักดิ์สิทธิ์ คนคิดไม่ดีอยู่ไม่ได้” ดังนั้น ประเทศไทยนี้จึงไม่ต้องการการแก้ไขปรับปรุงอะไรเลย เพราะเป็นสิ่งที่ดีและไร้ที่ติในตัวเอง ใครที่อยู่แล้วมีปัญหา จึงเป็นปัญหาของคนนั้น ไม่ใช่ปัญหาของ “ประเทศ”

เพราะฉะนั้น ใครที่บ่นมากก็แปลว่าเป็นพวกชังชาติ ชังประเทศ การรักชาติที่ถูกต้องคือ -กลับไปแก้ที่ตัวเอง! – ถ้ายังไม่พอใจอีกก็ควรย้ายประเทศจ้าาา

ดังนั้น ถ้าไม่อยากเป็นพวกชังชาติจงเลิกบ่นเพราะเราได้อาศัยแผ่นดินนี้เกิด แล้วหน้าที่เรามีอย่างเดียวคือรัก “แผ่นดินเกิด” เขาก็อยู่ของเขาตรงนั้น เรามันผิดเองที่เกิดที่นี่แล้วดันจะมา “ไม่ชอบ” ที่ที่ตัวเองเกิด

สิ่งที่ปะทะกันในสังคมไทยตอนนี้คือ คนกลุ่มหนึ่ง นิยามคำว่า “รักชาติ” โดยเห็นว่า ชาติคือ nation คือคนในชาติ แต่คนอีกกลุ่มหนึ่ง นิยามคำว่า “รักชาติ” โดยเห็นว่าชาติคือ country หรือประเทศ

คนกลุ่มแรกอยากพาประเทศไทยไปสู่อนาคต

คนกลุ่มหลังอยากดึงประเทศไทยกลับไปที่ศตวรรษที่ 17

สาธุให้คนกลุ่มหลังรัวๆ