ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | เทศมองไทย |
เผยแพร่ |
เห็นได้ชัดว่าการทำประชามติ ทำให้ความสนใจของโลกที่มีต่อเมืองไทยพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในห้วงเวลานานไม่น้อย อย่างน้อยก็นับตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วง “ปิดกรุงเทพฯ” และการรัฐประหารเมื่อสองปีก่อนละครับ
ความคิดเห็นจากต่างประเทศต่อการทำประชามติหนนี้มีให้อ่านมากมายต่อเนื่องนานร่วมสัปดาห์ หรืออาจจะกว่านั้น ทั้งก่อนหน้าและหลังทราบผล
อ่านกันจนตาเปียกตาแฉะ เพลิดเพลินเจริญใจบ้าง อึดอัดคับข้องบ้าง ตามประสามนุษย์ธรรมดา ที่กิเลสตัณหายังเกาะเนื้อเกาะตัวอยู่เป็นสามัญ
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ อ่านแล้วก็อดคิดใคร่ครวญ เหลียวหลังไปดูเมื่ออดีตที่ผ่านมาบ้าง เล็งแลไปข้างหน้ามองหาอนาคตที่ดูยังไม่เป็น “เอชดี” เหมือนกับคนอื่นเขาอยู่บ้างไม่ได้เหมือนกัน
สิ่งที่ผมพยายามตามหาอ่านหลังทราบผลประชามติ “อย่างไม่เป็นทางการ” ก็คือคำตอบของคำถามที่ว่า “ทำไม?” กับ “แล้วยังไงต่อ?” เพราะอยากรู้เหมือนอีกหลายคนนั่นแหละครับ เลยข้ามผ่านวาทกรรมประดิษฐ์ทำนอง “ประชาธิปไตยพิการ” หรืออะไรทำนองนั้นไปไม่น้อย
(แต่ถ้าเป็นนักการเมือง ผมอาจเก็บไว้ใช้ตอนหาเสียง-ฮา)
ผมจับจุดเริ่มต้นจากจุดหนึ่งที่บางคนอาจผ่านเลยไป นั่นคือ การประเมินของ “เรฟเฟอเรนดัม วอตช์ เน็ตเวิร์ก” เครือข่ายเฉพาะกิจเฝ้าระวังการลงประชามติ ที่บอกกับ อดัม แรมซีย์ แห่ง เดอะ การ์เดียน ไว้เมื่อ 7 สิงหาคม ว่า “ไม่พบความผิดปกติสำคัญ” ในการออกเสียงประชามติครั้งนี้
ทีนี้ ถ้าเรายอมรับกับการประเมินนี้ ซึ่งตีความได้ว่า เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่มาออกเสียง ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิทั้งหมด จะเอาอย่างนี้ เราก็ต้องถามต่อว่าทำไม?
วิชัย โจชิ กับ ณัฐนิชา ชูวิรัช แห่งเอพี นำเสนอรายงานออกมาในวันเดียวกัน ตอบคำถามที่ว่าทำไมเสียงโหวต “เยส” ถึงมากมายกว่าเอาไว้ ด้วยการชี้ให้เห็นความต่างระหว่างสถานการณ์ภายใต้รัฐบาล “ทหาร” ในเวลานี้กับความรุนแรงตามท้องถนนและความแตกแยกทางการเมืองที่เกิดขึ้นถี่ยิบในรัฐบาลก่อนๆ หน้านี้
เอพีบอกว่าเสถียรภาพที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันของหลายคนในเวลานี้ นั่นคือเหตุผลที่อธิบายได้ถึงการโหวต “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ถือเสมือนหนึ่งเป็นการ “ทดสอบ” ความนิยมในตัวรัฐบาลในเวลานี้
พูดง่ายๆ ก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่น้อยไม่อยากหาทางวนอ้อมหนีม็อบ หรือต้องมานั่งหาทางหนีทีไล่หลบระเบิดกันอีกแล้ว
อาจารย์โคทม อารียา แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล เสริมเรื่องนี้เอาไว้ว่า เนื้อหาในรัฐธรรมนูญพูดหลายอย่างเอาไว้แทนความกังวลใจและความวิตกที่คนไทยในเวลานี้มีอยู่ในหัว ตั้งแต่เรื่องยุติการคอร์รัปชั่นและหันกลับไปสู่ความสงบสุข เพื่อพัฒนาชาติบ้านเมือง
“ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญทำนองเดียวกับผมอาจวิพากษ์วิจารณ์ (รัฐธรรมนูญฉบับนี้) มากมาย แต่สารของเราก็เข้าไปไม่ถึงประชาชนเป็นจำนวนมาก” อาจารย์โคทม บอก
ความเห็นของ อาจารย์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกกับ อดัม แรมซีย์ แห่ง เดอะ การ์เดียน เอาไว้ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ ท่านบอกเอาไว้ว่า ผลประชามติของไทย เน้นหนักแน่นให้เห็น “เทรนด์” สำคัญประการหนึ่งซึ่งไม่ได้เกิดจำเพาะในเมืองไทยแต่กำลังดำเนินไปทั่วโลก
เทรนด์ที่ว่านั่นคือการ “ไม่เอาด้วย” กับ 3 อย่างคือ ไม่เอานักการเมือง, ไม่เอาการเมืองเรื่องเงินอย่างที่เรียกกันว่า มันนี่ โพลิติกส์ และไม่เอาคอร์รัปชั่น
แนวโน้มสำคัญที่ว่านี้คือผลสะท้อนของ “ความล้มเหลวของพรรคการเมืองแบบเก่า” ในการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้สนับสนุนพรรคกับการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ คสช. หยิบมา “ขาย” ใช้ประโยชน์จากความไม่พึงพอใจที่แพร่ไปในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ต่อ “ชนชั้นนักการเมือง” และชวนเชื่อให้เห็นภาพว่า นักการเมืองนั้น “คอร์รัปต์” และ คอร์รัปชั่นเป็น “รากเหง้า” ของปัญหาของประเทศ
ถัดมาก็คือคำถามว่า แล้วยังไงต่อ? อาจารย์โคทม เตือนแบบสุภาพนุ่มนวลตามแบบฉบับให้รับรู้กันไว้ว่า ความสงบสุขยามนี้นั้นเกิดจากการ “บังคับ” ของทหารนะ แล้วบอกต่อเป็นนัยๆ ว่า เสรีภาพในการแสดงออกต่อไปจะมีมากหรือน้อยก็ต้อง “รอดูกันต่อไป”
เหมือนรอดูใจสาวเจ้ายังไงยังงั้น
อาจารย์ฐิตินันท์ ตรงไปตรงมามากกว่าตามสไตล์ ชี้ให้เห็นว่า การรับร่างรัฐธรรมนูญหนนี้ก็เปลี่ยนเป็นการให้การ “ยอมรับ” ต่อรัฐบาลทหารได้ ทำให้รัฐบาลมีความชอบธรรมขึ้นมา “ในระดับหนึ่ง” และสามารถเดินหน้าตามแบบฉบับของตัวเองได้ “เต็มสตีม”
อันตรายมีไหม? มีครับ
“อันตรายตอนนี้จะอยู่ที่รัฐบาลจะมั่นใจในตัวเองมากเกินไป”
อาจารย์ฐิตินันท์บอกกับ เดอะ การ์เดียน เอาไว้อย่างนั้น
“มั่นใจตัวเองมากเกินไป” เมื่อพูดกันอย่างไม่เกรงใจก็คือ “หลงตัวเอง” นั่นแหละครับ!