เกษียร เตชะพีระ | ดุษฎีนิพนธ์ที่เหมือน “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ที่มีเชิงอรรถ (1)

เกษียร เตชะพีระ

ดุษฎีนิพนธ์ที่เหมือน “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ที่มีเชิงอรรถ (1)

ช่วงกลางปีนี้ที่ผ่านมา ผมสบโอกาสดีได้รับเชิญจากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นประธานกรรมการอ่านตรวจดุษฎีนิพนธ์ (วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก) ของคุณอาสา คำภา นักวิจัยสังกัดสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ.2495-2535” ซึ่งมีศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก จนกระบวนการอ่านตรวจ จัดสอบ วิจารณ์เสนอแนะ และปรับแก้เพิ่มเติมเสร็จสิ้นเรียบร้อยลงเมื่อเดือนกรกฎาคมศกนี้

ในฐานะคนอ่านงานวิชาการ ผมรู้สึกทึ่งกับงานชิ้นนี้มาก

กล่าวได้ว่าไม่มีงานชิ้นไหนที่วิเคราะห์วิจัยการคลี่คลายขยายตัวของ “เครือข่ายในหลวง” (คำแปลของผมจากแนวคิด Network Monarchy ของศาสตราจารย์ Duncan McCargo ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยและเอเชียอาคเนย์แห่งมหาวิทยาลัย Leeds ประเทศอังกฤษ หรือที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ แปลว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย” http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.732.5946&rep=rep1&type=pdf)

โดยเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำไทยต่างๆ ในสังกัดกองทัพ, ตำรวจ, ข้าราชการพลเรือน, แวดวงธุรกิจ, พรรคการเมือง/นักการเมือง รวมไปถึงนักศึกษาปัญญาชนและคนชั้นกลางโดยรวม ในช่วงเวลายาวนานถึง 40 ปี ได้อย่างดี ลึก ละเอียด และกระจ่างขนาดนี้มาก่อน

ถือเป็นความพยายามทางวิชาการที่ทะเยอทะยานมากและทำออกมาได้ดีพอสมควรทีเดียว

เพราะทำให้ผู้อ่านได้ “เห็น” บทบาทฐานะสำคัญทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ – มิใช่แบบโดดๆ เดี่ยวๆ ปลอดบริบทแวดล้อมซึ่งเป็นภาพที่คับแคบคลุมเครือ

หากเป็นภาพของสายใยสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนกับกลุ่มชนชั้นนำอื่นๆ อย่างชัดเจน

การตามแกะรอยประวัติศาสตร์เครือข่ายในหลวงอย่างอุตสาหะพากเพียรและเฉียบคมนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยคุณอาสายึดกุมแนวคิดหลักจำนวนหนึ่งซึ่งสอดคล้องเข้าเรื่องกับเป้าแห่งการศึกษา ทำความเข้าใจมัน แล้วค้นข้อมูลมหาศาลมหัศจรรย์พันลึกมาเรียบเรียงเล่าเป็นเรื่อง โดยอาศัยแนวคิดเหล่านั้นเป็นตะแกรงร่อนจับข้อมูลมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน อีกทั้งวิเคราะห์แสดงเหตุปัจจัยหลักในการคลี่คลายเรื่องไป

ดังนั้น ก็ชวนให้อ่านสนุกและต่อเนื่อง อีกทั้งมีชื่อบุคคลเกี่ยวข้องเยอะแยะมากมายจนน่าจะทำบัญชีรายการ Who”s Who in the Thai Network Monarchy ประกอบเป็นภาคผนวกไว้ท้ายเล่มนั่นเทียว

อันที่จริงเผอิญผมได้เห็นงานของคุณอาสาชิ้นนี้ตั้งแต่ก่อหวอดตั้งไข่ในรูปรายงานวิชาการของกลุ่มนักศึกษาปริญญาโทที่น่าสนใจซึ่งอาจารย์สายชลชวนให้ผมไปอ่านคอมเมนต์ในงานสัมมนาที่สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อราวหกปีก่อน

ผมเอะใจว่ารายงานของคุณอาสาซึ่งทำเรื่องเครือข่ายในหลวงช่วงหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถึง 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ตอนนั้นโดดเด่นน่าสนใจ ผมได้เอ่ยชื่นชมและให้กำลังใจคุณอาสาไว้ในที่สัมมนา

ทว่าเมื่อเทียบกับผลงานสำเร็จรูปท้ายสุดเป็นดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ก็จะพบว่าผู้เขียนได้ขยายช่วงเวลาการศึกษาวิจัยเครือข่ายในหลวงยืดยาวออกไปอักโข

ทั้งย้อนหลังกลับไปถึงช่วงเครือข่ายฯ เริ่มก่อตัวขึ้นกลางพุทธทศวรรษ 2490 ภายใต้รัฐบาลนายกฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และเดินหน้าต่อไปถึงเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม พ.ศ.2535 สมัยที่เครือข่ายฯ แผ่ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามพระราชอำนาจนำซึ่งขึ้นสู่กระแสสูงในยุคที่นำไปสู่รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร

เมื่อเพื่อนอาจารย์ที่สนิทสนมกันทางเชียงใหม่ได้ยินกิตติศัพท์ของดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ก็ขอให้ผมลองช่วยสรุปสั้นๆ ให้ฟังว่างานชิ้นนี้เป็นอย่างไร? ผมหลุดปากตอบท่านไปว่า มันคือ “สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่มีเชิงอรรถ” นั่นเอง!

ในความหมายที่ว่า เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ – ปัญญาชนสยามอาวุโสแห่งซอยสันติภาพ บางรัก – นั้นเป็นเอตทัคคะผู้รอบรู้หยั่งลึกเรื่องราวในแวดวงเจ้านายขุนนางชั้นผู้ใหญ่และวงการพระสงฆ์อย่างพิสดารพันลึก ใครแวะเวียนไปหาสนทนากับท่าน ท่านก็มักจะบอกเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟังอย่างน่าทึ่งชวนตื่นตะลึง

อีกทั้งท่านยังอภิปรายความและเขียนหนังสือเรื่องดังกล่าวไว้มากมายหลายเล่ม ชั่วแต่ว่าปกติท่านไม่ถือธรรมเนียมวิชาการฝรั่งสมัยใหม่ ข้อเขียนและเรื่องเล่าของท่านจึงไม่บอกแจ้งแหล่งอ้างอิงกำกับไว้ ผู้ฟังผู้อ่านก็ได้แต่ฟังท่านเชื่อท่านนั้นแลเป็นแหล่งอ้างอิงสุดท้ายที่มีชีวิตพูดได้เดินได้

จนกระทั่งผมเคยได้ยินคำกล่าวขวัญกันว่าอาจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ แห่งกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยบ่นทำนองว่าปัญหาของการจะใช้งานอาจารย์สุลักษณ์ในทางวิชาการก็คือ ท่านไม่มีเชิงอรรถ ไม่รู้จะสืบค้นอ้างอิงต่อได้ยังไงนั่นเอง

แต่งานของคุณอาสาซึ่งบรรยายวิเคราะห์เครือข่ายสายสัมพันธ์ในหมู่เจ้านาย ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ตุลาการ นักธุรกิจ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนนักวิชาการ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หน่วยงานมูลนิธิ ฯลฯ เล่มนี้เป็นวิทยานิพนธ์ที่ย่อมต้องมีเชิงอรรถอ้างอิงเป็นธรรมดา

ดังปรากฏจำนวนเชิงอรรถในบทต่างๆ 13 บทของดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้รวมกันทั้งสิ้นถึง 1,398 เชิงอรรถ บรรณานุกรมซึ่งระบุรายการเอกสารหนังสืออ้างอิงที่ใช้ค้นคว้าประกอบยาวถึง 40 หน้า ในงานทั้งเล่มที่หนาถึง 731 หน้า

(นับเป็นวิทยานิพนธ์เล่มหนาที่สุดเท่าที่ผมเคยอ่านตรวจมาในวิชาชีพอาจารย์เลยทีเดียว ดูภาพประกอบ)

ภาพจาก VOICE

จากที่กล่าวมาข้างต้น ดุษฎีนิพนธ์ของคุณอาสาจึงเป็นงานที่สืบทอด ต่อยอด และพัฒนาบรรดางานวิชาการและแนวคิดวิเคราะห์สำคัญๆ ทั้งไทยและเทศเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยซึ่งปรากฏออกมาในช่วงสองทศวรรษสุดท้ายของรัชกาลก่อน

โดยข้อค้นพบและเนื้อหาข้อมูลจากการค้นคว้าวิจัยของงานชิ้นนี้ได้ประยุกต์ สังเคราะห์ ข้ามพ้น ไปลึกกว่า กว้างกว่า และทำให้เป็นเนื้อหนังรูปธรรม (apply-synthesize-transcend-deepen-extend-flesh out) ซึ่งงานและแนวคิดดังกล่าวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น :

o พระราชอำนาจนำ ของอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ (พ.ศ.2547)

o Network Monarchy ของ Duncan McCargo (พ.ศ.2548)

o Deep State ของ Eug?nie M?rieau (พ.ศ.2559)

o Parallel State ของ Paul Chambers & Napisa Waitoolkiat (พ.ศ.2559)

เป็นต้น