แมลงวันในไร่ส้ม /แว่วเสียงขู่ ‘ยุบสภา’ ‘เรือแป๊ะ’ ออกอาการ เผชิญคลื่น ‘ญัตติ ม.44’

แมลงวันในไร่ส้ม

แว่วเสียงขู่ ‘ยุบสภา’

‘เรือแป๊ะ’ ออกอาการ

เผชิญคลื่น ‘ญัตติ ม.44’

 

เปิดสมัยประชุมรัฐสภารอบนี้ รัฐนาวา “เรือเหล็ก” นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผชิญมรสุมหนักหน่วงหลายครั้ง

ทั้งกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ กมธ.ป.ป.ช. เรียก พล.อ.ประยุทธ์มาชี้แจงเรื่องการถวายสัตย์

จนเกิดกรณี กมธ.ในส่วนของพรรครัฐบาล เคลื่อนไหวจะปลดประธานคณะกรรมาธิการ คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

นอกจากนี้ ยังมีญัตติด่วนขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีปัญหาการชิงตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ว่าควรจะมาจากฝั่งรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

ก่อนจะถึงญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาได้พิจารณาญัตติด่วนตั้งคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการใช้มาตรา 44 เสนอโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ค้างมาจากสมัยประชุมที่แล้ว

หลังจากอภิปรายกันพอสมควร การลงมติมีขึ้นในสัปดาห์ต่อมา คือวันที่ 27 พฤศจิกายน นายปิยบุตรอภิปรายสรุปว่า หากมีการตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้ จะมาศึกษาว่า คำสั่งหรือประกาศ คสช.ฉบับใดดีก็จะเปลี่ยนมาเป็น พ.ร.บ. ส่วนคำสั่ง คสช.ใดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนควรยกเลิก หรือฉบับใดยกเลิกไปแล้ว แต่ผลร้ายยังดำรงอยู่ ก็ควรหามาตรการเยียวยาให้ผู้เสียหาย

แต่การที่ระบุว่า คำสั่งและประกาศ คสช.ยกเลิกไปแล้วหลายฉบับ เหลืออยู่เพียงไม่กี่ฉบับนั้น แม้ยกเลิกไปแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าปัญหาจะหมดไป เพราะผลพวงผลร้ายยังคงอยู่ เช่น การโยกย้ายหรือสั่งพักราชการ ที่สำคัญการตั้ง กมธ.ชุดนี้ เป็นการแก้ปัญหาวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล ต่อไปใครทำรัฐประหารจะย่ามใจ ทำแล้วก็นิรโทษกรรมตัวเอง ทำให้ประเทศไทยไม่พ้นจากวงจรอุบาทว์ มีรัฐประหารซ้ำซาก หากสภานิ่งเฉยจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน

ผลการลงมติด้วยการเสียบบัตร ฝ่ายค้านเฮลั่น เพราะข้อเสนอตั้ง กมธ.ของฝ่ายค้าน ชนะด้วยคะแนน 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 และไม่ลงคะแนน 1

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เสนอนับคะแนนใหม่ จนเกิดการประท้วงจากฝ่ายค้าน นายชวนยืนยันว่า เป็นสิทธิของสมาชิกที่ขอให้นับคะแนนใหม่ ตนไม่มีทางหลีกเลี่ยง ถ้าไม่ให้นับใหม่ตนก็ทำผิดข้อบังคับการประชุม

หลังจากพักประชุม เพื่อทำความเข้าใจกันใหม่ เมื่อกลับมาอีกครั้ง ฝ่ายค้านยืนยันไม่เห็นด้วยให้นับใหม่ เมื่อประธานพยายามจะดำเนินการต่อไป ฝ่ายค้านจึงพากันวอล์กเอาต์ เหลือ ส.ส.ในห้องประชุม 92 คน จากทั้งหมดเกือบ 500 คน จึงต้องสั่งปิดประชุมไป

การประชุมวันรุ่งขึ้น 28 พฤศจิกายน เริ่มต้นในภาคเช้า เมื่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภา จะให้ลงมติใหม่ ฝ่ายค้านท้วงว่า รัฐธรรมนูญใช้ถ้อยคำว่า “นับใหม่” ไม่ใช่ลงคะแนนใหม่ การลงคะแนนใหม่น่าจะมิชอบ ก่อนวอล์กเอาต์ ทำให้สภาล่มอีกครั้ง

การนับคะแนนใหม่ จึงยังค้างในวาระการประชุม และจะต้องไปดำเนินการต่อในการประชุมสภา นัดวันที่ 4 ธันวาคม

 

ภายหลังการประชุม มีข้อมูลสะพัดว่า เหตุที่รัฐบาลโหวตแพ้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน เนื่องจากมี ส.ส.พรรค ปชป. 6 คน ลงมติสวนวิปฝ่ายค้าน ที่ให้โหวตไม่ตั้ง กมธ.

ขณะที่นายชวนชี้แจงว่า การขอนับคะแนนใหม่เป็นสิทธิตามข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 85 เมื่อมีผลคะแนนห่างกันไม่เกิน 25 คะแนน ข้อบังคับกำหนดให้การนับคะแนนใหม่ต้องใช้วิธีการขานชื่อลงคะแนน บรรยากาศอย่างนี้มีทุกสมัย แต่นี่เป็นครั้งแรก ตอนพักการประชุมก็พยายามเจรจากันว่าจะจบลงด้วยดีอย่างไร แต่ก็ตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมถอนการขอให้นับคะแนนใหม่ อีกฝ่ายเลยเดินออกจากห้องประชุม ทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการข้อบังคับ

ภายหลังจากการแพ้โหวต บรรยากาศในพรรคร่วมรัฐบาลตึงเครียด ประกอบกับมีปัญหาเรื่องการยกเลิกสารพิษ 3 ชนิด ที่พรรคภูมิใจไทยผลักดัน แต่สุดท้ายมีการปรับเปลี่ยนมติ ยกเลิกการแบนและยืดเวลาบังคับใช้ออกไป

ทางแกนนำพรรคพลังประชารัฐจึงเตรียมจัดเลี้ยง ส.ส.พรรครัฐบาล ที่สโมสรราชพฤกษ์ในวันที่ 3 ธันวาคม เพื่อสร้างบรรยากาศของการร่วมไม้ร่วมมือกันใหม่

ขณะที่แวดวงพรรคร่วมรัฐบาลมีกระแสข่าวเรื่องยุบสภาสะพัดออกมา เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก ส.ส.พรรคต่างๆ

ในเรื่องนี้ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาแฉว่า จากปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล ทราบว่าพรรค พปชร.ขู่พรรคร่วมรัฐบาลทุกมิติ ถึงขั้นทวงสัญญาลูกผู้ชายจากพรรคร่วม ที่หนักสุด มีการสร้างกระแสข่าวลือจะยุบสภา

ข่าวลือหรือคำขู่ดังกล่าว ส่งผลอย่างไร ยังต้องรอดูจากเหตุการณ์ต่างๆ

โดยเฉพาะคือเกมการเมืองในสภา ที่ต้องจับตาได้แก่ การประชุมสภาวันที่ 4 ธันวาคม เพื่อนับคะแนนใหม่หรือลงมติใหม่ ในญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบการใช้มาตรา 44

ขณะที่ฝ่ายค้านเตรียมลากยาว โดยระบุว่า กฎหมายเขียนชัดเจนว่า “นับใหม่” ซึ่งแตกต่างจาก “ลงคะแนนใหม่”

เพื่อให้เกิดความชัดเจน อาจจะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ

ที่สำคัญ ถ้ารัฐบาลกับฝ่ายค้านยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ตกลงกันไม่ได้ในเรื่องผลการลงมติในญัตติตั้ง กมธ.ศึกษา มาตรา 44 อาจทำให้งานสภาชะงักได้

 

ครม.พล.อ.ประยุทธ์ หรือ “ประยุทธ์ 2” ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562

หลังจากมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในวันที่ 9 มิถุนายน

อายุของรัฐบาลยังไม่เต็ม 6 เดือน แต่สังคมจะเชื่อมโยงเข้ากับการทำงาน 5 ปีก่อนหน้านี้

จุดอ่อนของรัฐบาลที่แก้ไม่ตก คือ เสียงที่ปริ่มน้ำ ทำให้มีปัญหาในสภามาตลอด แม้จะมีข่าวการใช้บริการงูเห่าอยู่เป็นระยะก็ตาม

ล่าสุดถึงกับต้องงัดไพ่ยุบสภา มาปรามพรรคร่วมรัฐบาล

จะได้ผลหรือไม่ และแค่ไหน ต้องรอดูจากความพร้อมเพรียงในการประชุม การลงมติในสภา