ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
ผู้เขียน | ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
เผยแพร่ |
คำว่า “คนเมือง” เป็นคำที่ใช้เรียกคนไทถิ่นล้านนา ตั้งแต่ เชียงใหม่ตลอดจนคนทางภาคเหนือ
ทำไมคนเหนือจึงเรียกตัวเองว่า “คนเมือง”
มีที่มาดังต่อไปนี้
เดเนียล แม็กกิลวารี เขียนหนังสือเรื่อง “กึ่งศตวรรษในหมู่ชาวสยามและชาวลาว” ในปี พ.ศ.2454 เรียกคนล้านนาว่าคนลาว เรียกภาษาล้านนาว่าภาษาลาว และเรียกดินแดนนี้ว่า ลาว
ส่วนหมอด็อดด์หรือนายวิลเลียม คลิฟตัน เขียนหนังสือชื่อ “ชนชาติไทย” ในปี พ.ศ.2466 ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานการเรียกชื่อคนกลุ่มไหนว่าคนเมืองในภาคเหนือ
สงวน โชติสุขรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญการปริวรรตอักขระล้านนาให้ความเห็นเมื่อปี พ.ศ.2516 ว่า คนเมืองหมายถึงคนที่อยู่ในเมือง มีวัฒนธรรม
ส่วน จิตร ภูมิศักดิ์ นักวิชาการที่เขียนหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ.2519 กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ไทเมืองที่มีระบุในตำนานและพงศาวดารต่างๆ เช่น ตำนานสุวรรณโคมคำ ที่สืบค้นได้เก่าที่สุดว่าเป็นบรรพบุรุษชาวไทประชากรหลักในภาคเหนือหรือดินแดนล้านนา มีเชื้อสายสัมพันธ์กับชาวไทเหนือ ไทใหญ่และไทลื้อในยูนนาน ได้อพยพเคลื่อนย้ายมาตั้งอาณาจักรเล็กๆ ซ้อนทับพื้นที่แคว้นสุวรรณโคมคำของกรอมหรือขอมโบราณ จนพัฒนาไปเป็นอาณาจักรโยนก หิรัญนครเงินยาง และอาณาจักรล้านนา
และจิตรกล่าวว่า คนเมือง เกิดขึ้นเพื่อเรียกตนเองเพื่อตอบโต้และเลี่ยงการถูกเหยียดหยามทั้งจากพม่าและสยาม
ตรงกับความเห็นของจันทรบูรณ์ สุทธิ (พ.ศ.2534) เสนอว่าคำเรียกตนเองนี้ต้องการให้ความชัดเจนว่าตนเองไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกับคนลาวฝั่งซ้าย
อันที่จริงแล้ว คำว่า คนเมือง ได้ถูกใช้เพื่อต่อสู้เชิงอัตลักษณ์กับรัฐสยามมาตั้งแต่ช่วงที่สยามส่งข้าหลวงเข้ามาควบคุม
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ผู้เชี่ยวชาญภาษาล้านนา กล่าวในหนังสือ “รำลึกเชียงใหม่ 700 ปี” เมื่อ พ.ศ.2540 ว่าไม่พบคำว่า “คนเมือง” ในเอกสารโบราณของล้านนา
สรัสวดี อ๋องสกุล ผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ล้านนาในปี พ.ศ.2529 ได้ยืนยันว่าคำว่า “คนเมือง” เพิ่งจะปรากฏเป็นครั้งแรก ในรายงานของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงพิเศษฝ่ายลาวเฉียง (ดูแลเมืองลำพูนและลำปาง ระหว่าง พ.ศ.2427-2428) สอดคล้องกับคำกล่าวของไกรศรี นิมมานเหมินท์ ที่ว่าคนไทยวนในภาคอื่นๆ ไม่รู้จักคำว่า คนเมือง และชาวไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ไทยองในล้านนาที่ผ่านมาช่วงร้อยกว่าปี ถือว่าตนเองเป็นคนเมืองทั้งสิ้น และไกรศรีเองก็เป็นผู้นำการสร้างหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับแรกของเชียงใหม่ที่ชื่อว่า “คนเมือง” ในปี พ.ศ.2496 และเป็นผู้รณรงค์วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีคนเมือง
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า คำว่า “คนเมือง” เป็นคำที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมาในสมัยหลังการปฏิรูปการปกครองจนสมัยรัชกาลที่ 5 มานี้เอง
คนเมืองมีเอกลักษณ์ที่น่าภูมิใจของตนเองที่ชัดเจนทั้งประวัติศาสตร์ จารีต วรรณกรรม ภาษา และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ
ธเนศวร์ เจริญเมือง มีความเห็นในทางเดียวกันถึงที่มาของคำว่า คนเมือง ดังเช่นที่กล่าวมาและยกตัวอย่าง
จรัล มโนเพ็ชร ผู้ล่วงลับ ถือเป็นตัวแทนคนเมืองยุคใหม่ที่โดดเด่นที่สังคมจดจำ (icon) มีศักดิ์ศรีน่าชื่นชม โดยกล่าวว่าสะท้อนถึงการรักท้องถิ่นเกิด ไม่กลัวใคร แสดงตัวตนอย่างมั่นใจ พูดคำเมืองแม้จะทำงานหรือแสดงงานอยู่ที่ไหน เป็นคนมีอุดมการณ์ที่ห่วงใยสังคม
งานและเพลงสะท้อนถึงความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมคนเมืองล้านนา
ตัวอย่างเพลง “รางวัลแด่คนช่างฝัน” สร้างภาพจดจำความเป็นปัญญาชนคนเมืองล้านนาที่รักวัฒนธรรมและถิ่นเกิดและมีทัศนคติที่ดี