ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : La La Land แจ๊ซและวัฒนธรรม ปฏิกิริยายุคฟื้นฟูลัทธิคนขาวเป็นใหญ่

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สัปดาห์ที่แล้วได้กล่าวไปแล้วว่าแม้ La La Land จะเป็นภาพยนตร์ซึ่งเปลือกนอกหว่านล้อมให้ผู้ชมมองเห็นหนังเพลงของคู่รักซึ่งต่อสู้เพื่อความฝันด้านการแสดงและแจ๊ซ เนื้อในของหนังกลับเต็มไปด้วยการยกย่องพระเอกผิวขาวว่าเป็นผู้ปกป้อง “แจ๊ซที่แท้” ไม่ให้ถูกทำลายจากนักดนตรีผิวดำที่ทิ้งแจ๊ซไปหาฟิวชั่นและจบด้วยริธึ่มแอนด์บลูส์แบบมีแดนเซอร์ประกอบการแสดง

อย่างไรก็ดี หนึ่งปีก่อนที่ La La Land จะเล่าเรื่องคนขาวผู้รักแจ๊ซซึ่งกอบกู้แจ๊ซจากการถูกคนดำทำให้เสื่อมทราม

Don Cheadle ผู้โด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง Hotel Rwanda หยิบประวัติของ Miles Davis มาทำเป็นหนังเรื่อง Miles Ahead ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในแง่รายได้และคำชื่นชมเท่า La La Land

แต่หนังเรื่องนี้ไปไกลมากในแง่ดนตรีและการเล่าเรื่องแจ๊ซอย่างที่ควรเป็น

พูดสั้นๆ La La Land ใช้แจ๊ซเพื่อเชิดชูวีรกรรมของคนขาวผู้เป็นวีรชนปกป้องโลกจากความเสื่อมสลายของวัฒนธรรม

ขณะที่ Miles Ahead ใช้แจ๊ซเพื่อพูดถึงนักดนตรีแจ๊ซที่ทรงอิทธิพลที่สุดโดยไม่ฟูมฟายเรื่องความสูงส่งหรือตกต่ำของดนตรี

Miles Ahead เล่าเรื่องไมลส์กับนักข่าวนิตยสาร Rolling Stone ในเวลาสองวันซึ่งเป็นช่วงที่ชีวิตไมลส์เละที่สุด ไมลส์ในหนังคือคนดำติดยา โมโหร้าย ปิดฉากชีวิตคู่ด้วยการทำร้ายเมียตัวเอง ขึ้นเวทีและทำเพลงไม่ได้ 5 ปี อยู่ในสภาพอันธพาลตั้งแต่ต้นจนจบ และไม่มีอะไรสวยงามหรือแสดงความมุ่งมั่นในวิถีแจ๊ซแม้แต่นิดเดียวในการเล่าเรื่องแจ๊ซแมนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ผ่านมา

แม้ตัวหนังจะครอบคลุมเหตุการณ์เพียงสองวัน แต่ตัวผู้กำกับฯ ก็แม่นยำพอจะหยิบจับบทสัมภาษณ์ของไมลส์กับนิตยสาร Rolling Stone ที่มีจริงๆ ในปี 1969 มาเป็นประโยคในหนังซึ่งสะท้อนว่าไมลส์คิดอย่างไรกับดนตรีแจ๊ซยุคนั้นได้ดีที่สุด

นั่นคือไมลส์บอกว่าเขาเกลียดคำว่าแจ๊ซ คำคำนี้เป็นคำของคนขาว และเขาพอใจจะแทนคำนี้ด้วยคำว่า Social Music ถึงจุดที่เลิกใช้คำว่าแจ๊ซไปเลย

สำหรับไมลส์แล้ว Social Music คือดนตรีที่ใครจะทำอะไรก็ได้ รวมทั้งใครก็สามารถโยนทิ้งทุกอย่างที่ไม่ชอบไปได้ตลอดเวลา

และมุมมองของไมลส์เรื่องแจ๊ซซึ่งเขาเลือกจะเรียกมันว่า Social Music ทำให้นิตยสารฉบับนี้ยกย่องว่าสิ่งที่ไมลส์ทำกับแจ๊ซนั้นยิ่งใหญ่เท่าสิ่งที่ เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ ทำกับวรรณกรรมอเมริกา หรือปิกาสโซ่ทำกับศิลปะเลยทีเดียว

เราอาจพูดอีกแบบก็ได้ว่า Miles Ahead เป็นหนังของผู้กำกับฯ ผิวดำที่ทำเรื่องของนักดนตรีแจ๊ซที่สำคัญที่สุดโดยไม่มีอะไรดราม่า

แม้สิ่งที่ไมลส์ทำจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ดนตรีไปตลอดกาล นั่นก็คือไมลส์ทำให้แจ๊ซไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความสามารถในการควบคุมเครื่องดนตรี แต่แจ๊ซยังครอบคลุมถึงความสามารถริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะเปิดประตูไปสู่มุมมองต่อดนตรีแบบใหม่กว่าที่เป็นมา

ไม่ต้องแปลกใจว่าเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Miles Ahead จะทำโดย Robert Glasper ซึ่งตีความว่าไมลส์เป็นแรงบันดาลใจให้นักดนตรีสร้างงานศิลปะชนิดใหม่ๆ เพราะแจ๊ซคือการบันทึกยุคสมัย คือการแสดงให้เห็นว่าดนตรีไปถึงไหนแล้ว และเหนืออื่นใดคือการเขย่าทิศทางดนตรีและขนบของดนตรีตลอดเวลา

ในการทำเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ ตัวกลาสเปอร์ไปไกลถึงขั้นสร้างงานอีกชุดคือ Everything Beautiful ซึ่งเอาเพลงของไมลส์มาแยกเสียง, ตัดต่อ, รีมิกซ์ และทำใหม่แบบที่แทบไม่รู้ว่าเป็นไมลส์เลย ตัวอย่างเช่น Blue In Green ซึ่งเป็นเพลงลำดับสามในอัลบั้มสำคัญอย่าง Kind of Blue ถูกแยกออกมาแค่เสียงเปียโนของ Bill Evans แล้วแซมพลิงกับเสียงของแร็ปเปอร์ยุคปัจจุบัน

ใครที่รู้ประวัติศาสตร์แจ๊ซสักนิดนึงคงพอรู้ว่าวิธีที่กลาสเปอร์ทำกับ บิล อีแวนส์ ใน Blue in Green นั้นไม่ธรรมดา เพราะเพลงนี้มีปัญหาว่าใครเป็นผู้แต่งกันแน่ ไมลส์ระบุใน Kind of Blue ว่าเขาแต่งเพลงนี้ทั้งหมด

ส่วนบิลใน Portrait in Jazz ซึ่งออกหลังจากนั้นสามเดือนบอกว่าเพลงนี้แต่งร่วมกันทั้งคู่

ขณะที่ Earl Zindars นักแต่งเพลงชื่อดังบอกว่าเขาอยู่ด้วยตอนบิลเขียนเพลงนี้คนเดียว

กลาสเปอร์คิดอย่างไรในการเลือกเพลงนี้และแยกเสียงเปียโนของบิลมาทำเป็นเพลงใหม่ในอัลบั้มที่เขียนขึ้นเพื่อยกย่องไมลส์?

ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง La La Land หมกมุ่นกับมโนทัศน์หลงยุคเรื่อง Authenticity จนทำให้ภาพยนตร์เดินหน้าไปสู่การโจมตีว่าใครทำให้ดนตรีแจ๊ซเบี่ยงเบนจากความเป็นแจ๊ซที่แท้

เราอาจสรุปง่ายๆ ว่าสิ่งที่ไมลส์, ภาพยนตร์เรื่อง Miles Ahead และแจ๊ซของ โรเบิร์ต กลาสเปอร์ พยายามทำคือการบอกว่าแจ๊ซหมายถึงการ Let the Music Grow หรือปล่อยให้ดนตรีเติบโต

ท่ามกลางการทำหนังที่อัดแน่นไปด้วยการปลุกผีข้อถกเถียงเรื่องแจ๊ซจากกลุ่มนีโอบ๊อปยุค 80 ซึ่งต้องการดึงแจ๊ซกลับไปหาบลูส์, อะคูสติก และสะวิง สิ่งที่ La La Land จงใจทำให้ผู้ชมไม่เข้าใจคือความคิดแบบคีธเรื่องทำแจ๊ซให้เข้าถึงคนร่วมสมัยนั้นมีเหตุผลมากกว่ารายได้ในตลาด และไมลส์ซึ่งถูกกลุ่มนีโอบ๊อบมองเป็นศัตรูนั้นก็เดินออกจากแจ๊ซแบบ “ของแท้” ด้วยเหตุผลคล้ายกัน

รักษาการคณบดีคณะศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Ingrid Monson เคยพูดถึงไมลส์ไว้ในหนังสือเล่มสำคัญชื่อ Freedom Sounds ว่าการที่ไมลส์ออกจากแจ๊ซแบบ “ของแท้” เป็นภาพสะท้อนว่าการปฏิวัติด้านสิทธิพลเมืองมีต่อวงการดนตรี นั่นคือทำให้ไมลส์ให้กำเนิดแจ๊ซที่แสดงรากเหง้าแบบแอฟริกันเพื่อถักทอความเป็นชุมชนคนดำผ่านดนตรีคนดำขึ้นมา

แน่นอนว่าผู้ฟังและนักวิจารณ์จำนวนมากไม่พอใจเมื่อไมลส์ทำแจ๊ซที่เป็นฟังก์มากขึ้นและลดสะวิงกับอะคูสติกลง

แต่สารที่ไมลส์สื่อคือดนตรีแบบใหม่เป็นสัญลักษณ์ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงจนยุคใหม่ที่ต่างจากยุคเก่าได้กำเนิดขึ้นแล้ว

หัวใจของดนตรีแบบแอฟริกันคือเสียง ไม่ใช่คอร์ด และแจ๊ซแบบที่ไมลส์ต้องการสร้างขึ้นแจ๊ซที่เสียงและจังหวะเป็นแกนกลางกว่าที่ผ่านมา

Bitches Brew อัดแน่นด้วยกลองและเบสแบบที่แจ๊ซยุคก่อนไม่ทำแน่ๆ แต่นั่นคือวิธีที่ไมลส์บอกว่าแจ๊ซกับคนดำไม่ได้เป็นแค่เรื่องในอเมริกา เพราะแจ๊ซมีรากจากดนตรีแอฟริกัน เช่นเดียวกับคนดำที่มีบรรพบุรุษคือทาสซึ่งถูกกวาดต้อนจากแอฟริกาและแคริบเบียน

แจ๊ซของไมลส์จึงเตือนคนดำว่าอย่ามองประเด็นคนดำแค่ในประเทศ แต่ต้องมองให้ออกถึงความเป็นสากลของปัญหาคนดำ

เห็นได้ชัดว่าไมลส์มองการสร้างแจ๊ซเพื่อสร้างสำนึกของความเป็นคนดำเช่นเดียวกับการดึงแจ๊ซออกมาจากอิทธิพลของคนขาวในการตีความว่าแจ๊ซ – หรือแม้กระทั่งดนตรีที่ดี – คืออะไร?

ตรงข้ามกับข้อกล่าวหาของ La La Land ว่าคนดำทำให้ดนตรีแจ๊ซเสื่อมทรามจนคนขาวต้องกอบกู้แจ๊ซจากสภาวะวิกฤต ความเปลี่ยนแปลงของแจ๊ซยุค 1970 แยกไม่ออกจากการต่อสู้ทางการเมืองและวัฒนธรรมของคนผิวดำที่เกิดขึ้นในอเมริกาก่อนหน้านั้น เช่นเดียวกับที่ La La Land ก็แยกไม่ออกจากการครองอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมของคนขาวในอเมริกายุคปัจจุบัน

นักวิจารณ์วัฒนธรรมจำนวนไม่น้อยชี้ว่า La La Land เป็นภาพสะท้อนของการเชิดชูความเหนือกว่าของคนขาวโดยเหยียบย่ำคนดำ

แต่หนังไม่ได้มีปัญหาแค่ในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นคนดำ เพราะที่จริงหนังเต็มไปด้วยมุมมองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมซึ่งเป็นแก่นของการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในระดับวัฒนธรรมและสถาบันในอเมริกาเป็นเวลานับสิบปี

อย่าลืมว่าหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของตัวเอกในลอสแองเจลิสซึ่งมีประชากรสูงเป็นอันดับสองของอเมริกา ซ้ำยังเป็นเมืองที่คนสเปนและละตินมีสัดส่วนร้อยละ 47.5 ส่วนคนผิวขาวเป็นคนส่วนน้อย

แต่ตัวละครเอกกลับรังเกียจความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มาอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะการทนไม่ได้ที่ผับแจ๊ซกลายเป็นร้านอาหาร Samba-Tapas ที่ขายทั้งความเป็นบราซิลและสเปน

นอกจากฉากเปิดเรื่องที่เต็มไปด้วยผู้คนจากหลากเชื้อชาติหลายวัฒนธรรมและต่างรสนิยมที่อยู่ร่วมกันในไฮเวย์ของแอลเอ

หนังเรื่องนี้ไม่มีพื้นที่ให้กับวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของคนขาวแม้แต่นิดเดียว

นอกจากฉากเปิดเรื่องที่เต็มไปด้วยผู้คนจากหลากเชื้อชาติหลายวัฒนธรรมและต่างรสนิยมที่อยู่ร่วมกันในไฮเวย์ของแอลเอ หนังเรื่องนี้ไม่มีพื้นที่ในแง่บวกให้กับวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของคนขาวแม้แต่นิดเดียว

ความหมกมุ่นว่าคนดำทำลายดนตรีแจ๊ซลุกลามเป็นความกังวลว่าคนต่างวัฒนธรรมจะทำลายความเป็นลอสแองเจลิส ส่วนพระเอกคือผู้ปกป้องไม่ให้นครแห่งเทวดาถูกทำลาย

มองในแง่ร้ายที่สุด La La Land คือภาพยนตร์ว่าด้วยความกังวลของคนขาวว่าจะถูกคนดำและฮิสแปนิกเปลี่ยนความเป็นอเมริกันที่แท้ หนังจึงมีเนื้อในที่สะท้อนยุคสมัยแห่งลัทธิคนขาวเป็นใหญ่เพื่อทวงคืนอเมริกาจากความหลากหลายทุกอย่างในปัจจุบัน