ต่างประเทศอินโดจีน : 3 นาที บนเวทีโลก

เมื่อ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดการประชุม “โกลบอล ซัมมิต” ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of the Child-UNCRC) ที่สำนักงานใหญ่ของยูเอ็นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ในฐานะองค์กรรับผิดชอบเรื่องเด็กของยูเอ็น เชื้อเชิญแขกผู้มีเกียรติจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเด็กๆ รวมทั้งระดับผู้กำหนดนโยบายในระดับประเทศทั่วโลก

วันดังกล่าวตรงกับวันที่ยูเอ็นประกาศให้เป็น “วันเด็กโลก” หรือ “เวิร์ลด์ ชิลเดรน เดย์” พอดี

ดังนั้น ยูนิเซฟไม่ลืมเชื้อเชิญบรรดาเด็กๆ ที่เป็นตัวแทนของประเทศ ตัวแทนของภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกได้ “เมก แดร์ เคส” บนเวทีใหญ่ในระดับโลกครั้งนี้ด้วย

เด็กชาย-หญิง 9 คน ถูกคัดสรรให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ของตนต่อที่ประชุมใหญ่ “โกลบอล ซัมมิต” ครั้งนี้

คนที่อายุน้อยที่สุดคือ ดันเต้ อายุ 11 ปีจากประเทศชิลี กับเจน อายุ 11 ขวบเช่นกันจากนอร์ธ มาซิโดเนีย ที่อายุมากที่สุดก็มี 2 คน คือ โวโลดิมีร์ วัย 16 ปีจากยูเครน กับอมิลา จากบอสเนีย เฮอร์เซโกวินา

ที่เหลือคือ อมิรา อายุ 13 ปีจากแคเมอรูน เจด อายุเท่ากันจากสหรัฐอเมริกา และฮันส์ อายุ 14 ปีจากไอวอรี โคสต์ หรือโกตดิวัวร์

คนสุดท้ายเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชีย นิคการ์ ปานีพอน เด็กหญิงอายุเพียง 15 ปีจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

นิคการ์ในชุดประจำชาติ นุ่งซิ่น เสื้อแขนกระบอก พาดสไบเฉียง ใช้เวลา 3 นาทีบนเวทีมหึมา สะท้อนสิ่งที่พบและคิดว่าเป็นปัญหาออกมาอย่างแจ่มชัด คมคาย เป็นเหตุเป็นผล พร้อมข้อเรียกร้องต่อ “ผู้ใหญ่” ที่อาจได้ยินได้ฟังเธอในทั่วทุกมุมโลก

ด้วยน้ำเสียงมั่นคง ภาษาอังกฤษไหลลื่นไร้ที่ติ ด้วยท่วงท่าเชื่อมั่นเป็นธรรมชาติ สองตาทอประกายความคาดหวังและเด็ดเดี่ยว นิคการ์บอกเล่าแล้วตั้งคำถามต่อผู้ฟังไว้อย่างเฉียบแหลม

“ใน สปป.ลาว ในชุมชนที่ยากจนที่สุดของประเทศ จำนวนเด็กหญิงและชายที่ต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคันยังคงสูงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในหมู่เด็กหญิงทั้งหลาย

“เช่นนี้ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เยาวชนทั้งหลายของเราจะกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าของประเทศ?

“สิ่งที่ฉันร้องขอต่อพวกท่านทั้งมวลในวันนี้ก็คือ กรุณาดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยให้เราเหล่าเด็กๆ ได้รับการศึกษาเล่าเรียนที่มีคุณภาพ

“ฉันเป็นเพียงเด็กหญิงอายุ 15 ปี แต่ได้ให้สัญญากับตัวเองไว้แล้วว่า จะทำหน้าที่ส่งเสริมสิทธิในการศึกษาสำหรับเด็กๆ ทุกๆ คนในประเทศของตัวเอง

“ฉันอยากเห็นพวกเขาทุกคนอยู่ในโรงเรียน แต่งเครื่องแบบ ถือหนังสือและปากกาอยู่ในมือทั้งสอง เพื่อที่ว่าเด็กเหล่านั้นทุกคนสามารถไต่เต้าบรรลุถึงศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ ทำความใฝ่ฝันของตัวเองได้ลุล่วงและมีอนาคตที่สดใสในวันข้างหน้า”

นิคการ์ ปานีพอน หยุดเล็กน้อย ก่อนปิดคำร้องขอของเธอไว้ว่า

“ท่านผู้มีเกียรติที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายทั้งหลาย ได้โปรดกรุณารับฟังเสียงของพวกเราด้วย นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายและข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับพวกเรา

“เพื่อที่ว่าจะไม่มีเด็กๆ ถูกทิ้งไว้ข้างหลังแม้แต่เพียงรายเดียว”

 

นี่คือวิสัยทัศน์ โลกทัศน์ของเด็กรุ่นใหม่ วัยเยาว์ ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมวัฒนธรรมลาว ทำงานร่วมกับยูนิเซฟลาว เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กๆ ในกระบวนการตัดสินใจทั้งหลายในบ้านเกิด

นี่คือภาพสะท้อนการเติบโต กล้าแกร่งอย่างยิ่งทางความคิด พร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ผู้ใหญ่รุ่นก่อนหน้าทำเลอะเทอะแล้วทิ้งไว้ให้พวกเขา

เด็กหนุ่มสาวยุคใหม่ร่วมสมัยกับเกรตา ทุนเบิร์ก เด็กหญิงสวีดิช ที่ปลุกกระแสแก้ปัญหาโลกร้อนให้เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีผู้ใหญ่รายไหนทำได้ หรือเคยทำ ยุคของมาลาลา ยูซัฟไซ จากปากีสถานเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพอายุน้อยที่สุด

เยาว์วัยเหล่านี้กำลังก่อรูป สร้างสรรค์โลกของตัวเองเสียใหม่อยู่ทุกนาที วินาที ไม่ว่าผู้ใหญ่จะรับรู้ รับฟังและเข้าใจพวกเขาหรือไม่ก็ตาม