การศึกษา / เปิดปมร้าวศึก ‘กรุงเทพคริสเตียน’ กับดราม่า แต่งดำ Save BCC

การศึกษา

 

เปิดปมร้าวศึก ‘กรุงเทพคริสเตียน’

กับดราม่า แต่งดำ Save BCC

 

กลายเป็นดราม่ายาว สำหรับปมร้าวภายในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยที่เคลียร์กันไม่ลงตัว

ถึงขั้นนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) สั่งตั้งคณะกรรมการควบคุมเข้าบริหารโรงเรียนแทนมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย…

โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงของประเทศร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นนายเรวัต ฉ่ำเฉลิม อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ร่วมด้วยกรรมการอย่างนายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวันชัย ศิริชนะ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นายพรชัย มาตังคสมบัติ อดีตอธิบการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

เหตุผลหลักเพราะเห็นว่าเหตุการณ์ส่อจะบานปลาย กระทบกับคุณภาพการศึกษา

โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ประกาศสั่งหยุดเรียนในวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

ไล่เรียงเหตุการณ์ย้อนหลังกลับไป 4 เดือนก่อน คณะกรรมการบริหารโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ และสภาคริสตจักรในประเทศไทยสั่งพักงานนายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการ และให้นายวัชรพงษ์ อภิญญานุรังสี ผู้จัดการโรงเรียนพ้นจากหน้าที่ แต่งตั้งนายบรรจง ชมพูวงศ์ เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนและรักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียน

สาเหตุมาจากการใช้งบประมาณกว่า 70 ล้านบาทจัดซื้อโรงเรียนบึงกาฬพิทักษ์ศึกษาที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน และอดีตผู้จัดการโรงเรียนมองว่าการถูกพักงานและให้ออกจากตำแหน่งครั้งนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม

ขณะที่ศิษย์เก่ามองว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากสภาคริสตจักรในประเทศไทยเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการโรงเรียน เป็นสภาพ่อ-ลูก

เหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น เมื่อกลุ่มศิษย์เก่า ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนรวมตัวกันภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘Save BCC’ นัดแต่งดำประท้วง ขอคืนตำแหน่งให้นายศุภกิจและนายวัชรพงษ์ รวมถึงทบทวนการแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่ เพราะอาจไม่เป็นไปตามระเบียบ

กลุ่ม Save BCC ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยื่นหนังสือถึง สช. เสนอให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบปัญหาทุจริตของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง 5 เรื่อง ได้แก่

  1. คดีโรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี จังหวัดลำปาง
  2. คดีค่าคอมมิชชั่นบึงกาฬ
  3. คดีจัดซื้อเครื่องซักผ้าโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน
  4. คดีล้มประมูลแบบก่อสร้างโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

และ 5. คดีปล่อยเช่าที่ดินชะอำ 180 ล้านบาท

ส่วนตัวนายศุภกิจเองพยายามเรียกร้องให้มีมูลนิธิ ตั้งกรรมการที่เป็นกลางเข้ามาสอบสวนเรื่องดังกล่าว แต่ทางมูลนิธิกลับตั้งนายวิศาล มหชวโรจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ตัดสินใจออกคำสั่งปลดมาเป็นประธานสอบ

ทำให้เกิดข้อกังขาว่ามีการตั้งธงไว้แล้ว

 

โดยนายวิศาลชี้แจงว่า มาเป็นประธานสอบเรื่องดังกล่าวโดยตำแหน่ง ซึ่งคำสั่งไล่ออกและพักงาน เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ และยังมีอีกหลายเรื่องอยู่ระหว่างการสอบสวน ทั้งนี้ หลังมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการควบคุม ทางมูลนิธิเตรียมยื่นอุทธรณ์

ซึ่งสาเหตุที่สั่งหยุดเรียนในวันที่ 28 พฤศจิกายน เพราะมีข่าวว่ากลุ่มศิษย์เก่าเตรียมนำนักเรียนมาประท้วง แต่วันเดียวกันก็ยังมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งเข้ามาในโรงเรียน และมีคนของ สช.มาด้วย มีภาพทำลายห้องผู้อำนวยการโรงเรียน ขณะที่ สช.มีเอกสาร และเตรียมคนเป็นคณะกรรมการควบคุมพร้อม เหมือนเตรียมการกันไว้ก่อน ซึ่งผิดปกติ

ล่าสุดคณะกรรมการควบคุม ที่มีนายเรวัตเป็นประธาน ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ใช้เวลานานกว่า 7 ชั่วโมง เพื่อดูรายละเอียด สภาพปัญหา กำหนดกรอบแนวทางการทำงาน และการบริหารงานบุคคล โดยมีมติสำคัญให้ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของบุคคล และให้บุคคลพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่

ดังนี้

  1. นายยอด วิจักษณ์โยธิน พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียน และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการควบคุมมอบหมาย
  2. นางวราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและมาตรฐานคุณภาพ และให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียน
  3. นางชูชีวี ม่วงวิโรจน์ พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการ และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการควบคุมมอบหมาย
  4. นางจินตนา ปรีชาจารย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียน และให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการอีกหน้าที่หนึ่ง
  5. นายบรรจง ชมพูวงศ์ พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการควบคุมมอบหมาย
  6. นายสุรินทร์ อนุชิราชีวะ ให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการฝายบริการ และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการควบคุมมอบหมาย

รวมถึงตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการด้านบัญชี และคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและอรรถคดี

 

“คณะกรรมการควบคุมไม่กังวล เพราะได้เชิญบุคคลที่มีเกียรติและมีชื่อเสียงระดับประเทศมาช่วยกันดูแลแก้ปัญหา ตั้งใจว่าเรื่องนี้ต้องทำให้เร็ว ช้าไม่ได้ ส่วนที่มีผู้ระบุว่ามีการพานักเรียนออกมาประท้วงนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่การเอาเด็กมาเป็นตัวประกัน เด็กยุคนี้ทันสมัย ไม่ใช่ใครจะสั่งการได้ โดยเฉพาะเด็กกรุงเทพคริสเตียนฯ มีความเป็นผู้นำสูง การแสดงออกต่างๆ มาจากจิตสำนึก เชื่อว่าเมื่อมีคณะกรรมการควบคุมเข้ามาดูแลจะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น และคิดว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก” นายเรวัตกล่าว

ปิดท้ายด้วย นายศุภกิจ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ บอกว่า เห็นด้วยที่ให้โรงเรียนอยู่ในการควบคุมของ สช.

ส่วนตัวมีจุดยืนชัดเจน ไม่ได้ต้องการให้คณะกรรมการควบคุมมาช่วยให้พ้นผิด ขอแค่ให้ตรวจสอบอย่างเป็นกลาง เป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย แม้ผลจะออกมาว่าตนมีความผิดจริงก็พร้อมจะยอมรับ…

งานนี้ก็ไม่รู้ว่าใครผิดหรือถูกอย่างไร ต้องจับตาดูกันต่อไป

แต่ที่สำคัญ ขอให้ทุกฝ่ายนึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ

อย่าให้เรื่องผลประโยชน์มากระทบกับการเรียนของเด็ก