นโยบายด้านอวกาศของสหรัฐ | วิกฤติศตวรรษที่ 21

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (28)

นโยบายด้านอวกาศของสหรัฐ

นโยบายด้านอวกาศของสหรัฐปรากฏเป็นรูปร่างครั้งแรกสมัยประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (ดำรงตำแหน่ง 1953-1961) ปรากฏในกฎหมายการบินและอวกาศแห่งชาติ 1958 เป็นปฏิกิริยาต่อเนื่องจากการที่สหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียมสปุตนิกขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรกในปี 1957

กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อก่อตั้งองค์การบริหารการบินและอวกาศหรือนาซ่าขึ้น ดำเนินการเคลื่อนไหวแข่งขันด้านอวกาศกับสหภาพโซเวียตในสงครามเย็น และยังได้กำหนดพื้นฐานหลักการ ท่าทีและเป้าประสงค์ของงานการบินและอวกาศสหรัฐไว้ด้วย กฎหมายฉบับนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง

หลักการ ท่าที และเป้าประสงค์พื้นฐานด้านอวกาศของสหรัฐสรุปได้ดังนี้ คือ

ก) เพื่อขยายความรู้ของมนุษย์ด้านการบินและอวกาศ ซึ่งนับว่าบรรลุผลค่อนข้างดี จนทุกวันนี้นาซ่าก็ยังคงเป็นแหล่งความรู้ใหญ่ด้านการบินและอวกาศของชาวอเมริกันและชาวโลก เป็นคุณูปการที่ควรระลึกถึง

ข) ส่งเสริมการใช้ความรู้และเทคโนโลยีนี้ในทางสันติ รวมทั้งทางธุรกิจและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนับว่าปฏิบัติได้ผลเช่นกัน สหรัฐได้อนุญาตให้สายการบินพลเรือนใช้ระบบดาวเทียมจีพีเอสของตนในปี 1983

ค) การรวมกับประเทศต่างๆ ในการพัฒนาด้านอวกาศ มีผลงานเด่นได้แก่ การทำสนธิสัญญาอวกาศ (1967 มีสมาชิกลงนาม 98 ประเทศ) ที่มีเจตนารมณ์ไม่ให้แปรอวกาศเป็นสมรภูมิ มีการติดอาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น ซึ่งใช้งานได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อการแข่งขันเข้มข้นขึ้น มหาอำนาจต่างถืออวกาศเป็นสมรภูมิ นอกจากนี้ได้แก่การสร้างสถานีอวกาศนานานาชาติ

ง) เพื่อการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีด้านการบินและอวกาศของโลก ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าสหรัฐยังคงเป็นผู้นำ แต่ในบางด้านรัสเซียและจีนขยับมาคู่คี่หรือนำหน้า

จ) เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งปฏิบัติได้ยากและมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จากการท้าทายและการคุกคามหนักขึ้นของรัสเซีย-จีน

ฉ) เพื่อสนับสนุนนโยบายต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งปฏิบัติได้ยากที่สุด เพราะว่าเป็นนโยบายที่ต้องการให้สหรัฐเป็นที่หนึ่งของโลกเสรีในช่วงสงครามเย็นและเป็นที่หนึ่งของโลกในช่วงหลังสงครามเย็น กล่าวได้ว่าช่วงขึ้นสูงและลงต่ำของเทคโนโลยีอวกาศสหรัฐ เกิดจากเหตุปัจจัยด้านนโยบายต่างประเทศสหรัฐเป็นสำคัญ

ยกตัวอย่างเช่น เดือนพฤษภาคม 1961 ประธานาธิบดีเคนเนดี้ (ดำรงตำแหน่ง 1961-1963) ประกาศว่าสหรัฐส่งมนุษย์อวกาศลงดวงจันทร์ภายในทศวรรษนี้

ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากสหภาพโซเวียตส่งมนุษย์อวกาศโคจรรอบโลกเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน 1961 และแผนปฏิบัติการ “อ่าวหมู” เพื่อล้มระบอบคาสโตรในคิวบา (เมษายน 1961) ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า จากนโยบายเพื่อรักษาความเป็นหนึ่งทางอวกาศ เกิดโครงการอพอลโล่ที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างรวดเร็ว

สหรัฐสามารถส่งมนุษย์อวกาศลงดวงจันทร์ปี 1969 สมัยประธานาธิบดีนิกสัน (ดำรงตำแหน่ง 1969-1974) ซึ่งถ้าหากสหรัฐมุ่งมั่นในงานด้านอวกาศก็จะสามารถส่งคนไปตั้งสถานีบนดวงจันทร์ และส่งมนุษย์ไปลงดาวอังคารในเวลาต่อมาไม่นานนักได้

แต่นิกสันยกเลิกโครงการอพอลโล่ และต้องการออกจากสงครามเวียดนามอย่างมีเกียรติ ที่มีราคาแพงมากเช่นกัน

หลังเลิกโครงการอพอลโล่ (1972) โครงการอวกาศสหรัฐก็เข้าสู่ขาลงอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากองค์การนาซาที่เคยใหญ่โต จ้างงานสูงสุดในปี 1965 รวม 420,000 ตำแหน่ง แต่ในปี 1971 ลดเหลือเพียง 114,000 คน

อย่างไรก็ตาม นิกสันก็ไม่ได้ทิ้งด้านอวกาศไป และส่งเสริมโครงการกระสวยอวกาศขึ้นมาแทนจนปฏิบัติงานได้ในปี 1981 แต่โครงการที่ประสบความสำเร็จนี้ก็ได้เลิกไปในปี 2011

ในช่วงดังกล่าวเห็นได้ว่างบประมาณด้านอวกาศของกระทรวงกลาโหมสหรัฐสูงขึ้น ใกล้กับของนาซ่าสมัยคาร์เตอร์ (ดำรงตำแหน่ง 1977-1981) เน้นความสำคัญของระบบอวกาศว่าสำคัญต่อการอยู่รอดของชาติ สร้างความคิดด้านสิทธิการป้องกันตนเองทางอวกาศ

สมัยประธานาธิบดีเรแกน (ดำรงตำแหน่ง 1981-1989) สนับสนุนการอวกาศเต็มที่ ในทางทหารสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธหรือ “โครงการสตาร์วอร์ส” ที่โด่งดัง เป็นการแข่งขันอาวุธครั้งใหญ่กับสหภาพโซเวียต

สมัยบุชผู้พ่อ (ดำรงตำแหน่ง 1989-1993) และสมัยคลินตัน (ดำรงตำแหน่ง 1993-2001) มีการสืบทอดโครงการอวกาศด้านทหารต่อแต่ไม่ได้ครึกโครมเท่า เนื่องจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และถูกค้านเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง กับทั้งมีนโยบายขยายอิทธิพลประชิดประเทศรัสเซียซึ่งมีค่าใช้จ่าย มีการลดงบประมาณทางทหารโดยทั่วไป รวมทั้งงานด้านอวกาศ

สมัยบุชผู้ลูกมีการฟื้นงบประมาณทางทหารใหม่ แต่เน้นหนักไปในด้านการจัดระเบียบมหาตะวันออกกลาง และการต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านการก่อการร้าย

อนึ่ง ในปี 1992 มีการประเมินโครงการอวกาศสหรัฐทั้งระบบ พบว่าธุรกิจด้านอวกาศของสหรัฐมีมูลค่าราว 5 พันล้านดอลลาร์ แต่มีมูลค่าเพียงร้อยละ 14 ของค่าใช้จ่ายทางด้านอวกาศของสหรัฐ แต่ก็เป็นสิ่งที่มีอนาคตไกล

ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา (ดำรงตำแหน่ง 2009-2017) ได้ให้ความสำคัญแก่ธุรกิจอวกาศชัดเจนมากที่สุด

เมื่อถึงสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ฝ่ายความมั่นคงสหรัฐเห็นพ้องกันว่าจีนและรัสเซียเป็นคู่แข่งหรืออริใหญ่ ไม่ใช่พวกผู้ก่อการข้ามชาติที่มีฐานะต่ำกว่ารัฐอีกต่อไป

นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธาธิบดีรัสเซีย กัย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ทรัมป์ประกาศตั้งกองกำลังอวกาศ จนกลบข่าวด้านการสร้างเศรษฐกิจอวกาศไป

ขณะที่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐยิ่งระส่ำระสาย เกิดความขัดแย้งหนักหน่วงภายในชนชั้นนำ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อโครงการอวกาศสหรัฐในระดับหนึ่ง

ยุทธศาสตร์ด้านอวกาศสามขั้นของจีน

ยุทธศาสตร์ด้านอวกาศของจีนดำเนินไปอย่างมีขั้นตอน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านนี้ในที่สุด

มีผู้วิเคราะห์ว่าจีนมียุทธศาสตร์ด้านอวกาศ 3 ขั้นด้วยกัน มีการดำเนินการอย่างทับซ้อนซึ่งจะเร่งอัตราการพัฒนาขึ้นอีก

ดังนี้

ยุทธศาสตร์ขั้นที่หนึ่ง

การสร้างระบบดาวเทียมนำทาง นั่นคือระบบดาวเทียมเป๋ยโต่ว แบ่งเป็น เป๋ยโต่ว-1 เป็นขั้นทดลองใช้งานอยู่ในจีน

เป๋ยโต่ว-2 เป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีขยายพื้นที่ใช้งานไปครอบคลุมถึงยุโรป ประกอบด้วยดาวเทียม 18 ดวง

เป๋ยโต่ว-3 ใช้งานทั่วโลก กะจะให้เสร็จสมบูรณ์ในปี 2020 ประกอบด้วยดาวเทียมทั้งหมด 35 ดวง (ขณะนี้มี 20 ดวง)

เอกสารทางการจีนระบุว่าระบบนำทางดังกล่าวเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ สามารถให้บริการระบุตำแหน่งและนำทางด้วยความแม่นยำสูง ในทุกเวลาและทุกสภาพอากาศแก่ผู้ใช้ทั่วโลก

นักวิชาการจีนบางคนอภิปรายในการสัมมนาว่า “บริการนำทางด้วยดาวเทียมแบบดั้งเดิมแทบจะไม่สามารถให้บริการภายในอาคาร ชั้นใต้ดิน ใต้บาดาล และสถานที่อื่นๆ ได้ แต่ระบบเป๋ยโต่วที่เราพัฒนาใหม่ จะช่วยบอกรายละเอียดสถานที่เหล่านี้ได้แม่นยำยิ่งขึ้น”

และบางคนกล่าวถึงประโยชน์ของระบบดาวเทียมนี้ว่า “ระบบเป๋ยโต่วจะมีบทบาทอย่างมากใน (การพัฒนา) เช่น เมืองอัจฉริยะ การเกษตร อุตุนิยมวิทยา ระบบการบินอัตโนมัติ และการขนส่งอัจฉริยะ” (ดูรายงานข่าวชื่อ ระบบดาวเทียม “เป๋ยโต่ว-3” ใน liuliantoday,com 06/06/2019)

การประเมินของสื่อด้านธุรกิจฉบับหนึ่งของญี่ปุ่น เห็นว่าจีนมีการพัฒนาด้านนี้ในระดับแซงหน้าสหรัฐได้ อย่างน้อยในบางด้าน ซึ่งมีผลสะเทือนสูงต่อทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคและความมั่นคงแห่งชาติ

บทความชี้ว่า จีนเพิ่งก้าวมาสู่วงการระบบดาวเทียมเมื่อปี 2000 นี้เอง ขณะที่สหรัฐสร้างระบบจีพีเอสใช้งานตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งให้บริการชี้ตำแหน่งบนโลกอย่างแม่นยำ ใช้ในหลายกิจการ

สำนักงานระบบดาวเทียมนำทางแห่งยุโรปประเมินว่า ธุรกิจด้านการสร้างอุปกรณ์และให้บริการข้อมูลตำแหน่งจะมีมูลค่าสูงถึง 180 พันล้านยูโร (199 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2020 มีส่วนสำคัญในด้านสร้างความสามารถในการแข่งขันของชาติ

และพบว่าในปี 2018 จีนส่งดาวเทียมนำทางสู่ระบบถึง 18 ดวง

เมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2019 จีนมีดาวเทียมในระบบนำทาง (เป๋ยโต่ว-2 และเป๋ยโต่ว-3) รวมกันถึง 35 ดวง มากกว่าระบบจีพีเอสของสหรัฐที่มี 31 ดวง (ระบบดาวเทียมนำทางของยุโรปมี 22 ดวง รัสเซีย 24 ดวง อินเดีย 6 ดวง ญี่ปุ่น 4 ดวง ใช้เฉพาะในประเทศ)

จากนี้ตามนครหลวงของประเทศต่างๆ 130 ประเทศใน 195 ประเทศ สามารถสังเกตเห็นระบบดาวเทียมเป๋ยโต่วของจีนมากกว่าระบบจีพีเอสของสหรัฐ

จีนอาศัยโครงการแถบและทางในการสนับสนุนการใช้และการพัฒนาระบบดาวเทียมอย่างมาก เช่น กองทัพปากีสถานใช้ระบบเป๋ยโต่วเพื่อเก็บข้อมูลตำแหน่ง

และในแทนซาเนียใช้ระบบนี้ในการพัฒนารถแทร็กเตอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง

ในตะวันออกกลางมีมากกว่า 30 ประเทศที่ใช้ระบบของจีน

ซึ่งถ้าแนวโน้มเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดการยอมรับระบบของจีนว่าเป็นมาตรฐานของประเทศตน ทำให้จีนได้เปรียบอย่างมากในการพัฒนาเทคโนโลยีและผลผลิตใหม่

ที่น่ากังวลเพิ่มขึ้นก็คือ บริษัทของจีนได้ใช้โอกาสนี้รุกคืบไปยังสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น

(ดูบทความของ Kazuhiro Kida และเพื่อน ชื่อ China”s version of GPS now has more satellites than US original ใน asia.niket.com 19/08/2019)

ยุทธศาสตร์ขั้นที่สอง

การสร้างสถานีอวกาศเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการสำรวจลึกเข้าไปในอวกาศ ช่วยให้มนุษย์สามารถอยู่ในอวกาศได้ยาวนานถึงถาวร

งานสำคัญของสถานีอวกาศขณะนี้ ได้แก่ การเป็นห้องทดลองอวกาศที่สามารถทำการทดลองหลายอย่างในภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วงที่ไม่สามารถทำได้บนโลกซึ่งมีแรงโน้มถ่วงสูง

ประโยชน์จากการวิจัยนี้จำนวนหนึ่งนำไปใช้ในชีวิตประจำวันบนโลก เช่น เครื่องออกกำลังที่ใช้ในอวกาศก็ปรับมาใช้บนโลก

สถานีอวกาศยังมีประโยชน์ในการทดลองผลกระทบของการอยู่ในภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วงเวลานานต่อมนุษย์ ทั้งทางกายภาพและจิต เพื่อช่วยให้มนุษย์อยู่อาศัยในอวกาศได้นานขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงยานอวกาศให้ทนทาน เดินทางไกล ลึกเข้าไปในอวกาศ

ทั้งนี้ ปรากฏว่าเทคโนโลยีด้านนี้ รัสเซียก้าวหน้ากว่าใคร สามารถส่งสถานีอวกาศซัลยุต-1 เป็นผลสำเร็จได้ตั้งแต่ปี 1971

หลังจากนั้นก็ส่งสถานีอวกาศอย่างต่อเนื่องจนถึงซัลยุต-7 ผลงานที่โดดเด่นได้แก่สถานีอวกาศมีร์ ที่ส่งขึ้นไปตั้งแต่ปี 1986 รวมน้ำหนักถึง 129 ตัน จนหมดอายุตกลงสู่โลกปี 2001 (โดยถูกบังคับให้ตกลงในพื้นที่ห่างไกล)

สหรัฐส่งสถานีอวกาศของตนชื่อสกายแล็บในปี 1973 ส่งลูกเรือไปประจำการ แต่เมื่อถึงปี 1979 ก็หมดอายุขัย ตกลงสู่พื้นโลก และก็ไม่ได้ส่งสถานีอวกาศของตนขึ้นไปอีกเลยจนกระทั่งมาร่วมมือกับรัสเซีย ญี่ปุ่นและยุโรป ส่งสถานีอวกาศนานาชาติขึ้นไปในปี 1998

สถานีอวกาศนานาชาติเป็นสถานีอวกาศที่ใหญ่ที่สุด มีลูกเรือประจำการยาวนานที่สุด รัสเซียเป็นผู้เริ่ม โดยส่งยานแกนในส่วนของตนขึ้นไปก่อนในปลายปี 1998

อีกสองสัปดาห์ต่อมาสหรัฐจึงได้ส่งยานส่วนของตนขึ้นไปต่อเชื่อม ชาติอื่นก็ปฏิบัติตามมา

ปัจจุบันสถานีอวกาศนานาชาติมีขนาดใหญ่เท่ากับบ้าน 5 ห้องนอน มีลูกเรือประจำการ 6 คน (มีคนประจำการบนสถานีนี้โดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้น) พร้อมกับรับแขกได้อีกจำนวนหนึ่ง โคจรด้วยความสูงราว 400 ก.ม. หมุนรอบโลกใน 90 นาที

สำหรับสถานีอวกาศของจีน จีนดำเนินการโดยลำพัง มีการร่วมมือกับหลายประเทศ เริ่มต้นมีขนาดไม่ใหญ่ และลูกเรือประจำการเป็นช่วงๆ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากสถานีอวกาศเทียนกง-1 (แปลว่าวิมานฟ้า) ส่งขึ้นในปี 2011 แม้มีปัญหาหลายอย่าง เช่น การบังคับยาน แต่ก็ใช้งานได้ตามคาด ปล่อยให้ตกสู่โลกแบบควบคุมไม่ได้ในปี 2018 ช่วงคาบเกี่ยวกันนั้นจีนส่งเทียนกง-2 ในปี 2016 มีน้ำหนัก 8.6 ตัน สามารถบังคับยานได้ดี มีลูกเรือไปประจำการเพื่อการทดลองต่างๆ จนกระทั่งหมดอายุขัย ตกสู่โลกอย่างมีการควบคุมในปี 2019

จีนเตรียมส่งสถานีอวกาศขึ้นอีก เริ่มจากการส่งหน่วยแกนขึ้นในปี 2020 และส่งยานต่อเชื่อมขึ้นในปี 2021 และ 2022 สถานีอวกาศจีนก็จะเชื่อมต่อกันสมบูรณ์ในปีนั้น อาจขยายให้มีน้ำหนักได้ถึง 180 ตัน โคจรที่ความสูงระหว่าง 340 ถึง 450 ก.ม. จากพื้นโลก อายุใช้งานอย่างน้อย 10 ปี หากว่าสถานีอวกาศนานาชาติหมดอายุ ตกลงสู่โลกในปี 2024 ตามคาด ก็จะเหลือเพียงสถานีอวกาศของจีนเพียงชาติเดียวในโลก

(ดูบทรายงานของ Matt Williams ชื่อ China”s Tiengong-2 was destroyed last week, burning up in the atmosphere over South Pacific Ocean ใน universetoday.com 23/07/2019)

ยุทธศาสตร์ขั้นที่สาม

การสำรวจลึกเข้าไปในอวกาศ

ในเฉพาะหน้า จีนขะมักเขม้นในการส่งคนลงดวงจันทร์ สร้างเขตเศรษฐกิจอวกาศ และส่งยานลงจอดบนดาวอังคาร

สหรัฐที่นำหน้าไปไกลก็จะไม่ยอมให้จีนขึ้นแซงง่ายๆ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการแข่งขันเศรษฐกิจอวกาศ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และสงครามเทคโนโลยีควอนตัม สหรัฐ-จีน