หนุ่มเมืองจันท์ | กระดาษหน้าที่ว่าง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อนผมไปบรรยายที่ ปตท.สผ.

ก่อนบรรยายมีโอกาสได้นั่งรับประทานอาหารกลางวันกับคุณพงศธร ทวีสิน หรือ “พี่ช้าง” ซีอีโอของ ปตท.สผ.

เพิ่งรู้ว่าท่านอ่านคอลัมน์นี้ประจำ

คุยกันหลายเรื่อง

มีช่วงหนึ่งเป็นเรื่องเบาๆ

คือเรื่องวัฒนธรรมองค์กร

“พี่ช้าง” เคยทำงานกับบริษัทต่างชาติมาก่อน เขาจึงติดวัฒนธรรมองค์กรหลายอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นกันตรงๆ

หรือวัฒนธรรมการดื่ม “กาแฟ”

ฝรั่งดื่มกาแฟเหมือนเป็นน้ำเปล่า

และกาแฟที่เขาดื่มจะจืดมาก ไม่เข้มข้นเหมือนที่คนไทยคุ้นเคย

ใครที่ไปต่างประเทศบ่อยๆ จะเข้าใจเลย

นอกจากนั้น เขายังคุ้นกับการมี “กาแฟ” หลังห้องประชุม

หรือที่แท่นขุดน้ำมัน เครื่องชงกาแฟถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

เชื่อไหมครับว่า ตอนที่เครื่องชงกาแฟราคาเป็นแสน

ที่แท่นขุดน้ำมัน เขามีเครื่องชงกาแฟประจำการ

วันไหนเครื่องชงกาแฟเสีย

บริษัทขุดเจาะน้ำมันจะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

ระดับ “วาระแห่งชาติ”

ต้องตามช่างซ่อมเครื่องชงกาแฟขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปซ่อมโดยด่วน

เพราะถือเป็นหนึ่งในการพักผ่อนไม่กี่อย่างของคนที่อยู่แท่น

ซึ่งมองไปทางไหนก็เห็นแค่ทะเลและท้องฟ้า

ไม่ได้ดื่มกาแฟสัก 2-3 วัน

เครียดตายเลย

“ความเคยชิน” ที่เกิดจาก “วัฒนธรรมองค์กร”

ใครที่อยู่นานๆ จะติดเป็นนิสัยโดยไม่รู้ตัว

อย่างผมที่เคยอยู่ “มติชน” มายาวนาน

สิ่งที่ติดตัวผมจนถึงวันนี้คือ เรื่อง “กระดาษ 2 หน้า”

ผมเป็นนักข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ในยุค “พิมพ์ดีด” ครับ

พิมพ์ก็ไม่เป็น

ต้องมาหัดพิมพ์ต๊อกๆ แต๊กๆ ตอนเขียนข่าว

มีเพื่อนผมคนหนึ่งชื่อ “นก” เธอเป็นคนพิมพ์ระบบสัมผัส

พิมพ์เร็วมากจนน่าอิจฉา

ผมมักแอบๆ ไปให้ “นก” ช่วยพิมพ์ข่าวให้

พี่ชลิต บ.ก.ประชาชาติธุรกิจจะคอยจับตามอง

เห็นเมื่อไรจะโดนโวยทุกครั้ง

เพราะเขารู้ว่าถ้าไม่ยอมลำบากลงมือพิมพ์เอง

กว่าจะพิมพ์คล่องจะใช้เวลานาน

สุดท้ายผมก็ต้องหัดพิมพ์ 2 นิ้วไปเรื่อยๆ จนคล่อง

แต่การพิมพ์ข่าวด้วยพิมพ์ดีดนั้น

ถ้าพิมพ์ผิด หรือจะรีไรต์ใหม่

เราต้องทิ้งกระดาษแผ่นเดิม แล้วพิมพ์ใหม่

ถ้าใช้ “กระดาษใหม่” จะเปลืองกระดาษมาก

ที่กองบรรณาธิการในยุคนั้นจะได้รับข่าวประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่างๆ เป็น “กระดาษ”

ด้านหน้าเป็นข้อความ

แต่ด้านหลังว่างเปล่า

เราจะมีตะกร้าใส่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์เก่าๆ

นักข่าวจะใช้ “หน้าหลัง” ของเอกสารที่ยังขาวสะอาดเป็นกระดาษพิมพ์ข่าว

กระดาษใหม่ๆ แทบไม่ได้ใช้เลย

ผมทำแบบนี้มายาวนาน

จนติดเป็น “นิสัย”ครับ

จนถึงวันนี้ผมทิ้งกระดาษเอกสารต่างๆ ยากมาก

ตราบใดที่ยังมีพื้นที่ว่างเปล่าด้านหลังอยู่

เสียดายครับ

รู้สึกว่ายังใช้งานได้อีก

และแปลกมากว่าทุกครั้งที่ใช้งาน “กระดาษใหม่”

ผมจะใช้อย่างระมัดระวัง

เขียนอะไรก็เรียบร้อย

จะ print ก็เสียดาย

ไม่เหมือนเขียนบนกระดาษที่ใช้ไปแล้วหน้าหนึ่ง

จะเขียนอะไรมั่วๆ ได้เต็มที่

ไม่ต้องระมัดระวังมาก

ความคิดดีๆ หลายเรื่องของผมมาจากกระดาษหน้าที่ 2

เขียนมั่วไปเรื่อยๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะเปลืองกระดาษ

เป็นบรรยากาศเหมือนอยู่กับคนที่คุ้นเคย

ไม่ต้องวางฟอร์มมาก

อยากพูดอะไร…พูด

อยากเขียนอะไร…เขียน

ครับ เวลาที่ใครมองเห็น “ความไร้ค่า” ของ “กระดาษ” ด้านที่ใช้งานแล้ว

ผมจะมองเห็น “สีขาว” ของ “กระดาษ” ที่ยังไม่ได้ใช้

โลกนี้มีหลายมุมให้มอง

“ชีวิต” ก็เช่นกัน

ทุกคนมีทั้งด้านดีและไม่ดี

อยู่ที่เราจะเลือกมองในมุมไหน

หลังคุยกับ “พี่ช้าง” จบ

ถึงเวลาต้องขึ้นบรรยาย

ตอนที่รับปากมาพูด ผมไม่รู้ว่าเป็นงานอะไร

พอเห็นโปรแกรมงานแล้วตกใจ

ปตท.สผ. เขาจัดงานชื่อ ENTERPRISEDAY 2019

งานใหญ่มาก

วิทยากรที่ขึ้นเวทีเป็นต่างชาติทั้งหมด ทั้งจาก GoogleCloud และบริษัทเกี่ยวกับดิจิตอล

มีผมเป็นคนไทยคนเดียว

และเป็นคนไทยที่อะนาล็อกมาก

ก่อนขึ้นเวที ผมแอบเข้าไปในห้องก่อน อยากรู้ว่าบรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง

คนฟังประมาณ 60-70 คน

เก้าอี้เกือบ 400 ตัว

จำได้ว่าน้องทีมงานบอกผมว่ามีคนลงทะเบียนฟังเต็มห้อง

ตามประสบการณ์ คนลงชื่อเท่าไรมักจะมาฟังจริงประมาณ 70%

ทำใจไว้ได้เลย

แต่ที่เห็นมันน้อยกว่า 70% อีก

ผมเริ่มคิดปรับวิธีเล่าเรื่องให้เข้ากับจำนวนคน

ช่วงก่อนขึ้นเวที มีการฉายวีทีอาร์ของบริษัท

คนเริ่มทยอยเข้ามาเรื่อยๆ

จนเกือบเต็มห้อง

ค่อยยังชั่ว…

ผมเริ่มต้นด้วยการบอกคนฟังว่า เพื่อให้เข้ากับวิทยากรที่บรรยายไปก่อนหน้านี้

“ผมขอบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ”

พูดเล่นครับ

จบการบรรยาย ผมลงจากเวทีด้วยความปลาบปลื้ม

แกล้งถาม “แพน” ผู้ช่วยของผมว่าทำไมคนเข้าฟังเยอะจัง

ถามทั้งที่รู้ว่าเธอก็ไม่รู้

กะว่าจะได้รับคำชมว่าพูดดี มีแฟนคลับเยอะ

แต่ “แพน” เป็นคนที่อยู่ในโลกของเหตุผล และความจริง

เธอคิดนึดนึง

“น่าจะเป็นเพราะทั้งงานมีช่วงนี้ช่วงเดียวที่คนไทยบรรยายค่ะ”

ครับ เหมือนดอกไม้บานเจอน้ำร้อนลวก

แม้ “ความจริง” จะเป็นสิ่งที่ดี

แต่บางทีเราก็ไม่ต้องการ “ความจริง” ทุกครั้งไป

…ใช่ไหมครับ