ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ความรู้, อาณานิคม และหลังอาณานิคม ในป่าอสรพิษ (2)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในภาพยนตร์เรื่อง Embrace of the Serpent ยิ่งตัวละครเดินเข้าป่าลึก ความรู้ที่ต่างกันก็ยิ่งเสียดสีและปะทะกันจนเกิดความขัดแย้งระหว่างตัวละครขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อคาราคามาเต้ผู้วิเศษสถาปนากฎที่ฝรั่งต้องทำตลอดการเดินทางโดยอ้างแต่ความสามารถเข้าถึงวิญญาณลี้ลับของตัวเขาเอง

ขณะที่ฝรั่งเป็นนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยอรมันที่กำลังสร้างองค์ความรู้บนความเป็น “ศาสตร์” ที่พิสูจน์ได้ ซึ่งแตกต่างจากความรู้แบบป่าของคาราคามาเต้โดยสิ้นเชิง

ยิ่งฝรั่งนักสำรวจกับผู้วิเศษพื้นเมืองเดินทางสู่ป่าลึกระดับหนีกันไปไหนไม่ได้ ความรู้ที่ต่างกันก็ยิ่งเสียดสีกันจนถึงจุดที่ทุกฝ่ายระเบิดจิตสำนึกของตัวเองใส่อีกฝ่ายอย่างไม่มียั้ง

ฝรั่งนักสำรวจสติแตก ตะโกนด่าผู้วิเศษผู้หยั่งรู้ดินฟ้า ทำทุกอย่างที่ถูกห้ามถึงขั้นลงน้ำไปจับปลามากินดิบๆ ต่อหน้าคาราคามาเต้

ส่วนคาราคามาเต้ก็ทำให้ฝรั่งนักพฤกษศาสตร์และฝรั่งนักธรรมชาติวิทยาจบการเดินทางแบบฝันร้าย นั่นก็คือเผาต้นไม้ที่พวกนี้อยากได้ทิ้งไปเลย

คำถามคือทำไมตัวละครที่เห็นต่างและไม่ลงรอยกันขนาดนี้ต้องเดินทางร่วมกัน?

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือตัวละครที่ไม่ลงรอยกันล้วนมีแรงขับจากความต้องการครอบครองความรู้ของอีกฝ่าย

ฝรั่งนักสำรวจอยากได้การนำทางอันเป็นส่วนหนึ่งของความรู้เรื่องป่าของคาราคามาเต้

ส่วนฝ่าย “พื้นเมือง” ก็อยากได้ความรู้ฝรั่งเรื่องการตั้งถิ่นฐานชนเผ่า

ฝรั่งต้องการความรู้เรื่องป่าเพื่อเข้าไปเอาพันธุ์ไม้สูงค่าที่ไม่มีฝรั่งรู้จัก

ขณะที่ผู้วิเศษพื้นเมืองก็ต้องการความรู้เรื่องถิ่นฐานของฝรั่งเพื่อไปหาคนร่วมเผ่าที่ตัวเองเข้าใจว่าถูกฆ่าระดับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

สำหรับหนังเรื่องนี้ ความรู้คือทรัพยากรที่ทุกฝ่ายต้องการครอบครองและใช้เพื่อสถาปนาอำนาจตัวเองไม่รู้จบ ความรู้ด้านชาติพันธุ์เป็นทรัพยากรของฝรั่งที่ทำให้คนพื้นเมืองยอมนำทางเข้าป่า

ส่วนฝั่งพื้นเมืองก็มีความรู้เรื่องป่าเป็นทรัพย์ที่ทำให้ฝรั่งทำทุกอย่างที่คนพื้นเมืองบังคับ แม้จะไม่เห็นด้วยกับข้อห้ามประเภทห้ามกินปลาและห้ามเซ็กซ์เลยก็ตาม

นอกจากความรู้จะเป็นทรัพยากร ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครก็ยังเป็นแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์และต่อรองซึ่งกันและกันด้วย คนพื้นเมืองกับฝรั่งนักชาติพันธุวิทยาและฝรั่งนักพฤกษศาสตร์ไม่ได้ดีลกันแบบที่ฝ่ายหลังเอาเปรียบหรือ “กดขี่ขูดรีด” ฝ่ายแรกไปหมด

ฝรั่งทำตามคนพื้นเมืองเพราะอยากได้คนพาไปเอาพันธุ์ไม้ในป่า ส่วนคนพื้นเมืองก็นำทางให้ฝรั่งเพราะอยากให้ฝรั่งพาไปหาคนร่วมเผ่าและรื้อฟื้นตัวตนของตัวเองขึ้นมา

หนึ่งในฉากยอดเยี่ยมที่สุดของ Embrace of the Serpent เกิดขึ้นเมื่อฝรั่งเยอรมันพาคาราคามาเต้ผู้วิเศษไปพบคนร่วมเผ่าตามที่ตกลงไว้ เราจะเห็นนักชาติพันธุวิทยาคุ้นเคยกับชนเผ่าจนแทบล้วงหญิงพื้นเมืองต่อหน้าคาราคามาเต้ผู้นั่งโดดเดี่ยวท่ามกลางคนเผ่าเดียวกันได้

แต่เมื่อราตรีแห่งความสุขผ่านไป ฝรั่งก็ตาสว่างพร้อมกับพบว่าเข็มทิศหายไป ซ้ำหัวขโมยยังเป็นหัวหน้าเผ่าซึ่งดูน่าเลื่อมใสที่สุดในหมู่บ้านเอง

ถึงตอนนี้ ฟูลมูนปาร์ตี้ฉบับชนเผ่าก็กลายเป็นค่ายนรกเดียนเบียนฟูที่นักสำรวจกับหัวหน้าเผ่าที่เหมือนเป็นมิตรกันกลับอยู่ในสภาพพร้อมฆ่ากันได้

จากนั้น “ผู้วิเศษ” จะประณามฝรั่งนักชาติพันธุ์ว่าช่างเหมือนนักล่าอาณานิคมแท้ๆ เพราะถ้าลงฝรั่งมีเรื่องกับชนเผ่าเพื่อแย่งเข็มทิศได้ การฆ่าคนพื้นเมืองเพื่อที่ดินและทรัพยากรจากป่าก็คงไม่ยากเกินไป

อย่างไรก็ดี คำตอบของนักสำรวจในฉากนี้แสดงความซับซ้อนของหนังออกมาอย่างถึงที่สุด นั่นก็คือฝรั่งบอกว่าไม่ได้มีเรื่องกับคนพื้นเมืองเพราะหวงของ ไม่ใช่เพราะกลัวเดินทางไม่ได้เมื่อไม่มีเข็มทิศ แต่เพราะประเมินว่าเข็มทิศจะทำให้คนพื้นเมืองหยุดเดินป่าด้วยวิถีธรรมชาติ หันไปพึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งบรรจุอยู่ในเข็มทิศ จากนั้นความรู้เรื่องการอ่านกระแสลมและดวงดาวแบบพื้นเมืองจะสูญสิ้นเพราะไม่มีใครเห็นประโยชน์ต่อไป

ในฉากนี้ “ผู้วิเศษ” จะตอบกลับไปว่าเข็มทิศคือความรู้ที่ใครก็ควรครอบครองได้ และในที่สุดการทะเลาะเบาะแว้งเรื่องเข็มทิศก็กลายเป็นคำอภิปรายเรื่องความรู้และความเป็นเจ้าของความรู้ไปโดยสมบูรณ์

คนพื้นเมืองบอกความรู้ต้องเป็นของทุกคน

ส่วนฝรั่งหวงเข็มทิศอันเป็นเทคโนโลยีที่เป็นผลผลิตของความรู้ทางวิทยาศาสตร์

แต่คำอธิบายของฝรั่งคือหวงเพราะห่วงการสูญพันธุ์ของความรู้พื้นเมืองเรื่องกระแสลมและดวงดาว

ถึงตอนนี้ Embrace มีทุกอย่างให้คนเรียนสังคมศาสตร์กรีดร้องด้วยความดีใจ เพราะพูดทุกอย่างที่เป็นวัตถุดิบของการพูดซ้ำแบบฟูโกต์เดียน (Foucauldian Clich?) ว่าความรู้คืออำนาจ การปะทะของความรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา การปะทะของความรู้แสดงถึงการปะทะของอำนาจที่มีได้ไม่รู้จบ ฯลฯ

แต่หากขุดคุ้ยต่อก็จพบว่าหนังเรื่องนี้มีอะไรมากกว่านั้น ถึงแม้ชื่อไทยว่า “จอมคนป่าอสรพิษ” จะชวนให้นึกถึงการผจญภัยไล่ล่าอนาคอนด้ากลางอเมซอนมากไปนิดก็ตาม

ขณะที่โครงเรื่องหลักของหนังพูดถึงผู้วิเศษพื้นเมืองนำทางนักสำรวจเข้าป่าลึกไปหาต้นไม้ที่คนพื้นเมืองมองเป็นต้นไม้วิเศษซึ่งฝรั่งประเมินเป็นพันธุ์พืชที่สารบางอย่างสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรม

ผู้กำกับฯ ก็เตือนคนดูอยู่ตลอดเวลาว่าการเดินทางเข้าป่าของตัวละครเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองถูกยึดครองถิ่นฐานและจับเป็นทาสเก็บน้ำยางโดยกลุ่มทุนยางด้วย

เพราะเหตุนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง “คนพื้นเมือง” กับคนผิวขาวในภาพยนตร์นี้จึงมีอยู่สองชั้น ชั้นแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับปัจเจกดังที่กล่าวไปแล้ว และชั้นที่สองคือความสัมพันธ์ทางสังคม

นักวิจารณ์ฝรั่งบางคนพูดถึงหนังเรื่องนี้ว่าแสดงให้เห็น “ประวัติศาสตร์บาดแผล” และความเจ็บปวดของชนพื้นเมืองในประเทศโคลัมเบียยุคอาณานิคม

แต่คำว่า “อาณานิคม” ชวนให้ผู้ชมเข้าใจภาพยนตร์เรื่องนี้ผิดไปได้มาก เพราะต้นธารของคำนี้คือ Colonialism มีนัยถึงการใช้กำลังกวาดต้อนผู้คนจากที่อื่นไปอยู่ใน “นิคม” เพื่อบังคับให้เป็นทาส

ขณะที่หนัง Embrace นำเสนอเฉพาะภาพแรงงานทาส แต่ไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับการกวาดต้อนหรือการจัดตั้งนิคม

พูดง่ายๆ “อาณานิคม” สำหรับหลายคนคือสภาพที่ญี่ปุ่นกวาดต้อนเชลยอเมริกา, อังกฤษ ฯลฯ เข้า “ค่ายกักกัน” เพื่อเป็นทาสสร้างทางรถไฟสายมรณะในสงครามโลกครั้งที่สอง

ส่วนหนังเรื่องนี้ไม่ได้เล่าว่าคนขาวทำกับคนพื้นเมืองแบบนี้ ไม่มีนักล่าเมืองขึ้นตัวเป็นๆ ให้เห็น มีแต่นักสำรวจผู้รักที่จะรู้เรื่องชนเผ่าและนักพฤกษศาสตร์ผู้ต้องการพืชพื้นเมือง

ร่องรอยความโหดเหี้ยมของนักล่าเมืองขึ้นที่ชัดที่สุดในหนังคือทาสแขนด้วน ขาหัก เบ้าตาถูกคว้าน กระทั่งสภาพราวผีป่า

แค่ฉากนี้ฉากเดียว ผู้ชมก็ปะติดปะต่อถึงทารุณกรรมของนายทาสต่อคนพื้นเมืองได้หมดจด

เสียงคร่ำครวญแกมคลุ้มคลั่งของทาสหลังพบว่าลูกหาบคณะสำรวจทำลายน้ำยางที่เก็บไว้หมดนั้นสะท้อนความหวาดกลัวโทษจากนายทาสจนไม่ต้องบรรยายอะไรอีก ต่อให้ไม่มีนายทาสให้เห็นในหนังก็ตาม

ในฉากถัดมา ทาสจะคุกเข่าร้องห่มร้องไห้ขอให้ใครก็ได้ฆ่าเขาที ลูกหาบเห็นด้วย ส่วนฝรั่งนักสำรวจและคาราคามาเต้ผู้วิเศษไม่เอา ลูกหาบยืนยันว่าต้องฆ่า เพราะไม่ควรมีใครถูกทรมานแบบทาสคนนี้ และเมื่อทุกคนล่องเรือจากจุดเกิดเหตุไปนิดเดียว เสียงปืนก็ดังขึ้น และผู้ชมก็พบว่านายทาสฆ่าคนพื้นเมืองแค่เพราะเก็บน้ำยางได้น้อยได้จริงๆ

ลูกหาบมังดุงก้าเป็นตัวละครที่ผู้ชมรู้เรื่องเขานิดเดียว แต่ในฉากนี้ ผู้ชมจะเห็นแผ่นหลังของเขาเต็มไปด้วยริ้วรอยถูกเฆี่ยนจากครั้งเป็นทาส, เห็นอาการจิตหลุดเมื่อประจันหน้ากับสวนยางที่เต็มไปด้วยหลุมศพคนพื้นเมืองนับสิบ, เห็นการไล่พังอุปกรณ์เก็บน้ำยางทั้งหมด, เห็นคำยืนกรานว่าต้องฆ่าคนกรีดยางพิการให้ได้ ฯลฯ

ซึ่งล้วนเป็นคำประกาศว่ามังดุงก้าคืออดีตทาสที่เคยถูกนายทาสปฏิบัติอย่างอำมหิตดุจเดียวกับคนกรีดยางที่อยากถูกฆ่าตาย

Embrace of the Serpent ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างนายทาสกับคนพื้นเมืองให้ผู้ชมรับรู้ถึงความอำมหิตโดยไม่ต้องมีนายทาสสักคนให้เห็น

ยิ่งกว่านั้นผู้ชมที่ช่างคิดจะปะติดปะต่อได้ว่าคนพื้นเมืองทั้งหมดล้วนเป็นเหยื่อของระบบทาสในทางใดทางหนึ่งทั้งนั้น

คาราคามาเต้มาจากเผ่าที่ถูกฆ่าจนแทบสูญพันธุ์

มาดุงก้าเป็นอดีตทาสที่ฝันร้ายจากการถูกทรมานตามหลอนไปตลอดชีวิต

ส่วนชนพื้นเมืองกลุ่มอื่นก็หนีตายจนมีสภาพราวสัตว์จรจัดในป่าลึกของอเมซอน (หน้า 36-37)