เศรษฐกิจ / จับตาขุนพล ‘พาณิชย์’ ฝ่าสงครามค้าโลก งัดไม้เด็ดหนีคำว่า ‘ชวด’ พลิกฟื้นส่งออกปี ’63

เศรษฐกิจ

 

จับตาขุนพล ‘พาณิชย์’

ฝ่าสงครามค้าโลก

งัดไม้เด็ดหนีคำว่า ‘ชวด’

พลิกฟื้นส่งออกปี ’63

 

สงครามการค้าระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่ สหรัฐและจีน ส่งผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกทั่วโลก เกิดอาการชะงักในช่วงแรกและชะลอตัวลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็หนีไม่พ้นได้รับบาดเจ็บจากสงครามครั้งนี้ จะมากจะน้อยแตกต่างกันไป

สำหรับผลกระทบที่ไทยได้รับ สะท้อนออกมาจากการปรับลดคาดการณ์มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ทุกสำนักด้านเศรษฐกิจภาครัฐและภาคเอกชน หั่นลงๆ เรื่อยๆ จนเสียงส่วนใหญ่หั่นติดลบประมาณ 2.5-3.0% จากต้นปีทุกสำนักมองส่งออกในทิศทางบวก ก็ต้องผิดคาดไปตามๆ กัน

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขล่าสุดของมูลค่าการส่งออกของไทย ระบุว่า การส่งออกของไทยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 2.07 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบแล้ว 2.4%

หากยังคงมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 2 หมื่นกว่าล้านเหรียญสหรัฐ ก็ไม่น่าจะเป็นมูลค่าการส่งออกที่เพียงพอให้ตัวเลขเดือนที่เหลือพลิกลบเป็นบวกได้

มีสัญญาณสูงแล้วว่าด้วยมูลค่าการส่งออกที่ทำได้ในปีนี้ จะทำให้การส่งออกไทยตีกลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2558

 

มาดูปัจจัยต่อส่งออก ก่อนหมดสิ้นปีนี้ ยังมีเหตุการณ์สำคัญที่ไม่ดีต่อการส่งออกทั้งสิ้น

โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนว่า กลางเดือนธันวาคมนี้ ที่สหรัฐและจีนจะเปิดเจรจาข้อตกลงทางการค้าเลื่อนหรือไม่เลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันอีกกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซึ่งข้อตกลงการค้าเฟสแรก ยังมีความเสี่ยงกรณีการตัดสินใจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ต่อการลงนามอนุมัติกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งเป็นการออกกฎหมายสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วง

นั่นยอมสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีน หากสหรัฐเข้ามาแทรกแซงการเมืองในประเทศ!!

ดังนั้น ภาคการส่งออกปี 2562 ถือเป็นปีหมู เรียกได้ว่า “ไม่หมูเอาซะเลย”

มองข้ามไปปี 2563 หรือปีชวด (หนู) ภาคการส่งออกจะถูกเรียกว่า “ชวด (ผิดหวัง)” สมชื่อปีหรือไม่นั้น เริ่มมีเสียงที่แตกต่างกันบ้างแล้ว

แม้ส่วนใหญ่เมื่อขึ้นปีใหม่ก็ยอมมีความหวังใหม่ๆ ว่าอะไรๆ ก็จะดีขึ้น

ฝ่ายที่ว่า “ยังพอมีความหวัง” เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกอาจดีขึ้นและถึงจุดต่ำสุดแล้วเพราะที่ผ่านมาส่งออกชะลอตัวอย่างมากแล้ว น่าจะเป็นฐานต่ำ ผนวกกับผลดีจากการส่งออก ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแล้วได้ทยอยย้ายฐานการผลิตมาในไทย แผนเร่งการเปิดตลาดใหม่ คู่กับการขยายฐานในตลาดเดิม รวมทั้งการเร่งเจรจาทางการค้า และการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ

แต่อีกหลายฝ่ายก็มองว่าเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลานาน 2-3 ปี ว่าจะได้ทดแทนของที่เสียไปได้!!

ดังนั้น มุมมองของสำนักเศรษฐกิจต่างๆ จึงออกคาดว่ามูลค่าการส่งออก ปี 2563 มีโอกาสทรงตัว 0% หรือหากเป็นบวกได้ก็บวกได้เพียงเล็กน้อย 1%

 

มุมมองจาก “สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เห็นว่า เศรษฐกิจโลก ปี 2563 มีแนวโน้มดีขึ้น และเริ่มเห็นประเทศต่างๆ มีการอัดเงินเข้ามาในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะส่งผลดีต่อความต้องการบริโภคสินค้าทำให้เกิดการนำเข้าสินค้ามากขึ้นส่งผลดีต่อการส่งออกไทย และผลดีจากการย้ายฐานการผลิต คาดส่งออกขยายตัว 1.5%

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยจะกลับมาเติบโตสูงเป็นเรื่องท้าทาย เพราะการผลิตของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอยู่บนสายการผลิตใหม่ที่เน้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย อุปกรณ์ไอโอที

แต่การผลิตส่วนใหญ่ของไทยยังอยู่บนสายการผลิตเดิมๆ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

หากไทยสามารถเข้าไปอยู่ในสายการผลิตหรือซัพพลายเชนใหม่ การส่งออกได้ก็ยังมีโอกาส

 

ด้าน “กำพล อดิเรกสมบัติ” หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า มูลค่าการส่งออกปี 2563 มีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป คาดขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% ซึ่งการส่งออกยังได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย ได้แก่ สงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อาเซียน-5 และกลุ่มซีแอลเอ็มวีที่มีแนวโน้มชะลอตัว ความเสี่ยงสงครามการค้า และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจะส่งผลโดยตรงต่อรายได้ในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยได้

ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก “กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประมาณการมูลค่าการส่งออก ปี 2563 ทรงตัวและดีสุดขยายตัว 1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ 1 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 30.211 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมองกรอบบาทเคลื่อนไหว 30.16-30.40 บาท

และคาดว่าการส่งออกทุกกลุ่มสินค้าจะค่อยๆ ขยับตัวดีขึ้น อาทิ กลุ่มอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานพาหนะและกลุ่มพลังงาน เป็นต้น

 

พอพูดถึงเรื่องขับเคลื่อนส่งออกกันอย่างไรที่จะฝ่าวิกฤตไปได้ ทุกคนก็หันไปที่กระทรวงพาณิชย์ เพราะเหลืออีก 1 เดือนจะจบปีแล้วปีหน้าจะขับเคลื่อนกันอย่างไร จึงได้มีการเลื่อนการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ผนวกกับการประชุมวอร์รูม (War Room) ด้านการส่งออกระหว่างกระทรวงพาณิชย์ โดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั่งหัวโต๊ะประธานประชุมร่วมทีมพาณิชย์กับภาคเอกชน

“สนั่น อังอุบลกุล” รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนึ่งในตัวแทนภาคเอกชน สะท้อนให้ฟังว่า ภาคเอกชนหวังให้มูลค่าการส่งออกปี 2563 ดีกว่าปี 2562 ขยายตัวประมาณ 1.0% จากปีนี้ที่ติดลบเกิน 1%

พร้อมแสดงความกังวลเรื่องปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก จะยิ่งกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งในแง่การแข่งขันการส่งออกและการแปลงเงินรายได้จากการขายในรูปดอลลาร์สหรัฐกลับมาเป็นเงินบาท พร้อมคาดการณ์และผลกระทบจากสถานการณ์สงครามการค้าว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร

เพราะแม้สหรัฐและจีนกำลังจะมีการเจรจาการค้ากัน แต่มีสถานการณ์ในฮ่องกงเข้ามาเป็นแรงกดดันเพิ่มเติม อาจจะเข้ามากระทบการส่งออกเพิ่มเติมได้อีก พร้อมเสนอให้เร่งเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอต่างๆ ให้สัมฤทธิผล เพราะช่วยหนุนการส่งออกจากปกติได้มากขึ้น

ขณะที่แม่ทัพคุมภาคส่งออกภาครัฐ อย่างจุรินทร์ออกยืนยันว่าภารกิจเร่งรัดการส่งออกยังเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญ วางเป้าหมายให้ทุกคนทำเต็มที่ จะลบก็ให้น้อยที่สุด จะบวกก็ให้มากที่สุด

ซึ่งให้นโยบายกระทรวงพาณิชย์จะเป็นทัพหนุนให้เอกชน ผู้บริหารกระทรวงทุกคน ทูตพาณิชย์ ต้องทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนประเทศที่จะนำเสนอขายสินค้าของไทย เร่งเจรจาการค้าทวิภาคี เอฟทีเอ ทั้งไทย-สหภาพยุโรป ไทย-อังกฤษ ไทย-บังกลาเทศ ไทย-ศรีลังกา และไทย-ตุรกี ต้องเกิดขึ้นให้ได้ในปี 2563 ยิ่งดี จี้ทำเอฟทีเอเป็นรายรัฐหรือรายมณฑลสร้างตลาดการส่งออกและลดผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อในระยะยาว ซึ่งลึกๆ มองว่าเติบโต 3% ยังเป็นตัวเลขที่สวย!!

            แต่ที่น่ากังวลกว่าคือ เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ วุ่นวายจนอาจถึงขึ้นเปลี่ยนขุนพลกลางศึกสงครามการค้าระอุ จากหวังเห็นบวกอาจติดแหติดลบ 3% อีกปี!!