ศัลยา ประชาชาติ : เกาะติดเกมชิงเก้าอี้ CEO ปตท. ตัวเต็ง VS ตัวหลอก ขั้วไหนจะเข้าวิน

ประเด็นฮอตของธุรกิจพลังงานเวลานี้คงหนีไม่พ้นเรื่องว่า “ใคร” จะขึ้นมากุมบังเหียนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขับเคลื่อนบริษัทพลังงานแห่งชาติในยุคต่อไป

เมื่อ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) คนที่ 9 กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 (เกิด 13 พฤษภาคม 2503)

เพราะไม่เพียงทำหน้าที่ในการบริหารขับเคลื่อนองค์กรยักษ์ใหญ่ที่สุดของประเทศที่มีสินทรัพย์รวมกว่า 2.35 ล้านล้านบาท ซึ่งปีที่ผ่านมารายได้รวม 2.36 ล้านล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.19 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของชาติด้วย

กระบวนการสรรหาซีอีโอคนที่ 10 ของ ปตท. เริ่มต้นตั้งแต่เดือนที่ผ่านมาโดยมีการเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าชิงตำแหน่งเมื่อ 4-26 พฤศจิกายน 2562

และเมื่อ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการประกาศรายชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนที่ 10” ก็กลายเป็นประเด็นฮอตของทั้งที่ตึก ปตท. และเอ็นโก้ รวมไปถึงทำเนียบรัฐบาล ด้วยจำนวนผู้สมัครถึง 6 คน

ประกอบด้วย

 

1.นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC)

2. นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)

3. นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.

4. นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC)

5. นางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย ปตท.

6. นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR)

 

ผู้สมัครชิงเก้าอี้ CEO ปตท.รอบนี้เป็น “คนใน” ปตท.ทั้งหมด ต่างจากการชิงตำแหน่ง CEO คนที่ 9 มีผู้สมัครเป็นคนใน 3 คน (นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร-นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต-นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์)

ทำให้การแข่งขันค่อนข้างคึกคักมากกว่าครั้งที่ผ่านมา และยังเป็นเกมการแข่งขันภายใต้รัฐบาล (ผสม) ที่มาจากการเลือกตั้ง แตกต่างจากครั้งที่แล้วที่อยู่ในช่วงของรัฐบาลรัฐประหาร

ศึกชิงเก้าอี้ซีอีโอ ปตท.คนที่ 10 ครั้งนี้จึงเป็นที่จับตาว่ามีหลายขั้วการเมืองเข้าร่วมวัดพลัง

หากมองที่คุณสมบัติและประสบการณ์การทำงานจากผู้สมัครทั้ง 6 คนแล้ว หลายกระแสยืนยันว่าบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจภาพรวมธุรกิจของ ปตท.แบบรอบด้านน่าจะไม่หนี “วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” กับ “นพดล ปิ่นสุภา” ซึ่งน่าจะเป็น “แคนดิเดต” คู่สำคัญ

โดยเฉพาะชื่อของ “วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” เรียกว่าเป็น “ตัวเต็ง” ที่มีการกล่าวถึงมาโดยตลอด หลังจากที่พ่ายการสรรหารอบที่แล้ว (ชาญศิลป์) และหลายฝ่ายปักธงว่าจะเป็นซีอีโอคนต่อไปของ ปตท.

ด้วยประสบการณ์ความสามารถเข้าร่วมงานกับ ปตท.ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) จากนั้นก็ขยับจับงานธุรกิจต้นน้ำ นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และล่าสุดดำรงตำแหน่ง CEO บริษัทไทยออยล์

 

ขณะที่ “นพดล ปิ่นสุภา” ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้มีการพูดถึงมากนัก แต่ประสบการณ์ความสามารถก็ไม่เป็นรองใคร ผ่านการทำงานในธุรกิจหลักของ ปตท. ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงการปั้นธุรกิจไฟฟ้าภายใต้บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และล่าสุดนั่งตำแหน่งซีอีโอบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

รายงานข่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าตัวไม่สนใจที่จะเข้าร่วมเกมชิงเก้าอี้ซีอีโอ ปตท. แต่เมื่อมีชื่อ “นพดล” เข้าร่วมสังเวียนครั้งนี้ก็สร้างความประหลาดใจให้หลายฝ่าย

แหล่งข่าววงในระบุว่า เพราะมีผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญชักชวนและประกาศให้การสนับสนุนเพื่อที่จะให้เป็น “ตัวจริง” นั่งเก้าอี้ซีอีโอ ปตท.

ทำให้ “นพดล” ตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งซีอีโอครั้งนี้

 

นอกจากนี้ เมื่อปรากฏชื่อของ “จิราพร ขาวสวัสดิ์” ซีอีโอของ PTTOR ร่วมสมัครชิงชัยด้วยนั้นก็ทำให้การสรรหาครั้งนี้มีสีสันมากขึ้น

ถึงขั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็น “นารีขี่ม้าขาว” แม้ประสบการณ์การทำงานใน ปตท.จะยังไม่โชกโชนโดยเฉพาะธุรกิจต้นน้ำ แต่ช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็น “ผู้บริหารหญิง” ที่โดดเด่น โดยเฉพาะในจังหวะที่ ปตท.กำลังจะแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งมีการระบุว่าเป็นการ “ส่งประกวด” ของรองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ซึ่งในช่วงหลัง “จิราพร” ได้ร่วมงานใกล้ชิดกับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรองนายกฯ สมคิด

และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก “โครงการไทยเด็ด” ผ่านทางสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

 

สําหรับ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ซึ่งในการลงแข่งขันครั้งที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในแคนดิเดตตัวเต็ง แต่มาครั้งนี้ต้องยอมรับว่าค่อนข้าง “เงียบ” โดยที่ยังคงได้รับการสนับสนุนจากนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตซีอีโอ ปตท.

ส่วนนายชวลิต ทิพพาวนิช CEOGPSC การทำงานใน ปตท.อาจยังไม่ครอบคลุมเท่าผู้สมัครท่านอื่น เช่นเดียวกับนางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ ก็เติบโตมาในสายกฎหมายเป็นหลัก ทำให้หลายฝ่ายมองว่ายังไม่ใช่ตัวจริง

แต่ถ้าดูในแง่อายุงานที่เหลือ นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ปัจจุบันอายุ 57 ปี เช่นเดียวกับนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต และนายชวลิต ทิพพาวนิช ซึ่งหากได้รับเลือกเป็น CEO ปีหน้า ก็จะมีเวลาทำงานในตำหน่งอีก 2 ปีเศษ ขณะที่นายนพดล ปิ่นสุภา จะเหลืออายุงาน 4 ปี

ส่วน น.ส.เพียงพนอกับนายอรรถพลมีอายุงานเหลือมากที่สุดคือ 5 ปี

 

ขณะที่เวลานี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา CEO ปตท. ออกมา โดยนายชาญศิลป์ CEO คนปัจจุบันระบุว่ากรรมการสรรหาจะมาจากบอร์ด ปตท. ไม่มีคน นอกเพราะ “รู้จักผู้สมัครทุกคนดี”

ท่ามกลางการจับตามองว่า “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีต CEO ปตท. จะกลับเข้ามาเป็นบอร์ด ปตท.อีกครั้งหนึ่ง เพราะถือว่าเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่น่าจะมีอิทธิพลต่อการเลือก “ซีอีโอ ปตท.” คนใหม่

“หากนายไพรินทร์ถูกดึงกลับมาเป็นกรรมการ ปตท. คนที่นายไพรินทร์ให้การสนับสนุนก็จะมีน้ำหนักในการพิจารณาของผู้ใหญ่ในรัฐบาลชุดนี้ เพราะนายไพรินทร์ถือว่าเป็นสายตรงของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลจะฟังใคร” แหล่งข่าวให้ข้อสังเกต

เพราะปัจจัยชี้ขาดที่จะทำให้ 1 ใน 6 ผู้สมัคร CEO ปตท.ไปถึงฝั่งฝันได้คือ “ผู้ใหญ่” ในรัฐบาล แน่นอนว่า “รายชื่อว่าที่ CEO” จะต้องไม่พ้นสายตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะมอบความไว้วางใจในการบริหารกำกับความมั่นคงทางด้านธุรกิจพลังงานของประเทศให้กับ “ใคร”