ฟ้า พูลวรลักษณ์ | ศีลธรรมของคนในศตวรรษที่ ๒๑ เหนือกว่า ศีลธรรมของคนในศตวรรษที่ ๒๐ ?

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก เล่มใหม่ (๕๕)

สังเกตว่า

๑ ศีลธรรมของคนในศตวรรษที่ ๒๑ เหนือกว่า

๒ ศีลธรรมของคนในศตวรรษที่ ๒๐

นี้คือความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เป็นไปอย่างช้าๆ แสดงว่ามนุษย์ก็มีพัฒนาการ สิ่งนี้ต้องถอยออกมามองดูจึงจะมองเห็น ต้องมองแบบกว้าง เรียกว่าเปรียบเทียบกับแบบศตวรรษต่อศตวรรษเลย

เราจะเห็นได้ชัดจากสามคอนเซ็ปต์

๑ การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม

๒ สิทธิมนุษยชน

๓ สิทธิของสิ่งมีชีวิตร่วมโลก

ยิ่งถอยห่างออก ยิ่งจืดจาง มันเพิ่งจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งเข้าศตวรรษที่ ๒๑ สามสิ่งนี้กลายเป็นศีลธรรมหลักของมนุษย์ แม้ว่าโลกของเราก็จะแย่ลงไปมาก ในแง่ของสภาพแวดล้อม เราจึงอาจจะเปลี่ยนช้าเกินไป แต่อย่างน้อย มนุษย์ก็มีศีลธรรมที่ดีขึ้น

นี้คือการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดด้วย และเป็นการเติบใหญ่ของมนุษย์

สามคอนเซ็ปต์นี้ น่าจะมีมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่จริง มันเพิ่งเกิดขึ้น แม้แต่ในศตวรรษที่ ๒๐ มนุษย์ยังล้าหลังกว่าวันนี้มากนัก

เรายังต้องเผชิญหน้ากับกองทัพนาซีและกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรายังต้องเจอการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่โหดร้ายที่สุด และฆ่ามนุษย์ได้มากที่สุด อีกทั้งหากคุณเกิดมาในต้นศตวรรษที่ยี่สิบ หรือแม้มาจนถึงกลางศตวรรษ หากคุณเป็นเกย์ คุณอาจติดคุก หรือชีวิตต้องหลบซ่อน อย่างที่โงหัวไม่ขึ้น ด้วยสังคมจะไร้ความปรานี หรือความเห็นใจใดๆ

มันค่อยๆ ดีขึ้นในปลายศตวรรษที่ยี่สิบ แต่ก็เพียงแค่เริ่มต้น มันเริ่มวางรากฐานจริงๆ ในศตวรรษที่ ๒๑ บุคคลในเพศที่สามได้รับการยอมรับมากขึ้น สามารถแต่งงานกัน มีสิทธิครบถ้วนในสังคม

ผู้คนเพิ่มคุณค่าให้แก่เด็ก ผู้หญิง และคนที่แปลกแยก เช่น คนแปลงเพศ หรือคนปัญญาอ่อน คนที่เป็นออทิสติก อย่างช้าๆ รวมกันทั้งหมดภายในกฎเกณฑ์เดียว คือเรื่องของสิทธิมนุษยชน

ในยุคนี้ การฆ่าหมู่หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็ยังมีอยู่ แต่ทว่าต้องแอบทำ มันจึงมีไม่มากเท่าแต่ก่อน เพราะสังคมโลกรับไม่ได้

การละเมิดสิทธิมนุษยชนเริ่มทวีความซีเรียสขึ้นเรื่อยๆ

กฎหมายห้ามร่วมเพศกับผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า ๑๘ กลายเป็นกฎหมายสำคัญ และมีโทษหนัก ถือว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ ฉันเห็นคนหลายคน บางคนเป็นคนมีชื่อเสียง มีฐานะ ต้องล่มสลาย ต้องติดคุก หรือหมดอนาคต เพราะทำความผิดนี้

มนุษย์แต่ละคนเริ่มมีคุณค่ามากขึ้น คือเราเป็นมนุษย์

ฉันรู้สึกขบขันกฎหมายของอังกฤษ เขาเข้มงวดเรื่องการห้ามร่วมเพศกับผู้หญิงอายุต่ำกว่า ๑๘ กระนั้นก็ยังมีข้อยกเว้น หากผู้ร่วมเพศนั้นเป็นเด็กผู้ชายวัยใกล้เคียงกัน ก็ถือว่าไม่ผิด ด้วยถือว่าเป็นเด็กทั้งคู่ การร่วมเพศจึงเกิดจากความอยากรู้ การจะไปห้ามความอยากรู้ของเด็ก ก็กลับกลายเป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรม

ที่จริงรายละเอียดเป็นอย่างไร ฉันจำไม่ได้ และกฎหมายเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พยายามหาข้อตกลงที่รับได้ และมีเมตตาธรรม แต่ก็พยายามให้โหดร้ายสูงสุดกับผู้ใหญ่ เพื่อกำจัดเฒ่าหัวงู คนบ้ากาม ที่จะมาพรากผู้เยาว์

ที่จริงกฎหมายเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่ทว่าโดยรวมคือ มนุษย์มีความตื่นตัวในสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องดี

ทุกชีวิตที่เกิดมาแล้ว ล้วนมีความศักดิ์สิทธิ์

ที่ใหม่ที่สุดคือข้อสาม

๓ สิทธิของสิ่งมีชีวิตบนโลก

บางคนอาจคิดว่า คนโบราณก็มีคอนเซ็ปต์นี้ เช่น ในพุทธศาสนา ก็มีเมตตาธรรมต่อสิ่งมีชีวิตอื่นในโลก แต่ความคิดในปัจจุบัน เรามองว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เป็นร่างแห ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ หากสิ่งหนึ่งดับ อีกสิ่งหนึ่งก็ดับด้วย นี้คือระบบนิเวศน์ที่ยิ่งใหญ่ เกินกว่าใครจะคาดคิดถึง

ผึ้งก็อาจกำหนดความเป็นตายของมนุษย์ได้ อย่าดูถูกว่ามันเป็นสัตว์ตัวเล็ก และธรรมดา

การตระหนักและตื่นรู้นี่เองที่ทำให้มนุษย์เริ่มเข้าใจแล้วว่า ทุกชีวิตบนโลกมีคุณค่า เราไม่มีสิทธิไปทำลายล้างพวกมัน หากทำ ก็เท่ากับว่าเรากำลังฆ่าตัวตาย นี้คือคอนเซ็ปต์ของสิทธิของสิ่งมีชีวิตบนโลก

มันลึกซึ้งกว่า กว้างใหญ่กว่า คอนเซ็ปต์เมตตาธรรมในศาสนา มันคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน นี้เองที่ศีลธรรมของคนในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเหนือกว่ายุคโบราณ คุณดีกับพวกมัน ไม่ใช่เพราะคุณดีกว่าหรือเหนือกว่า แต่เพราะเราเป็นหนึ่งเดียวกัน ทัดเทียมกัน

ที่ฉันพิศวงคือ เสียงคน เปลี่ยนด้วยหรือ ตามยุคสมัย

ในวูบแรก ฉันคิดว่าไร้สาระ เสียงคนจะเปลี่ยนได้อย่างไร การใช้ภาษาอาจจะแตกต่าง แต่เสียงล่ะ น่าจะเหมือนเดิม

แต่ฉันฟังเพลงของนักร้องสมัยก่อน เทียบกับนักร้องสมัยนี้ สิ่งที่ฉันได้ยินคือ เสียงของมนุษย์แตกต่างกัน เพราะอะไรหนอ

เสียงจากเครื่องดนตรีแตกต่าง อันนี้แน่นอน การอัดเสียงของยุคนี้ดีกว่าเดิม อันนี้แน่นอน การเรียบเรียงทำดนตรีแตกต่างก็ด้วย แต่กระนั้น ก็ยังมีความแตกต่างของเสียงอยู่ดี เสียงคนยุคก่อน ก็แค่สี่ห้าสิบปีก่อน ทำไมจึงแตกต่างกับคนในยุคนี้ พอฟังปุ๊บก็รู้ปั๊บเลยว่า นี้เป็นเสียงของคนยุคใหม่ นี้เป็นเสียงของคนยุคเก่า

หากเป็นจริงเช่นนั้น แสดงว่ามนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด แม้แต่เสียง

เสียงของคนยุคก่อน ซื่อกว่า อ่อนโยนกว่า เสียงของคนยุคใหม่จะสดใส มีพลังกว่า แต่ก็กระด้างกว่าด้วย มีรายละเอียดซับซ้อนมากมายในมิติของเสียง และฉันไม่ได้ว่าเสียงของใครดีกว่ากัน ที่ฉันพิศวงคือ ทำไมมันต่างกันด้วย

คิดถึงหนังพีเรียดญี่ปุ่นหลายเรื่อง ฉันรับไม่ได้เลย เพราะคนญี่ปุ่นที่แสดงในนั้น มีกิริยาท่าทาง การขยับตัว ที่แสดงชัดเจนว่าพวกเขาคือคนยุคใหม่ มันเบา มันพลิ้ว มันเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง มันเป็นชีวิตที่อิสระ ที่เคยตัว แต่ละคนเป็นคนที่ชอบทำอะไรตามใจตนเอง

แต่ทว่าในยุคโบราณ ยุคสมัยที่มีชนชั้น ผู้คนจะมีกิริยาที่แตกต่าง คนชนชั้นล่างจะหวาดกลัวคนชนชั้นสูง เหมือนหนูกลัวแมว พวกเขาจะนอบน้อม จะหวาดกลัว จะกระย่องกระแย่งเวลาเดิน จะเต็มไปด้วยความไม่เชื่อมั่นในตนเอง

นี้คือโลกยุคเก่า โลกที่มนุษย์ไม่ทัดเทียมกัน มองดูแค่กิริยาก็รู้

คนทำหนังพีเรียดแล้วไม่สนใจกิริยาท่าทางเหล่านี้เลย ฉันรู้สึกเคืองตา ไม่รู้ว่าคนสร้างต้องการอะไร

ที่จริงคนยุคใหม่หนึ่งคนที่เดินมา เขาจะแสดงตัวทันที ว่าเขา

๑ จะไปไหนก็ได้

๒ จะคุยกับใครก็ได้

๓ จะค้นหาข้อมูลอะไรก็ได้

นี้คือคนยุคใหม่ คนในศตวรรษที่ ๒๑